ทำความรู้จัก “ตึกจักรพงษ์ คลับเฮาส์ยุคแรกแห่งสยามประเทศ” กับกิจกรรมชวนน้องมัธยมเลาะรั้ว จุฬาฯ ‘Happy Journey with BEM’ ทริป 3 สถานีสามย่าน

โครงการดีๆ เที่ยวฟรี!! ‘Happy Journey with BEM’  ทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ ที่จัดโดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มอบความสุขให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ด้วยการจัดทริปชวนน้องมัธยมศึกษาตอนปลาย เดินเที่ยวในรั้วจามจุรี วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลา 12.30-18.00 น.

หนึ่งในไฮไลต์เด็ดของทริปนี้ คือการพาน้องๆ ไปสัมผัสกลิ่นอายสโมสรนิสิตเก่าแก่ ณ ตึกจักรพงษ์ ซึ่งเคยใช้เป็นสโมสรส่วนกลางของนิสิตและองค์การบริหารนิสิต หรือ ‘คลับเฮาส์’ (clubhouse) ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง 

ก่อนที่วัยรุ่นส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคำว่า ‘Clubhouse’ ในฐานะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่มีแนวคิดหลักง่ายๆ คือการเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้พบปะเพื่อนใหม่จากรอบโลก สร้างรูปแบบการสนทนาและปฏิสัมพันธ์ผ่าน ‘เสียง’ เป็นหลัก 

ในอีกความหมายหนึ่ง คลับเฮาส์เป็นคำที่มีความเป็นมายาวนาน ในฐานะการเป็น ‘สโมสร’ หรือสถานที่ที่เหล่านิสิตมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งในสโมสรก็มีพื้นที่ส่วนกลาง ประกอบไปด้วย ห้องอเนกประสงค์ ห้องประชุม สระว่ายน้ำ ห้องฟิตเนส ตามแต่กิจกรรมที่เหล่านิสิตต้องการ 

Advertisement

คลับเฮาส์จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของเหล่านักเรียนนักศึกษา ที่มาใช้เวลาหลังเลิกเรียนให้เกิดประโยชน์กับเพื่อนฝูง ซึ่งสโมสรรูปแบบนี้เกิดขึ้นแพร่หลายในโลกตะวันตก

ส่วนในไทย ถ้าให้พูดชื่อคลับเฮาส์ยุคแรก ต้องเป็นที่ ‘ตึกจักรพงษ์’ ในรั้วจุฬาฯ อย่างไม่ต้องสงสัย! 

Advertisement

ตึกจักรพงษ์ ที่บรรดานิสิตรุ่นเก่าๆ คุ้นเคยกันดี ในฐานะสโมสรไว้พบปะทำกิจกรรมร่วมกัน

ตึกจักรพงษ์ ตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล เป็นจุดเริ่มต้นของสโมสรนิสิตจุฬาฯ เกิดขึ้นเมื่อ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จพระราชดำเนินไปยัง สหราชอาณาจักร เพื่อทรงสำรวจว่า จะทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยใด โดยครั้งนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งตามเสด็จ ได้กราบทูลว่า ต้องการช่วยเหลืออาจารย์และนิสิตจุฬาฯ ให้มีสถานที่พบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงพระราชทานคำแนะนำว่า ควรสร้างสโมสรสถาน ให้อาจารย์และนิสิตใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ และเล่นกีฬาในร่ม เพราะช่วงเวลานั้นนิสิตไม่มีอาคารเพื่อทำกิจกรรมดังกล่าว พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ จึงประทานเงินจำนวน 20,000 บาท ให้สร้างขึ้นในปี 2475 และเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระบิดาของพระองค์ ไปในคราวเดียวกัน 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ตึกจักรพงษ์ได้กลายเป็นสถานที่ให้นิสิตได้รวมตัวใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีการจัดตั้งสโมสรต่างๆ ให้นิสิตได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ เรียนรู้การใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับคนอื่น รวมถึงเป็นสถานที่เชื่อมการสมาคมในหมู่อาจารย์ นิสิตเก่า นิสิตใหม่ เข้าหากัน หรือแม้แต่เป็นสถานที่พักอาศัยของเหล่าเด็กกิจกรรม ที่ทำงานกันจนดึกดื่น ไม่ยอมกลับหอพัก 

ตึกจักรพงษ์เป็นแหล่งรวมความทรงจำดีๆ มากมาย อย่างตอนหนึ่งในหนังสือจุฬาฯ จารึกบันทึกนิสิต ได้เขียนบอกเล่าถึงความรู้สึก และความผูกพันของเหล่านิสิตจุฬาฯ ที่มีต่อตึกนี้ว่า

“ตึกจักรฯ เป็นที่รวมของนักคิดนักทำอย่างแท้จริง เพราะว่าที่นี้เป็นที่ที่สร้างผู้นำขึ้นมามากมาย เห็นได้ชัดอย่างนายก อบจ. ออกไปจากที่นี่ก็ประสบความสำเร็จ ซึ่งการสำเร็จการศึกษากับการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมันคนละเรื่องกัน การเรียนเก่งได้เกรดดี ก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะสามารถที่จะได้ทำงานดีๆ ขณะเดียวกันนั้นต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างประกอบด้วย เพราะจริงๆ แล้วการที่รู้จักการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ทำงานร่วมกับคนอื่น การแก้ปัญหา มีสายสัมพันธ์ดีๆ ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ในคณะ ต่างคณะ เพราะการทำกิจกรรมที่ตึกจักรพงษ์ ทำให้ได้ทำงานร่วมกันเกือบจะทุกคณะ การมีเพื่อน มีพี่ มีน้องอยู่ทุกคณะ เมื่อถึงเวลาไปทำงาน มันเป็นสายสัมพันธ์ที่ทำให้เราได้รับโอกาสดีๆ จากตรงนี้อย่างมากเลย

“นอกจากนี้ ในเวลาที่ทำกิจกรรมจนดึกดื่น หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า เรามีโอกาสได้นอนค้างที่ตึกจักรพงษ์ ด้านหลังตึก สมัยก่อนนี้จะเป็นสระว่ายน้ำ มีรั้วรอบขอบชิด ตอนนี้ทุบไปแล้ว เมื่อก่อนดึกๆ การอาบน้ำมันลำบาก บางทีเราผู้ชายก็จะปีนรั้วลงไปว่ายน้ำ ก็ถือเป็นการอาบน้ำไปในตัว รู้สึกมันสุดยอดที่ได้อาบน้ำภายใต้แสงจันทร์ ก็เป็นบรรยากาศที่สนุกสนานช่วงหนึ่ง เป็นความทรงจำที่เราต่างก็ยังจำจนถึงทุกวันนี้”  พรหมฤทธิรงค์ มหัพพล นิสิตเก่าคณะนิเทศศาสตร์ ปี 2524 ถ่ายทอดไว้ 

ด้วยเหตุนี้ ตึกจักรพงษ์จึงไม่เคยเงียบเหงา กลายเป็นสถานที่บ่มเพาะเหล่านักคิด นักทำอย่างแท้จริง  และล้วนมีผู้คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาอยู่เสมอ 

พระเกี้ยวจำลองในตึกจักรพงษ์

จวบจนเมื่อ พ.ศ. 2528 เมื่อสโมสรย้ายออกไปยังสถานที่แห่งใหม่ ตึกจักรพงษ์จึงได้เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของทรงคุณค่า และน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ ภายใต้ชื่อ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

บริเวณชั้นบน เรียกว่าโถงเฉลิมพระเกียรติ ประดิษฐานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ (รูปเขียนเหมือนบุคคลจริงของพระมหากษัตริย์) พระบรมราชูปถัมภก แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกพระองค์ ในรูปแบบนิทรรศการถาวร รวมถึงจัดเก็บ เผยแพร่ และให้บริการข้อมูลในรูปแบบต่างๆ อาทิ จดหมายเหตุ วารสารภาพถ่าย ฟิล์มสไลด์ ฟิล์มภาพยนตร์ เทปบันทึกภาพ เทปบันทึกเสียง เพื่อเชิดชูเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัย และส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในเชิงประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัย

ภายในหอประวัติจุฬาฯ ที่จัดแสดงวัตถุมากคุณค่า

ปัจจุบัน หอประวัติจุฬาฯ เป็นหน่วยงานที่เก็บรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในมิติต่างๆ ของจุฬาฯ ทั้งที่เป็นวัตถุ ภาพถ่าย เอกสาร แผนที่ ไมโครฟิล์ม โดยนิสิต บุคลากร และผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ ยังมีส่วนจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่สมัยสถาปนา และยังมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจุฬาฯ อีกด้วย

นับเป็นโอกาสดีสำหรับน้องๆ ม.ปลาย ที่เข้าร่วมโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ทริปที่ 3 สถานีสามย่าน  ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ ที่จะได้สวมบทบาทเป็นนิสิตจุฬาฯ ไปเปิดประสบการณ์การ

เยี่ยมชมสถาบันอุดมศึกษามากประวัติศาสตร์ สร้างแรงบันดาลใจในการสอบเข้ารั้วมหาวิทยาลัยในฝัน 

นอกจากตึกจักรพงษ์ เรายังชวนน้องๆ เดินเที่ยวชมสถานที่ไฮไลต์อื่นๆ ที่บอกเลยว่า เปิดทุกจุดที่น่าสนใจให้เข้าชมเป็นการเฉพาะในทริปนี้! 

ทั้งสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ชมต้นจามจุรีทรงปลูก ค้นหาที่มาที่ไปและประวัติน่าสนใจ กว่าจะมาเป็นจุฬาฯ ที่พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย ลัดเลาะยลโฉมความงาม เสพประวัติของสถาปัตยกรรมแต่ละยุคสมัยในรั้วจุฬาฯ อย่าง หอประชุมจุฬาฯ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาวชิราวุธ และปิดท้ายความประทับใจแบบอิ่มท้อง กับบรรยากาศแสงยามเย็นที่ร้าน CAFE’ TOREADOR ที่สำคัญงานนี้ฟรีตลอดทริป! 

พิเศษสุด! เพราะ ‘Happy Journey with BEM’ เชิญศิษย์เก่าจุฬาฯ ที่น้องๆ ม.ปลาย คุ้นเคยเป็นอย่างดี มาร่วมพูดคุยอย่างเป็นกันเองในช่วงสเปเชียล ทอล์ก ทั้ง คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี  คุณณปสก สันติสุนทรกุล ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เด็กดี รวมถึง ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พ.ศ. 2562 ที่จะมาให้ความรู้ตลอดทริป

น้องๆ ม.ปลาย ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลา 12.30-18.00 น. สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มได้เลยที่ เฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro แล้วพบกัน! 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image