คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ถ้ามี…”ข้อตกลงนิวเคลียร์” โฉมหน้าจะเป็นอย่างไร?

(AP Photo/Wong Maye-E)

ยังไม่มีใครรู้ได้แน่ชัดว่า การพบหารือกันระหว่าง ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา กับ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ที่กำหนดจะมีขึ้นในสถานที่ “กลาง” บนเกาะเซนโตซา ในประเทศสิงคโปร์ จะมีขึ้นในตอนเช้าวันที่ 12 มิถุนายนนี้หรือไม่

เพราะวัดจากพฤติกรรมที่ผ่านมาของผู้นำทั้งสอง การเจรจาที่กำหนดจะมีในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ สามารถล่มได้ทุกเมื่อ

และถึงแม้จะมีการเจรจากันขึ้นจริง โอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะทำความตกลง บรรลุถึงการเห็นพ้องต้องกันในสิ่งที่เป็นสารัตถะสำคัญอันจะนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ และทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์ได้อย่างแท้จริงก็มีโอกาสเพียงแค่ 50-50 เท่านั้น ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการทูตและการเจรจาระหว่างประเทศ

ข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่งก็คือ ความตกลงนิวเคลียร์นั้น เป็นความตกลงที่ละเอียดและซับซ้อนมากที่สุดในบรรดาความตกลงระหว่างประเทศทั้งหลาย

Advertisement

ในกรณีเกาหลีเหนือ ยิ่งซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากกว่ากรณีอื่นๆ

เหตุผลสำคัญก็คือ เกาหลีเหนือไม่ได้ครอบครอง “ศักยภาพนิวเคลียร์” เท่านั้นแต่ยังครอบครอง “หัวรบนิวเคลียร์” แล้วจริงๆ ไม่เพียงมีหัวรบนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือยังพัฒนาระบบนำส่งที่มีขีดความสามารถสูง อย่าง ระบบขีปนาวุธพิสัยไกล สำหรับนำหัวรบดังกล่าวสู่เป้าหมาย ได้แล้วอีกด้วย

เกาหลีเหนือ อ้างอิงถึงตัวเองว่าเป็น “ชาตินิวเคลียร์” สมบูรณ์แบบแล้วด้วยซ้ำไป เคยเทียบเคียงสถานการณ์ของตนหลายครั้งกับ อินเดีย ในอดีต ซึ่งสามารถต้านทานการปฏิเสธของนานาชาติได้ยาวนานจนได้รับการยอมรับ ให้มี “คลังแสงนิวเคลียร์” ได้ในที่สุด

Advertisement

ความซับซ้อนยิ่งทวีสูงขึ้นไปอีก เมื่อเกาหลีเหนือแสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่เอา “ลิเบียโมเดล” ความตกลง

นิวเคลียร์ที่ พ.อ. โมอามาร์ กัดดาฟี ผู้นำเผด็จการลิเบียทำกับสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2003

นั่นหมายถึงว่า ความตกลงนิวเคลียร์แบบเบ็ดเสร็จ ครั้งเดียวสมบูรณ์แบบ ไม่มีทางเกิดขึ้นในการเจรจาสุดยอดระหว่าง คิม กับ ทรัมป์ ในวันที่ 12 มิถุนายนนี้แน่นอน

เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะมองหาความหมายจากซัมมิทหนนี้ได้อย่างไร รูปแบบของความตกลงที่ควรจะเป็น น่าจะเป็นอย่างไร

เพราะนั่นคือปัจจัยสำคัญในการวัดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการพบกันครั้งประวัติศาสตร์นี้

 

 

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ แม้ก่อนหน้านี้ฝ่ายอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็น จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี เคยพูดถึงและพยายามชี้นำไปสู่ความตกลงแบบ “ลิเบียโมเดล” แต่หลังสุดไม่ถึงสัปดาห์ก่อนหน้าสิงคโปร์ซัมมิท หลังจากให้การต้อนรับ คิม ยอง โชล นายพลเกาหลีเหนือที่ได้ชื่อว่าเป็น “มือขวา” ของ คิม จอง อึนที่ทำเนียบขาว ท่าทีของทรัมป์กลับเปลี่ยนไป

เปลี่ยนจาก “รวดเร็ว เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด” เป็นการพูดถึง “กระบวนการ” ที่ “เป็นขั้นตอนค่อยเป็นค่อยไป”
กระนั้น ก็ยังไม่มีใครแน่ใจชัดเจนว่า ผู้นำอเมริกันหมายถึงอะไร เป็นการพาดพิงถึงความตกลงที่เป็นกระบวนการ หรือ การหารือสุดยอดที่แทนที่จะครั้งเดียว หากแต่จะเป็น “ซีรีส์” ต่อเนื่องกันหลายครั้ง
แม้จะมีการแบะท่า เชื้อเชิญผู้นำเกาหลีเหนือไปเยือนทำเนียบขาวออกมาก็ตามที

แต่ไม่ว่าทรัมป์จะหมายความถึงอะไร ผู้เชี่ยวชาญในการเจรจาอาวุธนิวเคลียร์ส่วนใหญ่เล็งเห็นตรงกันว่า ทรัมป์ กับ คิม จำเป็นต้องเริ่มต้นการเจรจาถ้าหากมีขึ้นด้วยการทำให้นิยามของคำว่า “ดีนิวเคลียไรเซชัน” ในความคิดของทั้งสองฝ่ายตรงกันเสียก่อน

ไม่ใช่ว่าฝ่ายหนึ่งให้คำจำกัดความ “denuclearization” ว่าคือการ “ลด” ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจว่าเป็นการ “ปลด” อาวุธนิวเคลียร์เหมือนที่ผ่านมา

เมื่อเข้าใจตรงกันแล้ว จึงจะสามารถกำหนดแนวปฏิบัติและคุณลักษณะของ สิ่งที่ฝ่ายสหรัฐยืนกรานมาตลอดว่า ต้องเป็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่ “สมบูรณ์, สามารถตรวจสอบได้ และไม่สามารถรื้อฟื้นกลับคืนได้” ที่เรียกกันย่อๆ ว่า “ซีวีไอดี” ที่บางคนเรียกว่า “ซีวิด” ได้

เกาหลีเหนือ พูดถึงดีนิวเคลียไรเซชันในนิยามของการ “ลด” มาโดยตลอด เป็นแนวความคิดระยะยาวและทะเยอทะยาน ที่สำคัญก็คือ ไม่ได้พูดถึงจำเพาะนิวเคลียร์ของตนเองแต่รวมเอา นิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาบนคาบสมุทรเกาหลีเข้าไปในนิยามของคำนี้ด้วย

ดร. วิคเตอร์ ชา ผู้อำนวยการกิจการเกาหลีประจำ ศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ ในวอชิงตัน ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกิจการเอเชีย ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประจำทำเนียบขาวในยุคประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ย้ำเอาไว้ว่า เกาหลีเหนือใช้คำคำนี้มานานหลายสิบปีแล้ว

ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันก็คือ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้การทำความตกลงหนนี้หากมีขึ้น จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับความตกลงนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ ซึ่งเคยมีการประกาศกันอึกทึกคึกโครมในตอนเริ่มแรก โดยประธานาธิบดีบุช

แต่แล้วก็ล้มครืนในอีกไม่ช้าไม่นานต่อมา!

 

 

การทำให้ความตกลงนิวเคลียร์ครั้งนี้ครอบคลุมสมบูรณ์พร้อม และ ตรวจสอบได้โดยสมบูรณ์นั้น สิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นก่อนในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็คือ เกาหลีเหนือ จำเป็นต้องแจกแจง “คลังแสงนิวเคลียร์”, ระบบนำส่ง และเทคโนโลยีที่ตนมีอยู่ในมือออกมาทั้งหมด

พูดง่ายๆ ก็คือ เกาหลีเหนือต้องแจกแจงสิ่งที่ตนเองมีอยู่ในครอบครองให้ละเอียดยิบ มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ต่อจากนั้น ความตกลงนิวเคลียร์ครั้งนี้ยังจำเป็นต้องมี “ตารางกำหนดเวลา” อีกชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นกำหนดขั้นตอนการ ลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์และระบบนำส่ง ซึ่งเกาหลีเหนือมีอยู่ในครอบครอง ตามระยะเวลาที่กำหนด

ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อาจกำหนดให้ เกาหลีเหนือ “รื้อทำลาย” ระบบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ซึ่งเกาหลีเหนือเคยทดสอบมาและอ้างว่าสามารถยิงใส่พื้นที่ชายฝั่งด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกาได้ ให้หมด ภายในปีแรกของความตกลง เป็นต้น

ประเด็นที่เป็นปัญหาในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญทุกคน รวมทั้ง แม้แต่แวดวงการข่าวของสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งประเมินไว้หลังสุดออกมาตรงกันว่า ไม่มีทางที่เกาหลีเหนือจะแจกแจงทุกอย่างที่มีอยู่ในครอบครองออกมาทั้งหมด

ตัว ดร. ชา เอง บอกว่าโดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่า การที่เกาหลีเหนือจะตกลง ยกเลิก หรือ ทำลาย หัวรบนิวเคลียร์ที่ประเมินกันว่า เกาหลีเหนือมีอยู่ในครอบครอง 20-50 หัวรบไปทั้งหมดนั้น “ไม่มีวันเกิดขึ้น” แน่นอน

“ถึงที่สุดแล้ว สิ่งบ่งชี้ลำดับแรกที่สำคัญที่สุด ที่จะแสดงให้เห็นได้ก็คือ เกาหลีเหนือตกลงที่จะแจกแจงศักยภาพทางนิวเคลียร์ทั้งหมดของตนออกมาชัดแจ้ง ให้ตรวจสอบได้หรือไม่”

ถ้าเกาหลีเหนือตกลงเช่นนั้น ทุกคนจึงจะสามารถมองได้ว่า มี “ข้อตกลง” อะไรบางอย่างเกิดขึ้น!
เพราะประเด็นนี้นี่เอง ที่เป็นผลให้ความตกลงทางนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือในยุค จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ล่มกลางคันมาแล้วเมื่อปี 2007

 

แฮร์รี คาเซียนิส ผู้อำนวยการการศึกษาด้านกลาโหม และเป็นผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์เอเชีย ประจำศูนย์เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ ในกรุงวอชิงตัน เห็นพ้องด้วยว่า การเต็มใจประกาศรายละเอียดการครอบครองอาวุธและศักยภาพทางนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด

หลังจากนั้นกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดกำลังอาวุธ และรื้อทำลาย สถานที่หรือฐานสำหรับยิงอาวุธนิวเคลียร์จึงจะเกิดขึ้นตามมา

กระบวนการเหล่านั้น ในเมื่อไม่สามารถเป็นไปตามแบบ “ลิเบียโมเดล” ได้แล้ว ก็จำเป็นต้องถูกทดแทนด้วย “ขั้นตอนการดำเนินการ” เป็นขั้นๆ มีกำหนดเวลาชัดเจน และมีทิศทางชัดเจนที่จะนำไปสู่การ “ปลด” อาวุธนิวเคลียร์ โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้น “แรงจูงใจ” อาทิ การยกเลิกการแซงก์ชั่น, การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และอื่นๆ ก็จะดำเนินไปตามขั้นตอนที่กำหนดดังกล่าว

คาเซียนิส เชื่อว่า คิม จอง อึน จะยังคงยึดแนวทาง “เราจะทำ…ในวันหนึ่งข้างหน้า” ในการเจรจาต่อรองกับผู้นำสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้จำเป็นต้องมีการกำหนดแผนปฏิบัติการลดกำลังอาวุธเป็นขั้นเป็นตอน ต่อเนื่องดังกล่าว ตัวอย่างเช่น เกาหลีเหนืออาจยกเลิกหรือทำลายอาวุธนิวเคลียร์ 2-3 หัวรบก่อน ซึ่งจะทำให้สหรัฐอเมริกายกเลิกการแซงก์ชันในบางด้านให้ ต่อจากนั้น ก็อาจมีการยกเลิก ขีปนาวุธไอซีบีเอ็มอีก 2-3 ลำ แล้วสหรัฐก็ดำเนินการอีกบางอย่าง ตามขั้นตอนที่ตกลงกันไว้

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ คาซียนิส เชื่อว่า ทั้งสหรัฐและเกาหลีเหนือไม่มีวันหลุดจากกับดักนี้ได้แน่นอน

อีกประเด็นสำคัญซึ่งผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตกันเอาไว้ก็คือ ท่าทีของเกาหลีเหนือ ดูเหมือนให้ความสนใจในข้อเสนอในเชิงเศรษฐกิจ ที่ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศหรือ เจ้าหน้าที่อเมริกันคนอื่นๆ เสนอให้หลายสิ่งหลายประการน้อยกว่า ความต้องการที่แท้จริงทางด้านความมั่นคง นั่นคือ การรับประกันด้านความนั่นคงว่า สหรัฐอเมริกาจะไม่คุกคามหรือล้มล้างระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือ

สหรัฐอเมริกาจะ “ให้” อะไรต่อเกาหลีเหนือเพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องนี้และทำให้คิม จอง อึน มีแรงจูงใจดำเนินการตามขั้นตอนที่ตกลงกันไว้ต่อไป

นักวิชาการเรียกสิ่งนี้ว่า “การวางเงินดาวน์” ที่ทั้งเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกา ต้องแสดงออกมาในตอนเริ่มแรก

ซูซาน ธอร์นตัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ของสหรัฐอเมริกา ยอมรับว่า “อะไร” คือ “เงินดาวน์” ที่ว่านี้ และต้องใหญ่โตขนาดไหนถึงจะเพียงพอ ยังเป็นปัญหาอยู่

เธอบอกว่า ถ้าเงินดาวน์ของเกาหลีเหนือ “ก้อนใหญ่พอ” สหรัฐอเมริกา ก็อาจยอมรับการดำเนินการตามขั้นตอนได้

แฟรงค์ อูม อดีตที่ปรึกษากิจการเกาหลีเหนือของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา บอกว่า การดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เรื่องของการตกลงดำเนินการในระยะ ปีหรือสองปี

ตอนนี้ ผู้เชี่้ยวชาญ เชื่อกันว่า กระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ อาจจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องยาวนานถึง 15 ปี เป็นอย่างน้อย จะเร่งรัดให้เร็วกว่านั้นได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือในการเจรจา

อาวุธนิวเคลียร์ พัฒนาก็ยากลำบาก แต่รื้อทำลายยิ่งลำบากยากเย็นยิ่งกว่ามาก!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image