‘Happy Journey with BEM’ ชวนชม ‘พระตำหนักวาสุกรี’ วัดโพธิ์ ที่ประทับ ‘มหากวี’ กรุงรัตนโกสินทร์

พูดถึงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือที่เรียกกันว่า ‘วัดโพธิ์’ สิ่งแรกที่นึกถึงคืออะไร?

บางคนอาจนึกถึงตำนานยักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้ง ที่ต่อสู้กันจนเป็นที่มาของคำว่า ‘ท่าเตียน’ บางคนอาจนึกถึงจารึกวัดโพธิ์ ที่รวบรวมองค์ความรู้หลากหลาย ทั้งด้านพระพุทธศาสนา เวชศาสตร์ วรรณคดี ฯลฯ หรือนึกถึงรูปปั้นฤาษีดัดตน ซึ่งเป็นท่าแก้ปวดเมื่อยส่วนต่างๆ ของร่างกายตามหลักโยคะ

ส่วนบางคนอาจนึกถึงความงดงามของสถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในวัด ทั้ง พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือวิหารพระนอน ภายในประดิษฐานพระนอน ซึ่งมีความงดงามตามแบบพุทธศิลป์ หรือนึกถึงพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งตั้งอยู่อย่างโดดเด่นท่ามกลางพระเจดีย์ร่วมร้อยองค์ 

นอกจาก ‘ของดีวัดโพธิ์’ ที่เอ่ยมานี้ ภายในวัดยังมีอัญมณีเม็ดงามอีกหลายจุดที่น่าชม หนึ่งในนั้นคือ ‘พระตำหนักวาสุกรี’ ที่ประทับใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 7 และหนึ่งในมหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีความเป็นมายาวนานเกือบ 200 ปี ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส ซึ่งนักท่องเที่ยวน้อยคนนักจะมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม 

Advertisement

แต่ถ้ามากับทริป ‘Happy Journey with BEM’ ทริปที่ 2 สถานีสนามไชย ‘ประตูเชื่อมท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์’วันที่ 7 พฤษภาคมนี้แล้วล่ะก็ ไม่เพียงพาทุกคนเข้าไปชมความงดงามของพระตำหนักวาสุกรีอย่างใกล้ชิด ยังได้รับฟังเกร็ดประวัติศาสตร์น่ารู้จากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงแบบเต็มอิ่มอีกด้วย!

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีพระนามเดิมว่า ‘พระองค์เจ้าวาสุกรี’ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแด่เจ้าจอมมารดาจุ้ย เมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น 5 ค่ำ จุลศักราช 1152 ตรงกับวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2333 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลที่ 1 

เมื่อพระองค์เจ้าวาสุกรีทรงเจริญพระชันษาได้ 12 พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่วัดพระเชตุพน เมื่อพระชนมายุครบ 20 พรรษา ก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ผ่านไปราว 3-4 พรรษา สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ถึงแก่มรณภาพระหว่างพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระราชาคณะ และเป็นอธิบดีสงฆ์ครองวัดพระเชตุพน โดยทรงเป็นอธิบดีสงฆ์สืบเนื่องมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 

พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. 2394 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2396 ซึ่งหลังจากพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้เชิญพระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ไปประดิษฐาน ณ พระตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพน

ย้อนไปในรัชกาลที่ 1-2 พระองค์ยังไม่ได้ประทับอยู่ที่พระตำหนักวาสุกรี กระทั่งล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีพระบรมราชโองการให้พระยาศรีพิพัฒน์และพระยาเพ็ชรพิไชย เป็นแม่กองจัดการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นวัดเก่ามีประวัติสืบไปได้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา 

คราวนั้นจึงมีการสร้าง ‘พระตำหนักวาสุกรี’ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2375 สำหรับเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

พระตำหนักวาสุกรี มีความยาวราว 21 เมตร และกว้างราว 18 เมตร ผนังก่ออิฐฉาบปูน มีเสาราย หลังคาพระตำหนักเป็นทรงจั่ว ประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ภายในมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม ห้องสรง และห้องโถง ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้ ตราบจนสิ้นพระชนม์ 

ขณะประทับ ณ พระตำหนักวาสุกรี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ผลงานวรรณคดีไว้เป็นจำนวนมาก รวมทั้ง ปฐมสมโพธิ ซึ่งใน พ.ศ. 2387 ทรงพระนิพนธ์ชำระเพิ่มเติมฉบับภาษาบาลี เป็น 30 ปริจเฉท โดยทรงชำระแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2388 

หลังจากที่ทรงตรวจชำระพระปฐมสมโพธิฉบับภาษาบาลีเสร็จสิ้น ก็ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทย มี 30 ปริจเฉทเช่นกัน ซึ่งฉบับแปลภาษาไทยนี้ ได้รับการยกย่องอย่างสูงในด้านการเป็นความเรียงร้อยแก้วที่มีความไพเราะ และเลือกใช้คำได้อย่างงดงาม 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงใช้เวลาทรงพระนิพนธ์หนังสือ ที่ห้องทรงพระอักษร ณ พระตำหนักวาสุกรี เป็นหลัก เช่นที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ไว้ในลายพระหัตถ์ ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2483 ใจความตอนหนึ่งว่า

“…หอที่ตำหนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสนั้น หม่อมฉันจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่ามี ๒ หอต่อกัน คือ หอพระหอ ๑ กับหอทรงพระอักษรหอ ๑ เขาเล่าว่าเวลาค่ำพอเสร็จพระธุระอื่นแล้วสมเด็จพระปรมาฯ ท่านเสด็จเข้าหอทรงพระอักษรเสมอทุกคืน มหาดเล็กเอาหมากเสวย และน้ำร้อนน้ำเย็นไปตั้งถวายแล้วไปนอนได้ ด้วยท่านไม่ตรัสเรียกหาอะไรต่อไป ส่วนพระองค์ท่านทรงพระนิพนธ์หนังสือ เขียนลงในกระดานชะนวนอย่างโบราณ มีกำหนดแน่เป็นนิจว่าต้องทรงเขียนเต็ม ๒ หน้ากระดานชะนวนแล้วจึงเสด็จเข้าบรรทม เฉพาะฉะนั้นวันไหนแต่งคล่องก็บรรทมหัวค่ำ วันไหนติดขัดก็บรรทมดึก…” 

หลังจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์ ก็ไม่มีผู้ใดพำนักที่พระตำหนักวาสุกรีอีก ซึ่งเหตุผลอาจเป็นไปตามที่ พระเทพโสภณ อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน กล่าวไว้ว่า เพราะพระองค์มี 2 ฐานะ ฐานะหนึ่งเป็นพระสังฆราช และอีกฐานะหนึ่งเป็นเจ้า เมื่อสิ้นพระชนม์ก็ถือกันว่าเป็นตำหนักเจ้า ใครจะเข้าไปอยู่ไม่ได้ จึงต้องปิดไว้ 

พระตำหนักวาสุกรี นับเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่เพียงสะท้อนยุคทองของการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาของรัชกาลที่ 3 เท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่สำหรับคนรุ่นหลังที่จะศึกษาหาความรู้ได้ ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นักปราชญ์ นักคิด และนักการเมืองชื่อดังผู้ล่วงลับ กล่าวถึงความน่าสนใจของพระตำหนักนี้ไว้ว่า

ฐานะแรกของตำหนักคือกุฏิพระ ฐานะที่สองคือบ้านของกวี ซึ่งสามารถรักษาไว้ได้แห่งเดียวในประเทศไทย ขณะที่กวีเอกคนอื่นๆ อาทิ สุนทรภู่ แม้รู้บ้านช่อง แต่ก็รู้เพียงเลาๆ เพราะตัวบ้านสูญหายไปแล้ว และฐานะที่สามคือวังเจ้า เพราะนอกจากจะทรงอยู่ในเพศบรรพชิต ทรงเป็นกวี ก็ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ที่ประทับจึงต้องปลูกตามแบบแผนธรรมเนียมการสร้างวังเจ้านายชั้นพระเจ้าลูกเธอในสมัยโบราณ คือต้องมีตำหนักที่ประทับ และต้องมีท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกให้คนเฝ้า

“เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะสนใจในขนบธรรมเนียม ในการกวีหรือแม้แต่อย่างอื่น ตลอดจนสนใจในพระศาสนาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในทางศาสนา เราได้ครบที่ตำหนักกรมสมเด็จพระปรมาฯ นี้ เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่ควรจะรักษาไว้ด้วยดี แล้วก็ควรจะได้ร่วมมือกันทั่วไปในการรักษานั้น” 

เมื่อการท่องเที่ยวคือการเติมเต็มความสุขและสร้างประสบการณ์แสนประทับใจ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จึงจัดโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ฟรี! กระตุ้นการท่องเที่ยวยุคนิว นอร์มอล และตอบแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ด้วย 5 ทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ตามเส้นทางรถไฟฟ้า MRT 5 สถานี ตลอดปี 2565

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงกับทริปแรกอย่างสถานีวัดมังกรไปแล้ว คราวนี้ ‘Happy Journey with BEM’ จึงลุยต่อทริปที่ 2 สถานีสนามไชย ‘ประตูเชื่อมท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์’ วันที่ 7 พฤษภาคมนี้ เวลา 13.00-19.00 น. ชวนปักหมุดเช็กอินเที่ยวถิ่นประวัติศาสตร์ ที่ยังคงกลิ่นอายยุคกรุงศรีอยุธยา สืบทอดมาถึงยุครัตนโกสินทร์ กันแบบฟรีๆ! 

ประเดิมด้วยการรับฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์สนุกๆ ใน สเปเชียล ทอล์ก ‘ประตูเชื่อมท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์’ โดย รศ. ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ. ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ คุณอรรถพล นิลละออ เจ้าหน้าที่อาวุโสส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่จะมาให้ความรู้ตลอดทริปเส้นทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้

จากนั้นพาชม พิพิธภัณฑ์ใต้ดินแห่งแรกของไทย (Site Museum)  ที่อยู่ภายในบริเวณรถไฟฟ้า MRT สถานีสนามไชย แล้วไปเดินเล่นเกาะรัตนโกสินทร์ ชมความงดงามของ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร อาทิ วิหารพระนอน พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล พระตำหนักวาสุกรี ฯลฯ รับประทานอาหารเย็น พร้อมดื่มด่ำกับวิวแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ร้าน Eat Sight Story ปิดท้ายทริปด้วยความสุขเต็มพิกัด ด้วยการชม มิวเซียมสยาม ยามค่ำคืนแบบเอ็กซ์คลูซีฟ 

ผู้สนใจเข้าร่วม ‘Happy Journey with BEM’ ทริปที่ 2 สถานีสนามไชย ‘ประตูเชื่อมท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์’ วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.00-19.00 น. สามารถสมัครเพื่อร่วมลุ้นเป็นผู้โชคดีได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 27 เมษายน ที่เฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro 

อ้างอิง:

พระปฐมสมโพธิ ๓๐ ปริจเฉท พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ฉบับปริวรรตและตรวจสอบชำระจากคัมภีร์ใบลาน จัดพิมพ์เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมรัตนากร (สีนวล ปญฺญาวชิโร ป.ธ.๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๕ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน ๒๕๖๕ 

รายงานพิเศษ พระตำหนักวาสุกรี “บ้านกวี” แห่งแรกของไทย. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2533

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image