‘Happy Journey with BEM’ ทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ชวนดูไฮไลต์ ‘ต้นจามจุรี’ รัชกาลที่ 9 ทรงปลูก ในรั้วจุฬาฯ

‘ต้นจามจุรี’ เป็นต้นไม้ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าใครได้เข้าไปในรั้วจุฬาฯ แล้วล่ะก็ เป็นต้องเห็นต้นจามจุรีเรียงตัวให้ความร่มรื่น ทั้งยังให้ความสดชื่นสบายตาอีกด้วย 

และหากใครสังเกตดีๆ ที่นี่มีต้นจามจุรี ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูก นับเป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวจุฬาฯ อย่างยิ่ง และเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ ที่ ‘Happy Journey with BEM’  ทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ จัดโดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จะพาผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ซึ่งเป็นน้องๆ นักเรียนชั้น ม.ปลาย ไปชมกันอย่างใกล้ชิด ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ 

จามจุรีศรีจุฬาฯ

ต้นจามจุรี มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘จามจุรีแดง’ หรือ Rain Tree ซึ่งน่าจะมาจากนิสัยของต้นไม้ชนิดนี้ ที่โตเร็วผิดกับต้นไม้อื่นๆ คือเมื่อฤดูฝนผ่านไปครั้งหนึ่ง ต้นไม้นี้จะโตขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นไม้ผลัดใบโตเร็ว เรือนยอดแผ่กว้างคล้ายรูปร่ม สูงได้กว่า 25 เมตร ทรงพุ่มขยายได้กว่า 30 เมตร เปลือกสีดำ มีดอกบานสีชมพู ซึ่งเป็นสีของเกสรตัวผู้ โดยจะออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม

Advertisement

ในอดีต ตลอดถนนพญาไทมีต้นจามจุรียาวทั้ง 2 ฝั่ง ดังนั้นเวลาใครจะมาจุฬาฯ แล้วมาไม่ถูก ผู้ที่เคยมาแล้วจึงมักบอกว่า ให้ดูถนนที่มีต้นจามจุรีขึ้นเรียงรายอยู่มากๆ ถ้าเจอแล้วก็ใช่เลย! ถึงจุฬาฯ แน่ๆ ต่อมาเมื่อมีคณะต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ต้องสร้างตึกใหม่เพื่อรองรับการเรียนการสอน ต้นจามจุรีจำนวนมากจึงถูกโค่นทิ้ง ถึงอย่างนั้นก็ยังมีพอให้เห็นอยู่บ้าง 

ความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ กับต้นจามจุรี มีมาอย่างยาวนาน อย่างในปี 2490 กิจกรรมรับน้องใหม่ของจุฬาฯ เริ่มมีการนำก้านใบจามจุรีมาทำเป็นมาลัย และใช้ใบโปรยปรายต้อนรับน้องใหม่ หรือเมื่อนักกีฬาของมหาวิทยาลัยลงแข่งแล้วได้ชัยชนะกลับมา ก็จะได้รับมาลัยใบจามจุรีเป็นรางวัลเพิ่มด้วย อีกทั้งจามจุรียังเป็นชื่อทีมฟุตบอลที่แข่งขันถ้วยต่างๆ ของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.) และสโมสรนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ซึ่งสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้น

Advertisement

ต้นจามจุรีภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ที่มา หอประวัติจุฬาฯ (https://www.chula.ac.th/about/symbols/rain-tree/

ต้นจามจุรี จึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของจุฬาฯ และเป็นที่มาของบทเพลง ‘จามจุรีศรีจุฬาฯ’ ที่ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ได้สังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงของต้นจามจุรีว่า จะออกดอกช่วงปลายปีการศึกษา และฝักจะหล่นช่วงกลางปีการศึกษา จึงได้นำธรรมชาติของต้นจามจุรีมาบอกเล่าชีวิตนิสิตจุฬาฯ ที่สีเขียวชอุ่มให้ความสดชื่นในภาคต้น ส่วนภาคที่สองทั้งใบและฝักจะคอยเตือนให้รีบดูหนังสือเตรียมตัวสอบปลายปี พร้อมบรรจุทำนองอันไพเราะของครูเอื้อ สุนทรสนาน จนเกิดเป็นบทเพลงแรกของจุฬาฯ ที่กล่าวถึงต้นจามจุรี 

ต้น ‘จามจุรี’ ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงปลูก

เนื่องจากจามจุรีเป็นไม้กิ่งเปราะหักง่าย ยามมีลมฟ้าฝนจึงหักมาทับถนน ฝักที่แก่ก็ร่วงหล่นลงพื้น ทำให้ถนนสกปรกและไม่สะอาด อีกทั้งด้วยความเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัย ทำให้จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพื่อสร้างอาคาร จึงเริ่มมีการโค่นต้นจามจุรี ด้วยเหตุนี้ ช่วงปี 2480-2500 ประชากรต้นจามจุรีในจุฬาฯ จึงลดลงอย่างน่าใจหาย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ ทุกปี ทรงสังเกตถึงต้นจามจุรี ที่ลดจำนวนลงเรื่อยๆ 

ในวันที่ 15 มกราคม ปี 2505 พระองค์จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังจุฬาฯ เพื่อพระราชทานต้นจามจุรีแก่มหาวิทยาลัย จำนวน 5 ต้น ซึ่งทรงนำมาจากวังไกลกังวล อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ และทรงปลูกด้วยพระองค์เอง บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ ฝั่งด้านสนามฟุตบอล ด้านขวา จำนวน 3 ต้น และด้านซ้ายจำนวน 2 ต้น

นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำรัสถึงความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ กับต้นจามจุรีว่า มีมานานตั้งแต่สร้างมหาวิทยาลัย ทรงเน้นว่า ดอกสีชมพูเป็นสัญลักษณ์สูงสุดอย่างหนึ่งของจุฬาฯ และทรงเล่าอย่างสอดแทรกพระราชอารมณ์ขันว่า ทรงปลูกต้นไม้ที่พระตำหนักในวังไกลกังวล ต้นจามจุรีงอกขึ้นบริเวณต้นไม้ที่ทรงปลูกไว้ จึงถือว่าทรงปลูกจามจุรีเหล่านั้นด้วย และเมื่อจามจุรีโตขึ้นแล้วเห็นว่า ควรเข้ามหาวิทยาลัยเสียที 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังจุฬาฯ เพื่อทรงปลูกต้นจามจุรี : ที่มา หอประวัติจุฬาฯ
(https://www.facebook.com/MemorialHallOfChulalongkornUniversity/photos/138241466334599

“วันนี้มาปลูกต้นไม้ ไม่มาทำอะไรอย่างอื่น แต่ต้นไม้นี่สำคัญ สำคัญจริง ๆ คือว่าทราบดีว่าต้นไม้นี่ชื่อว่าจามจุรี ก้ามปูนี่ก็เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนี้ ก็ได้นำมาห้าต้น ห้าต้นนี้ได้เลี้ยงตั้งแต่เกิดคือว่าปีที่แล้วไปที่หัวหินแล้วก็ปลูกต้นไม้ พวกนี้ก็เกิดมาด้วย เมื่อเกิดมาแล้วสงสาร ก็ต้องเลี้ยง เลี้ยงจนเติบโตพอควรก็เห็นว่าโตแล้ว ควรเข้ามหาวิทยาลัยเสียที แล้วก็มหาวิทยาลัยที่เหมาะสมกับที่นี่ เพราะว่าเขาเอ็นดูต้นจามจุรี

ก็เชื่อว่าต้นไม้ทั้งห้าต้นนี้ นิสิตทั้งหลายคงรักษาไว้ให้เติบโต ไม่ให้ล้มตาย คือต้นไม้พวกนี้ ก็คงจะเป็นความสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยต่อไป…

…ฝากต้นไม้ไว้ให้ห้าต้น ให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 15 มกราคม ปี 2505 ครั้งทรงมาปลูกต้นจามจุรีที่จุฬาฯ

ต่อมา เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบรอบ 50 ปี จุฬาฯ จึงตกแต่งลานรอบต้นจามจุรีพระราชทาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก ซึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดลานจามจุรีพระราชทาน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ปี 2539

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 15 มกราคม ปี 2505 ครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นจามจุรี ที่จุฬาฯ : ที่มา หอประวัติจุฬาฯ
(https://www.facebook.com/MemorialHallOfChulalongkornUniversity/photos/138324459659633

มาถึงปี 2565 ต้นจามจุรีทรงปลูกทั้ง 5 ต้น ยังคงแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาและความร่มรื่นแก่ชาวจุฬาฯ ทั้งยังชวนให้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งนับเป็นโอกาสดี ที่น้องๆ ม.ปลาย ที่เข้าร่วมโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ทริปที่ 3 สถานีสามย่าน  ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ จะได้ชมต้นจามจุรีทรงปลูกนี้อย่างใกล้ชิด

เท่านั้นไม่พอ น้องๆ ยังจะได้เดินเที่ยวชมสถานที่ไฮไลต์อื่นๆ ที่บอกเลยว่า จัดมาแบบเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับทริปนี้โดยเฉพาะ! ทั้งสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ชมตึกจักรพงษ์ ศาลาพระเกี้ยว พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย อาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาวชิราวุธ พร้อมปิดท้ายความประทับใจแบบอิ่มท้องยามเย็น ที่ร้าน CAFE’ TOREADOR ติดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ 

พิเศษสุด! เพราะ ‘Happy Journey with BEM’ เชิญศิษย์เก่าจุฬาฯ ที่น้องๆ ม.ปลาย คุ้นเคยเป็นอย่างดี มาร่วมพูดคุยอย่างเป็นกันเองในช่วงสเปเชียล ทอล์ก ทั้ง คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี  คุณณปสก สันติสุนทรกุล ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เด็กดี รวมถึง ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พ.ศ. 2562 ที่จะมาให้ความรู้ตลอดทริป

แล้วพบกัน วันที่ 23 กรกฎาคมนี้! 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image