‘ผศ. ดร. พีรศรี โพวาทอง’ อาจารย์สถาปัตย์ จุฬาฯ ที่เชื่อว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่โบราณสถาน แต่คือประวัติศาสตร์มีชีวิต 

“มหาวิทยาลัยไม่ใช่โบราณสถาน เราไม่ได้จมอยู่กับอดีต อดีตเป็นฐานรากของมหาวิทยาลัย แต่เราก็ต้องมองไปถึงอนาคต เพราะฉะนั้น ทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของร่วมกันเหนือสถานที่แห่งนี้ มีโอกาสที่จะเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวของสังคมร่วมกัน ไม่ว่าจะเข้ามาเป็นนิสิต หรือแค่เข้ามาเดินเล่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ล้วนต้อนรับด้วยความยินดีเสมอ”

คือถ้อยความที่ ผศ. ดร. พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พ.ศ. 2562 ย้ำหนักแน่น 

‘จุฬาฯ’ ในความทรงจำของใครหลายคน อาจมีความหมายที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ชีวิต บ้างคิดถึงสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย   บ้างคิดถึงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เพราะมีอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เป็นปอดสีเขียวอยู่ใจกลางเมือง หรือหากผ่านไปผ่านมาบนถนนอังรีดูนังต์ เห็นเทวาลัยก็เข้าใจผิดคิดว่าตรงนั้นเป็นวัดก็มี! 

เพื่อพาทุกคนไปรู้จักจุฬาฯ ให้มากขึ้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จึงร่วมกันจัดโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ตอบแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ฟรี! โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นทริปที่ 3 ในชื่อ สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลา 12.30-18.00 น. ชวนน้องๆ นักเรียน ม.ปลาย ไปเที่ยวชมไฮไลต์สำคัญในจุฬาฯ สถานศึกษาที่ยืนหยัดคู่เมืองไทยผ่านกาลเวลามานับร้อยปี

Advertisement

หนึ่งในวิทยากรประจำทริป ที่จะมอบสาระความรู้ ความประทับใจ และความเพลิดเพลินให้ทุกคน ก็คือ ผศ. ดร. พีรศรี ซึ่งใช้ชีวิตในรั้วจุฬาฯ มาตั้งแต่ 5 ขวบ จนรู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้ก็คือบ้านหลังหนึ่งของเขาไปแล้ว 

จุฬาฯ ในความหมายของ ผศ. ดร. พีรศรี เป็นอย่างไร ติดตามได้จากเรื่องราวเหล่านี้ได้เลย 

Advertisement

ทำไมถึงหลงรักจุฬาฯ

ผมมีความผูกพันกับจุฬาฯ ตั้งแต่สมัยเรียนสาธิตจุฬาฯ ผมอยู่บนพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ก็เลยรู้สึกว่า สถานที่แห่งนี้คือบ้านของเรา ผนวกกับความที่เป็นอาจารย์สถาปัตย์ ก็ประทับใจในแง่ว่า เรามีผังที่เป็นระเบียบ มีอาคารสถานที่ที่มีระเบียบเรียบร้อย ตั้งแต่ถนน ตึกสูง ตึกเตี้ย ถูกจัดเรียงอย่างเป็นระบบ มีถนน มีฟุตบาท ที่เรียบร้อย รวมถึงมีความร่มรื่นจากต้นไม้น้อยใหญ่รอบมหาวิทยาลัย

รวมถึงความสะดวกสบาย อันเนื่องมาจากทำเลที่ตั้ง ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางของเมือง อย่างพื้นที่สยามสแควร์ ตอนเด็กวันไหนร้อนๆ หรืออยากหามุมสงบ ผมก็จะแวะเข้าไปหอสมุดกลาง เพื่อนั่งอ่านหนังสือตากแอร์ แต่ถ้าวันไหนเราอยากช้อปปิ้ง เราเดินข้ามไปถนนเดียว ก็พบกับห้างสรรพสินค้า พื้นที่แห่งนี้จึงมีกิจกรรมต่างๆ ให้เราเลือกสรร เลือกใช้ชีวิตมากมาย

จากสถาบันการศึกษาชานเมือง สู่การกลายเป็นเมือง 

ในแง่ความเก่าแก่ จุฬาฯ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ที่ผลิตบุคลากรมากความสามารถ ที่เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา 

แรกเริ่มเดิมทีเลย จุฬาฯ ถือกำเนิดจากแนวคิดที่ต้องการให้เป็นมหาวิทยาลัยแบบฉบับอังกฤษ ในลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่นอกเมือง ที่นิสิตนักศึกษาที่เข้ามาเรียน ต้องย้ายมาใช้ชีวิตในพื้นที่มหาวิทยาลัย มีหอพักใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสังคม แยกตัวออกมาจากเมือง เพื่อให้มีสมาธิจดจ่อกับการเรียนหนังสือ 

ทว่าพออยู่ไปสักพักหนึ่ง บริบทความเป็นเมืองเริ่มไหลบ่าอย่างรวดเร็วมาสู่พื้นที่บริเวณนี้ เริ่มจากด้านใต้ของมหาวิทยาลัย หรือถนนพระรามที่ 4 ย่านธุรกิจบางรัก สีลม สาทร ส่วนด้านเหนือทางถนนพระรามที่ 1 ก็ไปต่อกับแยกราชประสงค์ เพลินจิต สุขุมวิท เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยจึงตั้งอยู่ย่านธุรกิจสำคัญสองย่าน คือ สีลม-สาทร และย่านสุขุมวิท 

จากนั้น ความเจริญด้านการคมนาคมก็ตามมา นั่นคือการเกิดรถไฟฟ้า และ MRT ซึ่งท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงรอบรั้วจุฬาฯ พื้นที่แห่งนี้กลับไม่เคยหยุดนิ่งที่จะประสานและพัฒนา ควบคู่กับบริบทการกลายเป็นเมืองได้เป็นอย่างดี 

ระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า MRT สร้างความคึกคักให้จุฬาฯ อย่างไร

ช่วงชีวิตที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปเยอะมาก เหตุเพราะระบบการขนส่งมวลชน ที่เปลี่ยนทั้งวิธีการเข้าถึงพื้นที่ภายในเมืองให้สะดวกขึ้น รวมถึงทำให้เราเห็นพื้นที่เมืองในมิติใหม่ๆ ที่เราอาจไม่เคยสังเกต อาทิ สถานีรถไฟฟ้า MRT ที่ทางออกแต่ละจุด ทำให้เราเจอสถานที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน อีกส่วนหนึ่ง คือ เส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินก็ผ่านทั้งพื้นที่เมืองเก่า และพื้นที่เมืองใหม่ เพราะฉะนั้น มันมีบทบาทมากในการพาคนจากพื้นที่ปริมณฑล ที่อาจไม่ได้มีประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่เก่าแก่ เข้ามายังสถานที่มากประวัติศาสตร์อย่างย่านเมืองเก่า

ตัวอย่างเช่น พื้นที่กลางเมืองของเกาะรัตนโกสินทร์ เดิมทีก็มีชีวิตของมัน ที่เต็มไปด้วยหน่วยงานราชการต่างๆ แต่ด้วยวิธีการอนุรักษ์ในยุคหนึ่ง ทำให้เกิดการย้ายหน่วยงานราชการออกไปสู่พื้นที่นอกเขตตัวเมือง จนเกิดกระทรวงใหม่ รวมถึงศูนย์ราชการ 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดเพียงความเปลี่ยนแปลงเหนือพื้นที่ แต่ผลที่ตามมา คือ บริบทพื้นที่ในเมืองเกิดความร้างและเงียบเหงา พื้นที่ที่เคยอุดมไปด้วยคนทำงานนับหมื่นคนได้หายไป ส่งผลให้ผู้คนที่ประกอบธุรกิจร้านตัดผม ร้านทำรองเท้า ร้านอาหาร ได้รับผลกระทบตามมาด้วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เมืองเก่า 

แต่เมื่อรถไฟฟ้าใต้ดินเดินทางเข้ามาถึงพื้นที่เขตเมืองเก่า ก็ได้พลิกโฉมให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาบนพื้นที่ หรือในบริบทพื้นที่เมืองมากๆ กลายเป็นทางเลือกสำคัญในการเดินทางให้ประชาชนได้ใช้รถน้อยลง เมื่อพื้นที่ต่างๆ ภายในเมืองเดินทางสะดวก ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง เกิดการท่องเที่ยว เกิดชีวิตเหนือพื้นที่มากขึ้น 

เฉกเช่นเดียวกับพื้นที่ภายในจุฬาฯ เดิมทีไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่จุฬาฯ อยู่ในลักษณะชุมชน แม้จะไม่ใช่ชุมชนที่มีคนอยู่อาศัย แต่จะมีความคึกคักเฉพาะช่วงเปิดเทอม หรือวันธรรมดา ที่นิสิตเข้ามาเรียนหนังสือ 

เมื่อมีรถไฟฟ้า MRT สถานีสามย่าน ก็เกิดการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่จุฬาฯ กับผู้คน ผู้คนได้เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าในฐานะขนส่งมวลชน เข้ามาใช้พื้นที่ในรั้วมหาวิทยาลัยกันมากขึ้น ไม่เพียงแต่นิสิตหรือบุคลากร แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไป ที่เข้ามาใช้พื้นที่ออกกำลังกาย เข้ามาค้นคว้าหาความรู้ เข้ามาใช้บริการต่างๆ ของจุฬาฯ อย่างไม่ขาดสาย

รวมถึงการเกิดกิจกรรม ‘Happy Journey with BEM’ ในทริป ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีและสร้างสรรค์ ทำให้เราเห็นถึงการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชน มหาวิทยาลัย ชุมชน ได้เข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ประวัติศาสตร์ของสังคม ความเชื่อมโยงกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับพื้นที่ที่มีมาตลอด 100 กว่าปี   

พื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ที่ชื่อว่า ‘จุฬาฯ’

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของจุฬาฯ ต่อเมือง คือ การเป็นพื้นที่สีเขียว เราจะเห็นว่า ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยจะมีการรักษาพื้นที่สนาม รวมถึงอาคารสถานที่ต่างๆ และมีการปลูกต้นไม้เยอะขึ้นมาก หรือการมีอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ก็เป็นความพยายามของมหาวิทยาลัย ในการเพิ่มบทบาทการเป็นพื้นที่สีเขียวให้ชุมชนและเมืองโดยรอบ 

แม้ว่าอาจจะมีรั้วรอบขอบชิด แต่ประตูของเราจะเปิดอยู่เสมอทุกๆ เช้า เรายังคงเห็นผู้คนผลัดเปลี่ยนเข้ามาวิ่ง เข้ามาเดินภายในจุฬาฯ อย่างไม่ขาดสาย

สถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในรั้วจุฬาฯ มีจุดไหนบ้าง

ด้วยความที่มหาวิทยาลัยตั้งขึ้นตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ 6 อาคารต่างๆ จึงเปรียบเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมไทย ที่ยืนหยัดมากว่า 100 ปี 

ถ้าให้แนะนำตึกแรกเลย คงจะเป็นตึก ‘มหาจุฬาลงกรณ์’ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เดิมชื่อตึกบัญชาการ โดยสถาปนิกชาวอังกฤษชื่อนาย เอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Mr. Edward Healey) ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์หลายยุคหลายสมัยเข้าด้วยกันอย่างน่าสนใจ แต่มีโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทันสมัย ออกแบบโดยนายเอมิลิโอ กอลโล (E. G. Gollo) วิศวกรชาวอิตาเลียน

พอมาอีกยุค ก็เป็นสมัยรัชกาลที่ 7 ยุคดังกล่าวเราเริ่มมีสถาปนิกไทยรุ่นแรกชื่อ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ คนไทยคนแรกที่ได้ไปเรียนวิชาสถาปัตยกรรมที่อังกฤษ และกลับมาทำงานทดแทนการจ้างสถาปนิกชาวอังกฤษหรืออิตาเลียน มีผลงานสำคัญอย่างหอประชุม จุฬาฯ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 8 ก็นับเป็นตึกสมัยใหม่ ฟังก์ชันสมัยใหม่ ภายในเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ แต่ภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย 

พอมาสมัยรัชกาลที่ 9 เราก็เริ่มมีสถาปนิกไทย ที่สำเร็จการศึกษาที่จุฬาฯ แล้วก็เริ่มประกอบวิชาชีพ มีอาคารสำคัญคือ ‘ศาลาพระเกี้ยว’ ซึ่งเป็นสโมสรนิสิตหลังหนึ่ง และก็เป็นอาคารที่มีลักษณะเป็นทรงจั่ว มีแนวคิดสร้างให้เป็นศาลาอเนกประสงค์ มีหลังคาใหญ่ มีพื้นที่ข้างในโล่ง ใช้จัดกิจกรรมได้หลากหลายร่วมสมัย ใช้วัสดุโครงสร้างสมัยใหม่ แต่มีความเป็นไทยในรูปทรงหลังคาจั่ว ที่ลดทอนลงมาก และหากดูจากด้านบนจะพบว่า เป็นรูปพระเกี้ยววางอยู่บนหมอน เป็นต้น

ความพิเศษของ ‘Happy Journey with BEM’ ทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ คืออะไร

การมาเดินเที่ยวชมจุฬาฯ ในทริปนี้ ผมอยากให้ทุกคนได้รับรู้ประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นฉากหลังของเรื่องราวทั้งหมด ที่เกิดขึ้นในสังคมในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ถ้าเรามาเดินเอง เราอาจเห็นเพียงแค่อาคารและสถานที่ เราก็เห็นตึกและต้นไม้ว่ามันสวยดี แต่เราอาจยังไม่รู้จักเบื้องลึกเบื้องหลังของอาคารสถานที่ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสถานที่ 

การเดินทางในทริป ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ จะทำให้ทุกคนเห็นว่า สถานที่ต่างๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร ตั้งแต่พื้นที่ก่อนจะมาเป็นจุฬาฯ ระบบถนน ที่ถูกจัดวางตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อาคารเรียนต่างๆ ที่ถือกำเนิดขึ้น จนเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 เขาวางผังอย่างไร มีพัฒนาการอย่างไร จนเดินทางมาถึงรัชกาลที่ 9 ยุคสมัยที่เกิดตึกสูง อาคารเก่ากลายเป็นอาคารอนุรักษ์ ซึ่งทั้งหมดคือเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัย ที่เกิดขึ้นควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยรอบ 

มหาวิทยาลัยไม่ใช่โบราณสถาน เราไม่ได้จมอยู่กับอดีต อดีตเป็นฐานรากของมหาวิทยาลัย แต่เราก็ต้องมองไปถึงอนาคต เพราะฉะนั้น ทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของร่วมกันเหนือสถานที่แห่งนี้ มีโอกาสที่จะเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวของสังคมร่วมกัน ไม่ว่าจะเข้ามาเป็นนิสิต หรือแค่เข้ามาเดินเล่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ล้วนต้อนรับด้วยความยินดีเสมอ

เรื่องราวทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรักและความผูกพันของ ผศ. ดร. พีรศรี โพวาทอง ที่มีต่อจุฬาฯ ที่เขาพร้อมจะถ่ายทอดเรื่องเล่าและเกร็ดความรู้ต่างๆ ในรั้วจามจุรีแห่งนี้ ให้น้องๆ นักเรียน ม.ปลาย ได้รับรู้ไปด้วยกัน 

น้องๆ ม.ปลาย ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ วันที่ 23 กรกฎาคม 2565เวลา 12.30-18.00 น. สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ เฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image