คอลัมน์ Think Tank: วิกฤตเศรษฐกิจอาร์เจนตินา

เมาริซิโอ มากรี ปธน.อาร์เจนตินา / AFP PHOTO / ARGENTINE PRESIDENCY / HO

อาร์เจนตินา ประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของละตินอเมริกา ประสบกับทั้งความรุ่งเรืองและความตกต่ำในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และมักจะเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลกเป็นประจำเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและนโยบายทางเศรษฐกิจที่สุ่มเสี่ยงในบางครั้ง โดยวิกฤตครั้งล่าสุดของประเทศคือค่าเงินที่ลดลง

ในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 อาร์เจนตินาถือเป็นชาติมหาอำนาจอันดับที่ 5 ของโลก ต้องขอบคุณการส่งออกด้านการเกษตร ในช่วงทศวรรษ 1950 อาร์เจนตินาเจริญรุ่งเรืองและเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นประเทศ

อุตสาหกรรม ชาวอาร์เจนไตน์ได้รับการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น มีการลาป่วยโดยจ่ายค่าแรงและมีบำเหน็จบำนาญที่ได้รับการสนับสนุนโดยสหภาพแรงงานที่ทรงพลัง

แต่หนี้สินของประเทศพุ่งสูงระหว่างอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการในปี 1976-1983 จากการใช้จ่ายไปกับอุปกรณ์ด้านการทหาร จากนั้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 เพื่อที่จะปกป้องอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเปโซกับดอลลาร์ให้เท่ากัน ท้ายที่สุดนโยบายดังกล่าวนำมาสู่การที่อาร์เจนตินาต้องผิดนัดชำระหนี้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2001

Advertisement

รัฐบาลของประธานาธิบดีเนสเตอร์ เคิร์ชเนอร์ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเมื่อปี 2003 ได้รับผลประโยชน์จากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น โดยอาร์เจนตินาเป็นผู้ส่งออกแป้งและน้ำมันสำหรับทำอาหารที่ผลิตจากถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดของโลกและสามารถชำระหนี้ได้อย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์

เคิร์ชเนอร์และกรีสตินา ภรรยาของเขาที่ปกครองประเทศต่อมาจนถึงปี 2015 ได้นำนโยบายกีดกันทางการค้าและแนวทางซ้ายมาใช้ นั่นคือการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน จำกัดการส่งออก เพิ่มเงินรายจ่ายภาครัฐและการแปรรูปกิจการเอกชนเป็นของรัฐซึ่งรวมถึงบริษัทน้ำมันวายพีเอสที่เรปซอลของสเปนเป็นเจ้าของ

เมาริซิโอ มากรี นักธุรกิจแนวทางกลางขวาที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2015 รับมรดกมาเป็นเศรษฐกิจที่เปราะบาง เขาล้มเลิกการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ตกลงชำระหนี้ที่เหลืออยู่กับบรรดา “กองทุนเหยี่ยว” ของสหรัฐและตัดเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันของรัฐซึ่งส่งผลให้เกิดความ ไม่พอใจในสังคม

Advertisement

มากรียึดมั่นกับกระบวนการที่เขาระบุว่าเป็น “การทำเศรษฐกิจให้เป็นปกติ” โดยให้สัญญาถึงวันเวลาที่ดีกว่าในภายภาคหน้าสำหรับชาวอาร์เจนไตน์แต่ล้มเหลวที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อและพลังอำนาจในการใช้จ่ายยังลดลงด้วย

ประธานาธิบดีอาร์เจนตินาเลือกที่จะปฏิรูปอย่างก้าวหน้าในขณะที่ประชาชนชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะรับมาตรการซึ่งเจ็บปวดมากขึ้นแต่ส่งผลลัพท์ให้เห็นเร็วกว่าเดิม

ที่ผ่านมางบประมาณขาดดุลของอาร์เจนตินาอยู่ในระดับสูงก่อให้เกิดเงินเฟ้อ รัฐบาลของเคิร์ชเนอร์ใช้วิธีการลดการขาดดุลด้วยการพิมพ์เงินออกมาเพิ่ม ในขณะที่ฝ่ายบริหารของมากรีลดการขาดดุลจาก 6 ลงเหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งด้วยวิธีการจำกัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ มากรีเสนอให้มีการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนด้านพลังงาน แต่บริษัทต่างชาติหลายแห่งลังเลที่จะลงทุนในประเทศที่มูลค่าเงินลงทุนอาจลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

ความท้าทายในระยะสั้นตอนนี้คือยุติวิกฤตค่าเงินเปโซเพื่อสร้างเสถียรภาพและหาวิธีการบรรลุข้อตกลงที่สมดุลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image