รุมถาม ปัญหาน้ำมัน แพงเพราะอะไร

น้ำมันได้ชื่อว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดหนึ่ง นั่นหมายถึงเป็นสินค้าที่ต้องอุปโภคบริโภคกันเป็นประจำ ทำให้การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันเป็นเรื่องที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง เพราะรู้สึกกันได้ทันที

ราคาลดลง เงินในกระเป๋าของเราเพิ่มขึ้นทันทีเท่ากับที่ลด พอถึงตอนราคาปรับสูงขึ้น เงินในกระเป๋าก็หายไปทันทีเห็นๆ กันจะๆ

ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมักปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันเสมอ เนื่องจากเป็นพลังงานที่มีแหล่งที่มาแหล่งเดียวกัน แม้รูปแบบจะแตกต่างและกระบวนการผลิตจะไม่เหมือนกันอยู่บ้างก็ตาม

ประเทศไทยเราใช้ระบบราคาน้ำมันแบบลอยตัว อิงอยู่กับราคาตลาดโลก ข้อดีของระบบนี้ก็คือ เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่ำลงราคาในไทยก็ลดตามไปด้วยในเวลาไม่ช้าไม่นาน

Advertisement

แต่ถ้าน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันในประเทศก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้

ถึงตอนนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 และเป็นการปรับขึ้นเร็วทีเดียว เพราะนับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงขณะนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น 20-30% แล้ว

การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่โดยรวมแล้วแยกได้เป็น 2 ด้าน คือด้านอุปทาน หรือปริมาณน้ำมันดิบในตลาดประการหนึ่ง กับด้านอุปสงค์ หรือความต้องการใช้น้ำมันอีกทางหนึ่ง

Advertisement

ในเชิงอุปทาน นั่นคือถ้าหากปริมาณน้ำมันดิบในตลาดมีน้อย ก็ต้องแย่งกันซื้อส่งผลให้ราคาปรับขึ้นโดยธรรมชาติ ส่วนสาเหตุจากด้านอุปสงค์ก็เช่น เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดเติบโตขยายตัวขึ้นพร้อมๆ กัน มีความต้องการซื้อหาสินค้ากันมากขึ้น โรงงานผลิตสินค้าก็ต้องเพิ่มการผลิตให้มากขึ้นทำให้ต้องใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น เมื่อความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงมากกว่าปริมาณน้ำมันที่มีอยู่ในตลาด ก็ผลักดันให้ราคาสูงขึ้นได้เช่นเดียวกัน

ทำให้บางครั้งจึงมีคนบอกว่า ราคาน้ำมันแพงขึ้นเพราะเศรษฐกิจดีขึ้น

แต่ราคาน้ำมันโลกแพงในครั้งนี้ สาเหตุที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นเป็นสำคัญ

นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญตลาดน้ำมัน เห็นตรงกันว่า ราคาน้ำมันโลกปรับขึ้นเที่ยวนี้สาเหตุหลักมาจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญของโลก 2 แหล่ง หนึ่งคืออิหร่าน อีกหนึ่งคือเวเนซุเอลา

สหรัฐอเมริกาประกาศยกเลิกความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ซึ่งเคยทำความตกลงกันไว้เมื่อครั้งสหรัฐอเมริกามี บารัค โอบามาŽ เป็นประธานาธิบดี การตกลงดังกล่าวนอกจากจะคลี่คลายความขัดแย้งสำคัญลงได้ระดับหนึ่งแล้ว

ยังตกลงเลิกการแซงก์ชั่น ส่งผลให้อิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือโอเปค สามารถกลับมาส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกได้อีกครั้ง

เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกความตกลงดังกล่าว ก็ประกาศว่าจะหันกลับมาใช้การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านอีกครั้งสำหรับเป็นเครื่องมือกดดันให้อิหร่านยกเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ในทางหนึ่ง การแซงก์ชั่นดังกล่าวทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกลดลงอย่างแน่นอน แม้จะไม่ถึงกับยุติไปทั้งหมดเสียทีเดียว ในอีกทางหนึ่งก็เกรงกันว่าความตึงเครียดที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ อาจส่งผลให้เกิดการปะทะน้อยใหญ่ขึ้นอีกครั้งในตะวันออกกลางและกลายเป็นอุปสรรคต่อการลำเลียงน้ำมันจากย่านนั้นออกสู่ตลาดโลก ก่อให้เกิดความกังวลอีกเหมือนกันว่าจะทำให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดน้อยลงไปอีก

ในส่วนของเวเนซุเอลาหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งโอเปคนั้น ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันดิบสำรอง และแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองขนาดใหญ่ที่สุดของโลก

เคยติดอันดับ ท็อปเท็นŽ ของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมากที่สุดในโลกมานานหลายสิบปี กำลังเกิดปัญหาระดับวิกฤตขนานใหญ่ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

สืบเนื่องจากการบริหารประเทศแบบประชานิยม-สังคมนิยมสุดโต่งของรัฐบาลประธานาธิบดีนิโคลาส มาดูโร ปริมาณการผลิตน้ำมันของประเทศลดต่ำลงเรื่อยๆ จนขณะนี้ผลิตได้ในระดับ 1.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำสุดในรอบ 15 ปี

ที่สำคัญก็คือ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งประกาศแซงก์ชั่นเวเนซุเอลาระลอกใหม่ ที่เข้มงวดยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทำให้การส่งออกน้ำมันของประเทศนี้ยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้น

เหตุปัจจัยสำคัญดังกล่าวยังเกิดขึ้นในขณะที่กลุ่มโอเปคประกาศลดกำลังการผลิตลงอีกต่างหาก ความวิตกกันว่าปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกจะลดน้อยลง ทำให้ราคาทะยานขึ้นต่อเนื่องอย่างที่เห็น

ผู้เชี่ยวชาญบางรายอย่างเช่น ปาทริค ปูยาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโททาล ยักษ์ใหญ่ในวงการน้ำมันโลกจากฝรั่งเศส ถึงกับระบุว่า กำลังจะถึงยุคการเมืองเข้ามาควบคุมตลาดน้ำมันโลกแล้ว และเชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบอาจสูงขึ้นไปได้อีก อาจทะลุหลัก 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้งก็เป็นได้

แม้ว่าประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริติช ปิโตรเลียม อย่าง บ็อบ ดัดลีย์ จะยังไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปที่ว่านั้น เพราะเชื่อว่าในที่สุดแล้วตลาดก็จะโน้มน้าวให้ผู้ผลิตน้ำมันผลิตน้ำมันดิบป้อนเข้ามามากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตน้ำมันดิบจากหินน้ำมัน ที่เรียกกันว่า เชลล์ออยล์Ž ที่เพิ่มกำลังการผลิตทดแทนการลดกำลังการผลิตของโอเปคในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาอย่างได้ผล ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้อยู่ที่ 11.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยมีมา

ขณะที่ผู้สันทัดกรณียังคงถกกันอยู่ว่า ราคาน้ำมันจะยังคงแพงอยู่เช่นนี้อีกนานหรือไม่ ผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงขึ้นก็เห็นชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ

ทุกครั้งที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ภูมิภาคเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในโลก ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่บริโภคน้ำมันสูงที่สุดในโลก ทุกๆ 100 ล้านบาร์เรลที่โลกบริโภคน้ำมันทุกวัน จะเป็นการบริโภคของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเสีย 35 ล้านบาร์เรล

ในทางกลับกัน เอเชียเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันได้น้อยที่สุดในโลก ผลิตได้ไม่ถึง 10% ของผลผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก

มอร์แกน สแตนลีย์ วาณิชธนกิจอเมริกัน เคยประเมินเอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันส่งผลกระทบอย่างทั่วถึง เนื่องจากทุกๆ ธุรกิจต้องพึ่งพาน้ำมันด้วยกันทั้งสิ้น ตั้งแต่การเกษตรเรื่อยไปจนถึงเหมืองแร่ ที่ผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานการผลิต ไปจนถึงโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจ่ายให้กับทุกครัวเรือน ตัวอย่างเช่นเหมืองแร่ ซึ่งใช้น้ำมันอยู่คิดเป็นต้นทุนในการผลิต 10-20% ต้นทุนก็ต้องเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน โรงไฟฟ้า ซึ่งใช้น้ำมันมากน้อยต่างกันออกไปตั้งแต่ 10-50% ก็ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มเช่นเดียวกัน

ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นถูกผลักภาระออกไปให้ผู้บริโภค ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ดังนั้นราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากๆ จึงสามารถส่งผลให้อ่วมอรทัยได้ถ้วนหน้ากันด้วยเหตุนี้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image