คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: “คิม” กับ “มุน” และ “โดนัลด์ ทรัมป์”

(Korea Broadcasting System via AP)

ผมเขียนเรื่องนี้ขณะกำลังมองภาพการพบปะกันของ 2 ผู้นำเกาหลีในท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่น เต็มไปด้วยรอยยิ้มและถ้อยทีถ้อยอาศัย รวมไปถึงพิธีการเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ มากมายในการเจรจาสุดยอดที่ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้งระหว่าง คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือกับ มุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่หมู่บ้านปันมุนจอม หมู่บ้านเล็กๆ ในการควบคุมของฝ่ายใต้ ห่างจากเส้นขนานที่ 38 เส้นสมมุติที่ถูกยึดเป็นแนวปักปันเขตแดนระหว่างคู่สงครามเชื้่อชาติเดียวกันมานับตั้งแต่ มีความตกลงหยุดยิงเมื่อปี 1953 เรื่อยมา
บรรยากาศและภาษากายที่สะท้อนออกมาของผู้นำทั้งสอง ดีมากพอที่จะทำให้ผู้ใฝ่หาสันติภาพทั่วโลกยิ้มออกและเต็มไปด้วยความคาดหวัง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครรู้ผลลัพธ์การหารือครั้งนี้

ทุกคนตระหนักดีว่า วาระสำคัญนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น การหารือสุดยอดระหว่างคิมกับมุน ยังขึ้นอยู่อย่างมากกับผลการหารือสุดยอดที่เป็นประวัติศาสตร์อีกครั้งระหว่าง คิม จอง อึน กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้อีกด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน การหารือระหว่าง คิมกับทรัมป์ ก็จำเป็นต้องพึ่งพารากฐานของความสำเร็จจากปันมุนจอมซัมมิตอยู่มากด้วยเช่นกัน

การประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์กับคิมจะมีขึ้นหรือไม่ หรือมีแล้วจะส่งผลไปในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับผลการหารือระหว่าง คิม จอง อึน กับ มุน แจ อิน ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

Advertisement

ปัญหาประการหนึ่งของผู้ที่ติดตามการประชุมสุดยอดระหว่างสองเกาหลี และระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกา ก็คือ นอกเหนือจากการประกาศเจตจำนงว่าจะพบหารือซึ่งกันและกันแล้ว ส่วนอื่นๆ ที่เหลือยังไม่กระจ่างชัดทั้งหมด รวมทั้งเป้าหมายของการเจรจา ซึ่งทำให้ยากต่อการประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวของการเจรจาทั้งสองครั้ง

“ความสำเร็จ” จะปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมในรูปแบบใด ยังไม่มีใครบอกได้ด้วยซ้ำไป

นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ อิม จอง ซก หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หรือ บลูเฮาส์ ระบุเอาไว้ว่า การเจรจาครั้งนี้ แตกต่างไปจากการเจรจาสุดยอด 2 เกาหลีที่เคยมีแต่เดิม และยากกว่าทั้ง 2 ครั้งที่เคยมีมามากนัก

แม้ว่า ถึงที่สุดแล้ว ทุกคนจะยอมรับคำอธิบายของ มุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่เชื่อว่า การพลิกสถานการณ์จากการเผชิญหน้ามาเป็นมุ่งเจรจากัน ถือว่าประสบผลสำเร็จมากแล้ว

อย่างน้อยทั้งโลกก็ไม่อกสั่นขวัญแขวน เหมือนเมื่อตอนที่ทั้งสองฝ่ายแหย่เท้าข้างหนึ่งเข้าไปในสมรภูมิสงครามนิวเคลียร์แน่นอน

 

 

“มุน แจ อิน” นักการเมืองเสรีนิยมที่คุ้นเคยอย่างมากกับการใช้แนวทางสันติในการรับมือกับเกาหลีเหนือ เนื่องจากเป็นหนึ่งในแกนนำนักการเมืองเกาหลีใต้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “สถาปนิก” ผู้รังสรรค์นโยบาย “ซันไชน์ โพลิซี” ซึ่งประกาศใช้ในยุคประธานาธิบดี คิม แด จุง ผู้ล่วงลับ เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรูปแบบความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือในครั้งนี้

แม้ว่าในตอนแรกเริ่มต้องตกอยู่ในสภาพตกบันไดพลอยโจน เมื่อผู้นำสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือโยนระเบิด “วาทะกรรม” ใส่กันและกัน ที่ทำให้คาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดสูงสุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนก็ตาม

แต่เมื่อตั้งหลักได้ มุน แจ อิน ก็ใช้ทุกโอกาสที่ตกมาถึงมือขับเคลื่อนแนวทางการทูตและการเจรจา ซึ่งแสดงประสิทธิภาพออกมาได้อย่างน่าทึ่ง

พยองชางเกมส์ มหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์คือโอกาสสำคัญที่ว่านั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จในการเชื้อเชิญตัวแทนระดับสูงของเกาหลีเหนือมาร่วมพิธีเปิด ไม่เพียง คิม ยอง นัม ประธานสมัชชาประชาชนสูงสุด ซึ่งถือเป็นตำแหน่งผู้นำพิธีการของเกาหลีเหนือจะเดินทางมาเป็นหัวหน้าคณะเท่านั้น ยังมี คิม โย จอง น้องสาวผู้ทรงอิทธิพลของผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ เดินทางร่วมคณะมาพร้อมกับจดหมายเชื้อเชิญ มุน แจ อิน ให้พบหารือสุดยอดด้วยกันอีกต่างหาก

ในพิธีเปิดการแข่งขันพยองชางเกมส์ คณะนักกีฬาสองเกาหลีเดินพาเหรดสู่สนามร่วมกัน และยังมีทีมฮ็อกกีหญิงรวม 2 เกาหลีลงแข่งขันอีกด้วย

มุน แจ อิน สานต่อความสัมพันธ์ดังกล่าวด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีใต้เยือนเปียงยาง อันเป็นการเดินทางที่ถือว่าทำให้ประตูทางการทูตเปิดกว้างสำหรับการเจรจาสุดยอดขึ้นตามมา

ผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวกับคณะผู้แทนทางการเกาหลีใต้ชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า อาจบางที เกาหลีเหนือ คงไม่จำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ หาก “ความมั่นคงปลอดภัยของรัฐบาลเกาหลีเหนือได้รับการการันตี” และ “การคุกคามจากภายนอก” ถูกขจัดออกไป

คณะผู้แทนเกาหลีใต้ กลับมารายงานด้วยว่า คิม จอง อึน “เสนอที่จะพบเจรจากับทรัมป์ และยุติการทดลองอาวุธ” หากฝ่ายตรงข้ามเลือกที่จะใช้แนวทางทางการทูต

ที่เซอร์ไพรส์ไปทั่วโลกพอๆกันก็คือ ทรัมป์ กลับเล่นด้วย โดยการตอบรับคำเชิญพบหน้ากันดังกล่าวนั้น

(AP Photo/Pablo Martinez Monsivais)

สตีเฟน วอลท์ อาจารย์สอนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตเอาไว้น่าสนใจว่า ในกรณีปกติทั่วไป เมื่อผู้นำสองประเทศที่เคยแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน ตกลงที่จะพบหารือสุดยอดกัน นั่นหมายความว่า ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการทางการทูตกันมาถึงระดับที่เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายสามารถ วางกรอบ กำหนดแนวทาง เรื่อยไปจนถึงกำหนดส่วนของการเจรจาที่สามารถ “ตกลงกันได้” และระบุถึงหัวข้อที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายต้องตัดสินกันในการถกสุดยอดว่าจะตกลงกันหรือไม่ได้แล้ว
แต่กรณีของคิม กับ ทรัมป์ ไม่ใช่เช่นนั้น ไม่ใช่กรณีปกติทั่้วไปแบบผู้นำคนอื่นเขา

ผู้นำอย่าง คิม และ ทรัมป์ มีธรรมชาติของการ “ด้นสดๆ” อยู่มากพอๆ กัน ซึ่งนั่นทำให้ วอลท์ สรุปว่า ผลการหารือระหว่างทั้งสองฝ่ายสามารถปรากฏออกมาได้ในแทบทุกรูปแบบ ตั้งแต่เลวร้ายถึงที่สุด ไปจนถึงน่าแตกตื่นยินดีถึงขีดสุด ก็ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละฝ่ายในการเจรจาต้องการอะไร และยินยอมที่จะลดราวาศอกให้กันและกันได้มากน้อยแค่ไหน

ดังนั้น การทำความเข้าใจ “ให้ตรงกัน” ต่อสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต้องการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น เมื่อ คิม จอง อึน พูดถึง “การรับประกันความมั่นคงปลอดภัย” นั้น คิม หมายถึงอะไร อะไรกันแน่ที่สามารถทำให้เกาหลีเหนือรู้สึกได้ว่า “ปลอดภัย” และ “มั่นคง” มากพอที่จะยินดีเริ่มต้นกระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนได้

สิ่งหนึ่ง ซึ่งเกาหลีเหนือหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนมาโดยตลอด คือ การที่สหรัฐอเมริกายังคงส่งทหารอเมริกันถึง 30,000 นายเข้าไปประจำอยู่ในเกาหลีใต้ ไม่เพียง 30,000 นายดังกล่าวเท่านั้น ฐานทัพอเมริกันในเกาหลีใต้ยังถือว่าเป็นฐานทัพที่มีอาวุธหนัก “ครบเครื่อง” และ “ทันสมัย” ที่สุดเท่าที่มีอยู่ภายนอกสหรัฐอเมริกาด้วยอีกต่างหาก

การยกเลิกฐานทัพ ถอนทหารอเมริกันกลับประเทศ น่าจะเป็นการแสดงออกที่ค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยของรัฐบาลเกาหลีเหนือได้ไม่มากก็น้อย ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อมิตรประเทศของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร

เพราะการถอนทหารพร้อมอาวุธและระบบป้องกันขีปนาวุธทั้งหมดออกจากเกาหลีใต้ จะส่งผลกระทบต่อสมดุลทางด้านการทหารในภูมิภาคนี้อย่างรุนแรง และทำให้จีนกลายเป็นชาติที่มีอิทธิพลทางด้านการทหารในภูมิภาคสูงสุดไปโดยปริยาย

ในเวลาเดียวกัน ยังไม่มีใครแน่ใจได้ว่า เกาหลีเหนือ-ใต้ และสหรัฐอเมริกา เข้าใจคำว่า ทำให้คาบสมุทรเกาหลี “ปลอดนิวเคลียร์” ตรงกันหรือไม่

ภาวะ “ปลอดนิวเคลียร์” หมายถึงอะไร หมายถึงการมีนิวเคลียร์แต่ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ใช่หรือไม่ หรือหมายถึง การที่เกาหลีเหนือไม่เพียงจำเป็นต้องยุติการพัฒนานิวเคลียร์ทั้งหมด แต่ยังต้องเปิดเผยทุกอย่างและต้องยอมรับการตรวจสอบเป็นระยะๆ จากผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างประเทศ และดำเนินการตามขั้นตอนปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนออกจากประจำการจนหมดสิ้นหรือไม่

ถ้าเป็นในกรณีหลัง คิม จอง อึน ยินดีที่จะตอบรับข้อเสนอนี้ละหรือ?

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการเข้าใจข้อต่อรองให้ตรงกันแล้ว ยังมีประเด็นสำคัญว่าด้วยความ “ไว้วางใจ” ซึ่งกันและกัน ที่มีนัยสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันอยู่อีกด้วย

สหรัฐอเมริกา มีประวัติการเลิกล้มคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับอีกประเทศอื่นอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างที่ คิม จอง อึนยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างก็คือ กรณีลิเบีย ที่สุดท้ายก็ถูกอเมริกันโค่นล้ม ทั้งๆ ที่ยอมเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ตามที่อเมริกันต้องการแล้ว ตัว โดนัลด์ ทรัมป์ เองก็ยิ่งทำให้ภาพของการไม่รักษาสัญญาชัดเจนมากยิ่งขึ้นไปอีก ตั้งแต่เรื่องการรื้อความตกลงนาฟตา ไปจนถึงการเลิกล้ม ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) แต่เกาหลีเหนือก็ขึ้นชื่อไม่น้อยเช่นเดียวกันในการบิดการกระทำให้แตกต่างออกไปจากคำพูดที่ตกลงกันไว้ แทบกลายเป็นการตกลงไว้อย่างหนึ่ง แต่กลับไปทำอีกอย่างหนึ่งบ่อยครั้งเช่นเดียวกัน

ความตกลงปากเปล่า หรือแค่เพียงแถลงการณ์ร่วม จึงไม่น่าจะเพียงพอต่อการมีสันติที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี ต้องเป็นมากกว่านั้นและมีพันธะผูกพันมากกว่านั้นอีกมาก

 

 

ในแง่มุมทางการทูต ผู้นำหนุ่มวัย 33 ปีของเกาหลีเหนือถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ชนิดที่ไม่เคยมีผู้นำเกาหลีเหนือคนใดทำได้มากเท่านี้มาก่อน คิม จอง อึน สามารถทำให้ผู้นำประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา ตกลงพบเจรจาด้วยซึ่งๆ หน้า แบบตัวต่อตัว ภายใต้สถานะ “ผู้นำ” ที่เท่าเทียมกัน ในท่ามกลางการจับจ้องของสื่อมวลชนใหญ่น้อยจากทั่วโลก

และยิ่งถือเป็นความสำเร็จสูงยิ่งมากขึ้นไปอีก เมื่อสามารถทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ตกปากรับคำจะพบหน้าด้วย โดยที่ไม่ได้แสดงอาการยินยอม อ่อนข้อให้แต่อย่างใดทั้งสิ้น

เป็นความสำเร็จที่ แม้แต่ คิม อิล ซุง ผู้นำผู้ก่อตั้งประเทศ และ คิม จอง อิล ผู้เป็นบิดาผู้ล่วงลับของคิม จอง อึน ยังทำไม่ได้ และไม่เคยได้รับสิทธิพิเศษในระดับนี้

แทนที่จะยังคงเป็นผู้นำลึกลับ โดดเดี่ยว ที่มีพฤติกรรมประหลาด พิลึก ของประเทศที่แทบไม่มีประเทศอื่นใดคบหาด้วย การพบหารือกับ มุน แจ อิน และ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้ ผู้นำหนุ่มเกาหลีเหนือกลายเป็น “บุคคลที่มีนัยสำคัญระดับโลก” ขึ้นมาโดยฉับพลัน

ไม่ว่า คิม จอง อึน จะตัดสินใจดำเนินการครั้งนี้ด้วยเหตุผลจากการถูกบีบคั้นโดยการแซงก์ชั่นของนานาชาติตามมติของสหประชาชาติ หรือ ตัดสินใจด้วยความหวั่นเกรงว่าจะถูกโจมตีด้วยพลานุภาพที่เหนือกว่าของสหรัฐอเมริกาก็ตามที

แต่ก็สามารถยึดถือได้ว่า จนถึงขณะนี้ คิม จอง อึน ได้ชัยชนะในทางการทูตไปก่อนแล้วเต็มๆ

ปล่อยให้คู่กรณีอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามทำคะแนนตามให้ทันอยู่ในเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image