คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: บทสรุป4ปีเอ็มเอช370 อุบัติเหตุหรือเจตนา?

FILE - (AP Photo/Rob Griffith, File)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินโบอิ้ง 777 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ เอ็มเอช370 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2014 พร้อมนักบินและลูกเรือ 12 คนกับผู้โดยสารอีก 227 คน ถือเป็นปริศนาที่ลึกลับที่สุดในประวัติศาสตร์การบินร่วมสมัย

ธรรมชาติของปริศนาลึกลับก็คือ ยิ่งค้นหาคำตอบ ยิ่งคิดว่าได้คำตอบ สิ่้งที่เกิดขึ้นตามมาจริงๆ ยิ่งเกิดคำถามที่ตอบไม่ได้ตามมามากยิ่งขึ้น

ในกรณีของเอ็มเอช370 ส่วนสำคัญสำหรับใช้ไขปริศนาลึกลับคือ ตัวซากเครื่องบินซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีวี่แววว่าจะปรากฏขึ้นให้เห็น แม้ในอาณาบริเวณที่คาดกันว่า “เป็นไปได้ที่สุด” แล้วก็ตามที

29 พฤษภาคมที่จะถึงนี้คือวาระสุดท้ายของการค้นหาอย่างเป็นทางการ เมื่อรัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจไม่ต่อสัญญาว่าจ้าง โอเชียน อินฟินิตี บริษัทเอกชนจากเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ให้ใช้อุปกรณ์ทันสมัยที่สุดเท่าที่มีใช้กันอยู่ค้นหาซากเครื่องอีกแล้ว หลังจากใช้เงินไปอย่างน้อย 200 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีแรก และว่าจ้าง โอเชียน อินฟินิตี ภายใต้สัญญาค้นหาแบบไม่เจอไม่จ่ายต่อมาอีกปี

Advertisement

ท้องมหาสมุทรอินเดียตอนใต้มากกว่า 200,000 ตารางกิโลเมตร ถูกสะสางอย่างถี่ยิบ แต่ไร้วี่แวว
ซากที่พบที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นชิ้นส่วนของ เอ็มเอช370 จนถึงในเวลานี้มีเพียง 3 ชิ้น ล้วนพบตามแนวชายฝั่งด้านตะวันออกทางใต้ของทวีปแอฟริกา

ชิ้นส่วนเหล่านั้นประกอบด้วย แฟลปเพอรอนด้านขวา, ส่วนหนึ่งของ แฟลป ด้านขวา กับอีกชิ้นเป็น ส่วนหนึ่งของแฟลป ด้านซ้าย

(แฟลปเพอรอน เป็นชิ้นส่วนประกอบสำหรับควบคุมระดับของเครื่องบิน อยู่ด้านในสุด ทำงานคู่กับ แฟลป และส่วนปลายปีกที่เรียกว่า แอเลอรอน)

Advertisement

นอกจากนั้นยังมีชิ้นส่วนที่ “เกือบแน่นอน” ว่าเป็นซากจากเอ็มเอช 370 มีทั้งกระเป๋าสะพายติดตัว และชิ้นส่วนภายในเคบินโดยสาร

ที่น่าแปลกใจก็คือ ในช่วงเวลายาวนานดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญและผู้คนในแวดวงการบินทั้งหลาย มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลากหลายแตกต่างกันออกไป แต่ไม่มีข้อสันนิษฐานใดที่สามารถสรุปเป็นคำตอบของคำถามทั้งหมดได้ และยิ่งไม่ปรากฏหลักฐานใดชี้ชัดได้ว่า ข้อสันนิษฐานใดต้องตรงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด

หลังสุด รายการ “ซิกซ์ตีมินิทส์” ออกอากาศทาง แชนแนล9 ออสเตรเลีย สถานีโทรทัศน์ในเครือซีบีเอส สหรัฐอเมริกา ใช้คณะผู้เชี่ยวชาญ 4 รายพยายามสรุปสิ่งที่ตั้งใจจะให้เป็น “บทสรุปสุดท้าย” ของเที่ยวบินปริศนานี้ ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในกรณีนี้ขึ้นขนานใหญ่อีกครั้ง

ก่อนที่จะไปตรวจสอบข้อสรุปเหล่านั้นกัน ต้องย้ำกันไว้อีกทีว่า ทั้งหมดยังคงเป็น “ข้อสันนิษฐาน” ที่่ในที่สุดแล้วอาจไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ตราบเท่าที่ไม่มีซากเครื่องหรือกล่องดำมายืนยันแน่ชัดครับ

 

 

ข้อสรุปที่ถกเถียงกันมากที่สุดอันเนื่องมาจากรายการ ซิกซ์ตีมินิทส์ ก็คือข้อสรุปของ 2 ใน 4 ผู้เชี่ยวชาญที่ปรากฏตัวในรายการ ที่ระบุว่า ปรากฏการณ์เอ็มเอช370 คือการเจตนา “ฆ่าตัวตาย” ที่ในเวลาเดียวกันก็เป็นการกระทำ “ฆาตกรรมหมู่” คนอื่นๆ บนเครื่องอีก 238 คนพร้อมกันไปด้วย

ผู้ที่ประมวลเหตุการณ์ เหตุผลแล้วสรุปความดังกล่าวคือ ไซมอน ฮาร์ดี นักบินระดับชำนาญการของเครื่องโบอิง 777 ชาวอเมริกันที่ในเวลานี้เป็นผู้ฝึกสอนการบิน กับ แลร์รี แวนซ์ ผู้เชี่ยวชาญการบินอีกคนที่ผันมาเป็นผู้เชี่ยวชาญการสอบสวนสืบสวนอุบัติเหตุทางการบินชาวแคนาดา ซึ่งเพิ่งวางขายหนังสือไขปริศนาเอ็มเอช370 ก่อนหน้าออกรายการไม่นาน

ข้อสรุปที่ได้จากการสันนิษฐานของคนทั้งสองก็คือ หลังจากเอ็มเอช370 ขึ้นจากท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ มุ่งหน้าไปทางตะวันออกจนสุดเขตควบคุมการบินของหอบังคับการบินมาเลเซียและมีการตัดการติดต่อ เพื่อส่งมอบต่อให้กับหอบังคับการบินเวียดนามแล้ว “หายไป” นั้น มี “บุคคล” อย่างน้อย 1 คน ควบคุมเครื่องบินลำดังกล่าวอยู่

คนคนนั้นบังคับเครื่องบินวกกลับแทบจะเป็น 180 องศา มุ่งหน้ากลับมายังมาเลเซีย ในทิศทางมุ่งตะวันตกเฉียงเหนือ

ทิศทางของเครื่อง ตัดผ่านแนวชายแดนไทย-มาเลเซียที่คดเคี้ยวตามสภาพธรรมชาติของพื้นที่ เมื่อเครื่องบินบินเป็นเส้นตรง สภาพที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เอ็มเอช370 ผลุบๆ โผล่ๆ เข้า-ออก น่านฟ้าไทยสลับกับมาเลเซียไปเรื่อยๆ ตลอดแนวชายแดน มีสัญญาณเรดาร์ของกองทัพมาเลเซียเป็นเครื่องยืนยันการบินช่วงนี้
แวนซ์และฮาร์ดี ชี้ว่าการเลือกบินในเส้นทางนั้นเป็น “เจตนา”

เป็นเจตนาที่จะหลบเลี่ยงการ “บินสกัด” เพราะเป็นการล้ำน่านฟ้าเข้ามาเพียงแค่ “ริมขอบ” แล้วก็ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว จนทั้งไทยและมาเลเซีย ไม่คิดจะขึ้นสกัดเพื่อตรวจสอบสัญชาติเครื่องที่โผล่มาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้นี้
เป้าหมายของเครื่องดูเหมือนจะเป็น “ปีนัง” ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซีย

สัญญาณเรดาร์แสดงให้เห็นพฤติกรรม “แปลกๆ” ของเครื่องเมื่อถึงปีนัง กล่าวคือครั้งแรกเบนลำตัวลงทางซ้ายเล็กน้อย แล้ววนขวาเป็นเวลานานแล้วเอียงเครื่องทางซ้ายอีกครั้ง

สุดท้ายเอ็มเอช370 ตัดผ่านช่องแคบมะละกา ตั้งลำมุ่งลงใต้ หลุดจากการตรวจจับของสัญญาณเรดาร์ใดๆ
จากจุดที่เครื่องตัดขาดการติดต่อ เรื่อยมาจนถึงตอนที่หลุดออกจากการตรวจจับของสัญญาณเรดาร์ กินเวลาไม่น้อยกว่า 90 นาที

เป็น 90 นาทีที่เป็นเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่ เอ็มเอช370 เลี้ยวมาทำไม? คนบนเครื่องที่เหลือหายไปไหนหมด ไม่มีใครรู้เห็นเลยหรืออย่างไร? ที่สำคัญก็คือ ใครคือคนบังคับเครื่องมา?

แวนซ์ กับ ฮาร์ดี เชื่อว่า คนที่บังคับเครื่องมาบนเส้นทางบินประหลาดนั้นคือ ซาฮารี ชาห์ กัปตันของเครื่องบินลำนี้!

 

 

ไซมอน ฮาร์ดี กับ แลร์รี แวนซ์ สันนิษฐานต่อไปว่า กัปตันซาฮารี หลังจากเอียงเครื่องเพื่อมอง ปีนัง “บ้านเกิด” เป็นการสั่งลาแล้วก็ขับเครื่อง 777 มุ่งหน้าต่อไปสู่ตอนใต้ของมหาสุมรอินเดีย จุดที่ห่างไกลจากการตรวจจับสัญญาณใดๆ ของโลกมากที่สุด ด้วยเจตนาที่จะ “หายไปโดยไม่มีใครพบเห็นอีกตลอดกาล”

เขาสันนิษฐานว่า ถึงตอนนั้นอาจบางที 238 คนที่เหลือบนเครื่อง เสียชีวิตไปทั้งหมดแล้ว เพราะเชื่อว่าในทันทีที่ตัดการติดต่อกับหอบังคับการบินมาลเซีย กัปตันก็ปิดระบบปรับความดันในห้องโดยสารไปด้วย ส่งผลให้ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือ ตกอยู่ในสภาพโคม่าในไม่ช้าไม่นาน

ซึ่งอธิบายได้ว่า ทำไมถึงไม่มีใครเอะใจ และไม่มีการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือส่งข้อความร่ำลาญาติสนิทมิตรสหายใดๆ ออกมาจากเครื่อง

ทั้งคู่เชื่อว่า กัปตันซาฮารี ยังคงควบคุมเครื่องอยู่จนกระทั่งน้ำมันหมด และยังบังคับเครื่องให้เดินทางต่อไปในสภาพ “ร่อน” กระทั่้งเครื่องค่อยๆ สูญเสียระดับและสัมผัสพื้นน้ำ ก่อนน้ำหนักเครื่องกระชากทั้ง 239 คนลงสู่ก้นมหาสมุทรในที่สุด

ตามสภาวะการณ์ดังกล่าว ฮาร์ดี กับแวนซ์ เชื่อว่าตัวเครื่องจะแตกทำลายน้อยที่สุด อาจมีเพียงแค่ตัวเครื่องยนต์ ปีก 2 ข้าง กับลำตัวเครื่อง ที่แยกออกจากกัน ซึ่งเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมการตกของเครื่องใหญ่โตระดับโบอิ้ง777 ถึงไม่มีซากเครื่องให้สังเกตเห็นเหมือนในกรณีอื่นๆ

และทำให้หาซากเครื่องไม่พบ เพราะในสภาพร่อน โบอิ้ง777 ยังสามารถไปได้อีกไกลมากจากจุดที่ค้นหากันอยู่

ข้อสันนิษฐานส่วนนี้เองที่ขัดแย้งกับข้อสรุปของ สำนักงานเพื่อความปลอดภัยด้านคมนาคมขนส่งแห่งออสเตรเลีย (เอทีเอสบี) ที่เป็นตัวหลักในการค้นหาซากเครื่องเอ็มเอช370 ในช่วง 3 ปีแรก

ปีเตอร์ โฟลีย์ ผู้อำนวยการเอทีเอสบี ยังคงยืนกรานแม้ในการเข้าให้ปากคำต่อวุฒิสภาออสเตรเลีย หลังเกิดการถกเถียงกันขึ้นมาว่า เอทีเอสบี เชื่อว่า เอ็มเอช370 ไม่มีคนคุมเครื่องขณะตก เพียงแต่บินไปเรื่อยๆ จนน้ำมันหมดแล้วดิ่งลงสู่พื้นน้ำในลักษณะควงสว่าน

เขายืนยันด้วยว่า จากการตรวจสอบของเอทีเอสบี แฟลป และ แฟลปเพอรอนของเอ็มเอช370 ไม่ได้ถูกดึงลงอย่างที่อ้างแต่อย่างใด

คริสตีน เนโกรนี ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและการสอบสวนสืบสวนอุบัติเหตุทางการบินอีกราย เจ้าของหนังสือ “เดอะ แครช ดีเท็คทีฟส์” ที่พูดถึงเอ็มเอช370 ไว้มากมายเหมือนกันก็ไม่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานส่วนนี้ของ ฮาร์ดี และแวนซ์ และเชื่อว่า ทั้งสองสันนิษฐานเช่นนั้นเพราะไม่ได้ดูหลักฐานชิ้นส่วนเอ็มเอช370ที่พบ เพราะแฟลปเพอรอนกับแฟลปที่พบนั้น ยังอยู่ในสภาพการบินปกติ ไม่ได้ถูกดึงลงเหมือนที่ควรจะเป็นหากต้องการร่อนลง

ในขณะที่ ฮาร์ดี กับแวนซ์ สันนิษฐานว่ามีการดึงลงจากการ “ดูภาพ” ชิ้นส่วนดังกล่าว 1 ชิ้นซึ่งพบที่เกาะเรอูนียง เท่านั้น ซึ่้ง “ไม่เพียงพอ” ถ้าหากจะใช้เป็นหลักฐานเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปดังกล่าว

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือ ทั้งคู่เพียงแย้งสภาพการณ์การตกของเอ็มเอช370 เท่านั้น แต่ไม่ได้แย้งประเด็นใหญ่ที่สำคัญมากอีกประเด็น

แม้แต่โฟลีย์ ยังยอมรับไว้ในการให้ปากคำว่า เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานที่ว่า เครื่องเอ็มเอช370 ยังคงมี “คนบังคับอยู่” อย่างน้อยนาน 90 นาทีหลังตัดการติดต่อกับหอบังคับการบินมาเลเซีย

 

 

การยอมรับว่า มีผู้บังคับเครื่องบินอยู่อย่างน้อย 1 คนหลังตัดการติดต่อกับหอบังคับการบินนั้น เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการหาข้อสรุปเบื้องต้นของสิ่งที่เกิดขึ้นกับเอ็มเอช370

เหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการยอมรับดังกล่าวก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า จู่ๆ เครื่องบินจะเลี้ยว “ด้วยตัวมันเอง” ไม่ได้

ยิ่งเลี้ยวแล้วตั้งลำใหม่ตัดกลับเข้าหามาเลเซียอีกครั้ง ยิ่งเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง

เอ็มเอช370 ไม่เพียงเลี้ยวกลับมาหาแผ่นดินใหญ่มาเลเซียอีกครั้ง ยังเลี้ยววนรอบเกาะปีนัง แล้วจึงบ่ายหน้าลงใต้ แลร์รี แวนซ์ บอกว่า ถ้าจะบอกว่าเรื่องทั้งหมดเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากระบบของเครื่องหรือระบบนำร่องของเครื่อง ก็ต้องเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะเจาะมากที่สุด เกิดขึ้นซ้ำซ้อนหลายครั้งและซับซ้อนมากเกินไปที่จะเป็นจริงได้

สิ่งเดียวที่แวนซ์และฮาร์ดี ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดก็คือ กัปตันซาฮารี มีเหตุจูงใจใด ที่ทำให้ตัดสินใจ “ฆ่าตัวตายและฆาตรกรรมหมู่” ครั้งนี้

เบลน กิบสัน นักกฎหมายอเมริกันที่กลายเป็นหนึ่งในผู้ที่ตามล่าหาเอ็มเอช370 และเป็นคนพบชิ้นส่วนหลายชิ้น ยืนยันว่า ทั้งกัปตันซาฮารี และนักบินผู้ช่วย ถูกตรวจสอบถี่ยิบอย่างน้อยตลอด 2 ปีแรกของการสอบสวน และไม่พบวี่แววผิดปกติใด ไม่แม้กระทั่งตอนก่อนขึ้นเครื่องเที่ยวบินปริศนา

กระนั้น มีหลายอย่างมากที่ยังไม่เป็นที่กระจ่าง เกี่ยวกับเที่ยวบินลึกลับนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุที่ว่าไม่อาจทำให้กระจ่างได้ไม่ก็ตาม

ตัวอย่างเช่น จนถึงขณะนี้แม้แต่รายการสินค้าที่ถูกขนไปพร้อมกับเอ็มเอช370 ก็ยังไม่มีครแจกแจงได้กระจ่างชัดทั้งหมดว่าคืออะไร และเป็นอันตรายต่อการบินหรือไม่ สินค้าต้องสงสัยล็อตสำคัญ น้ำหนักประมาณ 2.2 ตัน ถูกระบุไว้เพียงว่าเป็น “อุปกรณ์เสริมสำหรับวิทยุ” เป็นสินค้าที่มีเจ้าของเดียวกันกับแบตลิเธียมไอออนกว่า 2 ตันที่ส่งไปพร้อมเที่ยวบินนี้

หรือกรณีของ ชาวอิหร่าน 2 รายที่ใช้พาสปอร์ตปลอมขึ้นเครื่อง ก็ยังไม่มีรายละเอียดของ เกี่ยวกับ โมฮัมเหม็ด เรซาร์ เดลลาวาร์ มีเพียงเรื่องราวของ พูเรีย นูร์ โมฮัมหมัด ออกมาเท่านั้นเอง

ทั้งยังไม่มีการติดตามกรณีที่มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กองพลพลีชีพชาวจีน อ้างตัวว่าอยู่เบื้องหลังเหตการณ์ครั้งนี้ ด้วยการส่งอีเมลเข้ารหัสไปยังผู้สื่อข่าวจีนจำนวนมาก อ้างเอาไว้ว่า “พวกคุณฆ่าพี่น้องของเราหนึ่งคน เราจะฆ่าพวกคุณ 100 คนเพื่อชดใช้”

ทางการมาเลเซีย อ้างว่า เอ็มเอช370 ไม่ใช่การก่อการร้ายเพียงเพราะกลุ่มนี้ไม่เคยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมาก่อน เท่านั้นเอง

 

 

ซารา นอร์ตัน ญาติของหนึ่งในเหยื่อบนเครื่องเอ็มเอช370 แสดงปฏิกิริยา ต่อบทสรุปของ แลร์รี แวนซ์ กับ ไซมอน ฮาร์ดี ไว้น่าสนใจอย่างยิ่ง

เธอบอกว่าทั้งหมดนั้นแทบไม่ต่างอะไรจากที่เคยได้ยินได้ฟังมา คือเป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นเพียงข้อสมมุติและความคิดเห็น ที่ปราศจากหลักฐานยืนยันแน่ชัด

เหมือนกับที่ผ่านๆมา เกี่ยวกับกรณีนี้ คือไม่มีอะไรยืนยันได้แน่ชัดเอาเลย นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้เมื่อเวลาผ่านไปถึง 4 ปีแล้ว

นี่จึงเป็นความน่าเศร้าที่แท้จริงสำหรับเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image