‘Happy Journey with BEM’…….รถไฟฟ้าขบวนแห่งความสุข ชวนน้องม.ปลาย เลาะรั้วจุฬา ลุยทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ 23 ก.ค. นี้ ฟรี! ตลอดทริป

เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย เราต่างออกมาใช้ชีวิตประจำวันกันตามปกติได้มากขึ้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกันจัดโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ กระตุ้นการท่องเที่ยว จัดเต็มความสุขให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ด้วย 5 ทริป สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ตลอดปี 2565 ชวน ‘เที่ยว-แวะ-แชะ-ชิม’ เปิดมุมมองใหม่ สัมผัสประสบการณ์ประทับใจกับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ตามเส้นทางรถไฟฟ้า 5 สถานี ได้แก่ สถานีวัดมังกร สนามไชย สามย่าน หัวลำโพง และอิสรภาพ แบบฟรีตลอดทริป

เพื่อสานต่อความสำเร็จอย่างล้นหลามใน 2 ทริปแรก คือ สถานีวัดมังกร และสถานีสนามไชย ล่าสุด รถไฟฟ้าขบวนแห่งความสุข ‘Happy Journey with BEM’ ชวนน้องๆ มัธยมศึกษาตอนปลาย ปักหมุดเดินทางไปด้วยกันใน ทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ วันที่ 23 กรกฎาคม 2565  เวลา 12.30-18.00 น. 

ชวนไปเตร็ดเตร่รั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา ที่ยืนหยัดคู่เมืองไทยผ่านกาลเวลามานับร้อยปี มหาวิทยาลัยในฝันของน้องๆ  ในรูปแบบแคมปัส ทัวร์ สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล เสาะส่องหาต้นไม้ทรงปลูก ค้นหาที่มาที่ไปกว่าจะมาเป็นจุฬาฯ ที่พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย เยี่ยมชมอาคารจักรพงษ์ ‘คลับเฮาส์’ ยุคแรกๆ ของสยามประเทศ 

พร้อมยลโฉมความงามของสถาปัตยกรรมในจุฬาฯ อาทิ หอประชุมจุฬาฯ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ อาคารมหาวชิราวุธ เป็นต้น ซึ่งทุกสถานที่ล้วนเต็มเปี่ยมด้วยประวัติความเป็นมา และสถาปัตยกรรมความงามน่าสนใจ ที่จะพาน้องๆ ทุกคนรับบทนิสิตภายในหนึ่งวัน และปิดท้ายแบบอิ่มท้องที่ร้าน CAFE’ TOREADOR ชิดขอบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

Advertisement

สถาบันการศึกษามากความสำคัญ

ก่อนสวมบทบาทนิสิต เราขอสวมบทไกด์ ชวนน้องๆ ศึกษาประวัติโดยคร่าวๆ ของจุฬาฯ กันสักนิด…

Advertisement

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าศตวรรษ มีเรื่องราวล้านความทรงจำของผู้คนที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนบนพื้นที่ภายในรั้วจามจุรี นับเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย ซึ่งถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2442 และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก ในปี 2445 เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความเป็นเมืองได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ภาคราชการและเอกชนต้องการบุคลากรทำงานในสาขาวิชาต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น รัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราช ที่จะ “ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2453

เวลาต่อมา พระองค์ทรงมีพระราชดำริขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงให้เข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งสมเด็จพระบรมชนกาธิราชให้เจริญก้าวหน้า กว้างขวางแผ่ไพศาลต่อไป 

ช่วงแรกจัดการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และต่อมาก็ได้ขยายคณะเพิ่มตามยุคสมัย จวบจนถึงปัจจุบันจุฬาฯ ยังคงมุ่งเน้น ส่งเสริมการค้นคว้า วิจัย การอนุรักษ์และสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม และการบริการทางวิชาการให้สังคม มีการจัดตั้งสถาบันวิจัย สถาบันบริการ ศูนย์ และสำนัก เพื่อให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัย เพื่อการวิจัยและพัฒนาตนเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ทุกวิถีทาง ให้สมกับเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป 

สเปเชียล ทอล์ก  “ร้อยเรื่องราวร้อยห้าปีจุฬาฯ”

เพื่อให้การเยือนรั้วจุฬาฯ ได้ทั้งความสนุกและได้ความรู้ภายในหนึ่งวัน  ‘Happy Journey with BEM’ จึงจัด สเปเชียล ทอล์ก  “ร้อยเรื่องราวร้อยห้าปีจุฬาฯ” เชิญชวนวิทยากรมากความสามารถ ที่คราวนี้จะเปลี่ยนบทบาทเป็นรุ่นพี่ มาถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจที่เกิดขึ้นในรั้วจามจุรี 

ทั้ง คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี  คุณณปสก สันติสุนทรกุล ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เด็กดี รวมถึง ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พ.ศ. 2562 ที่จะมาให้ความรู้ตลอดทริปการเดินทางเส้นทางประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล 

หลังจากรับฟังเรื่องราวความประทับใจจากรุ่นพี่อย่างเต็มอิ่ม เพื่อซึมซับความเป็นนิสิตจุฬาฯ ให้มากขึ้น รุ่นพี่จะพาน้องทุกคนร่วมสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ซึ่งเป็นอนุสรณ์ระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสร้างขึ้นในวาระครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 โดย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ  

อนุสรณ์สถานแห่งนี้ นับว่าเป็นสถานที่สำคัญสำหรับเหล่านิสิตจุฬาฯ ทุกคน เพราะเป็นดั่งจุดเริ่มต้นแห่งการใช้ชีวิตในรั้วจามจุรี ผ่านพิธีการถวายราชสักการะ และถวายสัตย์ปฏิญาณเข้าเป็นนิสิตใหม่ เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาตน พัฒนาชาติบ้านเมือง 

ต้นไม้ทรงปลูก

นอกจากการสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล อีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจบริเวณนี้คือ ต้นไม้ทรงปลูก ซึ่งใน พ.ศ. 2505 รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังจุฬาฯ พร้อมพระราชทานต้นจามจุรีแก่มหาวิทยาลัย จำนวน 5 ต้น ซึ่งพระองค์ทรงนำมาจากวังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกด้วยพระองค์เองบริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ 

รวมถึงยังได้พระราชทานพระราชดำรัสถึงความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ กับจามจุรี ว่า มีมานานตั้งแต่สร้างมหาวิทยาลัย ทรงเน้นย้ำว่า ดอกสีชมพูเป็นสัญลักษณ์สูงสุดอย่างหนึ่งของจุฬาฯ พระองค์ทรงเห็นว่าจามจุรีที่นำมานั้นโตขึ้น สมควรจะเข้ามหาวิทยาลัยเสียที

“จึงขอฝากต้นไม้ไว้ห้าต้นให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล”

ต้นจามจุรี เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่มีความผูกพันกับชาวจุฬาฯ ด้วยวัฏจักรของจามจุรีมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวจุฬาฯ กล่าวคือ มีสีเขียวชอุ่มให้ความสดชื่นในช่วงเวลาภาคต้นของการศึกษา เสมือนนิสิตปี 1 ที่ยังคงเริงร่าสนุกสนานกับการเป็นน้องใหม่ เมื่อเวลาผ่านไปในภาคปลายของการศึกษา ทั้งใบและฝักย้ำเตือนให้นิสิตเตรียมตัวสอบปลายปี มิฉะนั้นอาจจะต้องเรียนซ้ำชั้นหรือถูกไล่ออก 

อีกหนึ่งความสำคัญของต้นจามจุรี คือเรื่องเล่าว่า คนกรุงเทพฯ สมัยก่อนจะไปติดต่องานกับจุฬาฯ หรือนักเรียนที่จะไปสอบเรียนต่อสถาบันแห่งนี้ หากไปไม่ถูกจะได้รับคำแนะนำว่า ตรงไหนมีต้นจามจุรีมากตรงนั้นแหละจุฬาฯ ซึ่งในทริปนี้น้องๆ จะได้ร่วมค้นหากันว่า ปัจจุบันต้นไม้ทั้ง 5 ต้นเป็นอย่างไรกันบ้าง

Cr.https://www.chula.ac.th/museum/213/

ศึกษาที่มาที่ไป ณ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย

จากพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาลไม่ไกลนัก จะพบกับจุดหมายปลายทางถัดไป คือ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และเฉลิมฉลองในวาระแห่งการสถาปนาจุฬาฯ ครบ 100 ปี รวบรวมข้อมูลและจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับจุฬาฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น ‘ปัญญาของแผ่นดิน’ แหล่งรวบรวมความรู้และศาสตร์แขนงต่างๆ รวมถึงแหล่งรวมคณาจารย์ นักวิชาการ และนิสิตที่มีคุณภาพ ที่มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน

‘พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย’ จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและนิทรรศการถาวร นำเสนอในลักษณะ Modern and Narrative Museum เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ ได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ส่วน ชั้นแรก จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและผลงานศิลปะของนิสิตและบุคลากร ชั้นที่ 2 ‘ศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย’ จัดแสดงเรื่องราวความโดดเด่นด้านวิชาการแขนงต่างๆ ให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่พิเศษและแตกต่างของจุฬาฯ ชั้นที่ 3 ‘อุทยานจามจุรี’ นำเสนอข้อมูลทางกายภาพของพัฒนาการและเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย ในช่วงระยะเวลา 90 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย 

และชั้นไฮไลต์ ชั้นที่ 4 ‘100 เรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬาฯ’ ที่จะพาน้องๆ ม.ปลาย ไปร่วมค้นหาประวัติที่มาที่ไปของจุฬาฯ บุคคลสำคัญ รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างพัฒนาการของมหาวิทยาลัยกับพัฒนาการด้านต่างๆ ของสังคมไทย ในบทบาทการเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย ที่ได้สร้างองค์ความรู้ให้สังคม นำไปต่อยอดจนเกิดประโยชน์ในระดับชาติและระดับโลก

ชวนดู ตึกจักรพงษ์ ‘คลับเฮาส์’ ยุคแรก แห่งสยามประเทศ

ยังไม่หมด! เพราะเราจะชวนน้องๆ ไปสัมผัสกลิ่นอายสโมสรนิสิตเก่าแก่ ณ ตึกจักรพงษ์ ซึ่งเคยใช้เป็นสโมสรส่วนกลางของนิสิตและองค์การบริหารนิสิต หรือ ‘คลับเฮาส์’ ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง 

จุดเริ่มต้นของสโมสรนิสิตจุฬาฯ เกิดขึ้นเมื่อ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จพระราชดำเนินไปยังสหราชอาณาจักร เพื่อทรงสำรวจว่าจะทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยใด พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งตามเสด็จ ได้กราบทูลพระองค์ว่า ต้องการช่วยเหลืออาจารย์และนิสิตจุฬาฯ 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงพระราชทานคำแนะนำว่า ควรสร้างสโมสรสถาน ให้อาจารย์และนิสิตใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ และเล่นกีฬาในร่ม เพราะนิสิตไม่มีอาคารเพื่อกิจการดังกล่าวในช่วงเวลานั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ จึงประทานเงินจำนวนสองหมื่นบาทให้สร้างขึ้นในปี 2475 และเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระบิดาของพระองค์

ตึกจักรพงษ์เป็นสถานที่ให้นิสิตได้รวมตัวใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนให้เป็นประโยชน์ จัดตั้งสโมสรเพื่อให้เหล่านิสิตได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ทำงานร่วมกับคนอื่น การแก้ปัญหา การมีสายสัมพันธ์ดีๆ ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในคณะ และต่างคณะ รวมถึงเป็นสถานที่เชื่อมสมาคมในหมู่อาจารย์ นิสิตเก่า นิสิตใหม่ เข้าหากัน หรือแม้แต่เป็นสถานที่พักอาศัยของเหล่าเด็กกิจกรรม ที่ทำงานกันจนดึกดื่น ไม่ยอมกลับหอพัก 

ตึกจักรพงษ์จึงไม่เคยเงียบเหงา กลายเป็นสถานที่บ่มเพาะเหล่านักคิด นักทำอย่างแท้จริง  และล้วนมีผู้คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาอยู่เสมอ 

พ.ศ. 2528 เมื่อสโมสรได้ย้ายออกไปยังสถานที่แห่งใหม่ ตึกจักรพงษ์จึงได้เปลี่ยนหน้าที่ใหม่ เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของทรงคุณค่า และน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ ภายใต้ชื่อ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงจัดเก็บ เผยแพร่ และให้บริการข้อมูลในรูปแบบต่างๆ อาทิ จดหมายเหตุ วารสารภาพถ่าย ฟิล์มสไลด์ ฟิล์มภาพยนตร์ เทปบันทึกภาพ เทปบันทึกเสียง เพื่อเชิดชูเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัย และส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในเชิงประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัย

เยี่ยมชมแดนเทวาลัย 

มาถึงไฮไลต์เด็ดรั้วจามจุรีที่เชื่อว่า คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยผ่านถนนอังรีดูนังต์ ไม่ว่าจะเดินหรือนั่งรถ คงแอบคิดในใจว่าในรั้วจุฬาฯ มีวัดอยู่ จนเผลอยกมือไหว้ไม่มากก็น้อย

แต่แท้จริงแล้ว กลุ่มอาคารดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า เทวาลัย ประกอบด้วย อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ และ อาคารมหาวชิราวุธ 

เริ่มจาก อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ อาคารหลังแรกสุดของจุฬาฯ ผลงานการออกแบบของ ดร. คาร์ล โดริง (Dr. Karl Dohring) นายช่างชาวเยอรมัน ซึ่งรับราชการในกระทรวงมหาดไทย และ เอ็ดเวิร์ด ฮีลี (Mr. Edward Healey) นายช่างชาวอังกฤษ ซึ่งรับราชการในกระทรวงธรรมการ 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2456 เพื่อเป็นตึกบัญชาการของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคาร เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 โดยก่อนหน้านั้น สภากรรมการจัดการโรงเรียนได้ปรึกษาตกลงกันว่าจะให้สร้างอาคารเป็นแบบไทย จึงให้นายช่างทั้งสองไปศึกษาดูงานสถาปัตยกรรมแบบไทยโบราณ ที่สุโขทัยและสวรรคโลก แล้วมาคิดปรับเปลี่ยนเป็นแบบตึกของโรงเรียน

ต่อมาตึกบัญชาการนี้ใช้เป็นสำนักงานบริหาร และเป็นอาคารเรียนของคณะอักษรศาสตร์ และเปลี่ยนชื่อเป็น ตึกอักษรศาสตร์ 1 ปัจจุบันตึกบัญชาการมีชื่อว่า ‘อาคารมหาจุฬาลงกรณ์’ และกิจกรรมหลักที่จัดในอาคารนี้ คือ เป็นสถานที่จัดประชุม สัมมนา และรับรองอาคันตุกะของมหาวิทยาลัย จวบจนปัจจุบัน

หลังจากที่ตึกอักษรเดิมเริ่มคับแคบ จึงมีการสร้าง อาคารมหาวชิราวุธ หรือตึกอักษร 2 ขึ้น โดยก่อสร้างระหว่างปี 2496-2499 เพื่อใช้เป็นหอสมุดกลาง แทนสถานที่เดิม ซึ่งอยู่ในอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ผู้ออกแบบคือ ศาสตราจารย์บุญยง นิโครธานนท์ ซึ่งถอดแบบมาจากตึกอักษรศาสตร์ 1 และมีทางเดินเชื่อมต่อกันด้วย อีกทั้งยังมีห้องใต้ดินสำหรับเก็บหนังสือ และห้องใต้หลังคา ซึ่งมีหน้าจั่วเป็นกระจกสวยงาม เพื่อให้เหมาะแก่การใช้งานห้องใต้หลังคา แทนการก่อปิดทึบประดับลวดลายปูนปั้น 

ปัจจุบันอาคารมหาวชิราวุธ เป็นที่ตั้งของสำนักคณบดี สำนักงานเลขานุการคณะอักษรศาสตร์ สมาคมนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ ศูนย์เรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อให้นิสิตสามารถศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองจากสื่อโสตทัศน์ประเภทต่างๆ รวมถึงห้องโครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการคณะอักษรศาสตร์ อีกด้วย

ดื่มด่ำพูดคุยตามแบบฉบับนิสิต ณ Cafe’ Toreador

หลังจากซึมซับเรื่องราวภายในรั้วจุฬาฯ กันแบบแน่นๆ อิ่มๆ แล้ว ก็ปิดท้ายความประทับใจกับอาหารอร่อยๆ เครื่องดื่มชื่นใจ ในบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเอง ณ ร้าน คาเฟ โทเรโด้ (Cafe’ Toreador) ร้านอาหารและคาเฟ่ ข้างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มีที่นั่งทั้งอินดอร์รับแอร์เย็นๆ และพื้นที่เอาท์ดอร์ท่ามกลางสีเขียวร่มรื่น เป็นสถานที่รวมตัวของเพื่อนฝูง ที่เหล่านิสิตมักมาพบปะพูดคุยหมุนเวียนอยู่ในสถานที่แห่งนี้อยู่เสมอ เช่นเดียวกับทริปนี้ ที่ผู้ร่วมทริปจะได้พูดคุยกับรุ่นพี่ (วิทยากร) ระหว่างรับประทานอาหารก่อนกิจกรรมจะสิ้นสุดอย่างสนุกสนาน 

ตลอดเส้นทางที่เราเอ่ยถึง เป็นเพียงไฮไลต์ที่ผู้ร่วมทริปจะได้เข้าไปท่องโลกจามจุรีให้มากขึ้น เปรียบเสมือนอาหารจานเด็ดที่ไม่ควรพลาด แต่เชื่อว่าตลอดการท่องทริปในวันนั้น น้องๆ ทุกคนจะได้เรียนรู้ถึงเกร็ดประวัติต่างๆ ที่น่าสนใจระหว่างทาง ได้รู้จักตัวตนความเป็นจุฬาฯ มากขึ้นแบบคนวงใน ที่จะเปลี่ยนให้การเดินจุฬาฯ ในครั้งนี้ มีความหมายและสนุกจนอยู่ในความทรงจำที่มีค่ายากที่จะลืมเลือน 

น้องๆ ม.ปลาย ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ในทริป ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลา 12.30-18.00 น. สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ เฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro 

อ้างอิงเนื้อหาจาก www.chula.ac.th 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image