‘Happy Journey with BEM’ ทริปสถานีสามย่าน เติมแรงบันดาลใจให้น้องๆ ผ่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ 

รถไฟฟ้าขบวน ‘Happy Journey with BEM’ ส่งมอบความสุขถึงจุดหมายปลายทาง ทริปที่ 3 สถานี สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ ได้อย่างน่าประทับใจ! เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 

เพื่อสานต่อความสำเร็จอย่างล้นหลามในสองทริปแรก คือ สถานีวัดหัวมังกร และ สถานีสนามไชย ที่ชวนเที่ยว แวะ แชะ ชิม สถานที่ไฮไลต์ต่างๆ โดยรอบสถานีรถไฟฟ้า MRT ทั้งสองสถานี มาคราวนี้ ‘Happy Journey with BEM’ ชวนน้องๆ มัธยมศึกษาตอนปลาย ปักหมุดเดินเที่ยวในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยในฝันของน้องๆ  ในรูปแบบแคมปัส ทัวร์ สถาบันการศึกษา ที่ยืนหยัดคู่เมืองไทยผ่านกาลเวลามานับร้อยปี โดยบรรยากาศการจัดกิจกรรมถือว่าอัดแน่นไปด้วยความรู้ อิ่มเอมไปด้วยความสุข ภายใต้มาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด อาทิ การตรวจ ATK เป็นต้น 

จากซ้าย: คุณณปสก คุณครูสมศรี และ ผศ.ดร. พีรศรี ในช่วงสเปเชียล ทอล์ก

Advertisement

พบปะรุ่นพี่ ฟังเรื่องเล่าความประทับใจ 

เพื่อเติมเต็มแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ และให้กำลังใจน้องๆ ม.ปลาย ในการเตรียมสอบเข้าเรียนต่อจุฬาฯ กิจกรรมแรกก่อนพาทุกคนไปเยือนรั้วจุฬาฯ ให้ได้ทั้งความสนุกและความรู้ ‘Happy Journey with BEM’ จึงจัด สเปเชียล ทอล์ก  ‘ร้อยเรื่องราว ร้อยห้าปีจุฬาฯ’ เชิญวิทยากรมากความสามารถ ที่ล้วนเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ มาถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจที่เกิดขึ้นในรั้วจามจุรี 

ทั้ง คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี และติวเตอร์ในโครงการ ‘MRT พาน้องพิชิต TCAS 14 by BEM’ คุณณปสก สันติสุนทรกุล ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เด็กดี  ร่วมกับ ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พ.ศ. 2562 

Advertisement

“เราไม่ได้มีเงินไปเรียนเมืองนอก แต่ก็ได้เรียนกับครูอาจารย์ ที่เป็นถึงระดับศาสตราจารย์ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งการศึกษาเล่าเรียนนี้เองช่วยหล่อหลอมให้เราได้มีความรู้ และเติบโตเป็นอารยชน จนนำความรู้ที่ได้ไปช่วยเหลือประชาชน และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ดังคำกล่าวที่ว่า ‘เกียรติภูมิจุฬาฯ คือ เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน’ ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เราอยากได้ความรู้ เพื่อไปรับใช้ประชาชนต่อไป” คุณครูสมศรีบอกอย่างภาคภูมิใจ 

ด้าน คุณณปสก ก็เล่าถึงชีวิตในรั้วสถาปัตย์ฯ ว่า สมัยเรียนมัธยมเป็นเด็กเก่งด้านศิลปะคนหนึ่ง แต่เมื่อเข้ามาเรียนปี 1 ได้เจออาจารย์และเพื่อนร่วมคณะที่เก่งมากๆ จึงกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ตั้งใจเรียนมากขึ้น

“สถานที่ภายในจุฬาฯ มีความน่าสนใจ และมีสิ่งแปลกใหม่ให้คอยติดตามอยู่เสมอ ที่สำคัญ คือ จุฬาฯ มีการพัฒนาที่รวดเร็ว ทำให้เกิดความน่าตื่นตาตื่นใจ และมีความสนุกสนาน ตลอดช่วงเวลาที่ได้เล่าเรียนในสถานที่แห่งนี้” 

ปิดท้ายด้วยภาพความเปลี่ยนแปลงของจุฬาฯ และพัฒนาการเมือง ที่ ผศ.ดร. พีรศรี บอกเล่าถึงความเจริญของเมืองว่า มีส่วนสำคัญที่ทำให้จุฬาฯ เกิดความเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมอยู่เสมอ เมื่อความเป็นเมืองนี้ได้เริ่มไหลบ่าอย่างรวดเร็วมาสู่พื้นที่มหาวิทยาลัย ทำให้วิถีชีวิตของชาวจุฬาฯ รวมถึงอาคารสถานที่ภายในมหาวิทยาลัย มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากขึ้น

“การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของจุฬาฯ คือ การเกิดรถไฟฟ้าทั้ง 2 ประเภท ได้แก่ รถไฟฟ้า BTS ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ และรถไฟฟ้า MRT ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของมหาวิทยาลัย ทำให้การเดินทางเข้ามายังมหาวิทยาลัยเกิดความสะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้น”

ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่ออกแบบอย่างโดดเด่นจนคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้ว 

ค้นหาความประทับใจในห้องสมุดรางวัลระดับโลก

เมื่อสเปเชียล ทอล์ก จบลง ทริปการเดินทางค้นหาความประทับใจของน้องๆ จึงเริ่มต้นขึ้น แต่ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล เพราะสถานที่เช็กอินที่แรก ก็คือสถานที่จัดสเปเชียล ทอล์ก นั่นเอง 

ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดดเด่นด้านงานโครงสร้าง ที่ชวนให้ตื่นตาตื่นใจ นำเสนอความงามจากสัจจะวัสดุที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ และความคิดสร้างสรรค์ ให้ผู้มาเยี่ยมเยือน จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 หมวด Library : Best of Year Awards 2019 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2562 ที่ศูนย์การประชุมเจคอบ เค. จาวิตส์ เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

คุณณปสก หนึ่งในวิทยากรช่วงสเปเชียล ทอล์ก และในฐานะศิษย์เก่าคณะนี้ ก็ได้ร่วมเดินทางชื่นชมความงาม และความเปลี่ยนแปลงของคณะ แล้วพูดถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมกิจกรรมทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ครั้งนี้ว่า 

“กิจกรรมในวันนี้เต็มไปด้วยความอบอุ่นคึกคักเกินคาด มีน้องๆ ให้ความสนใจมาร่วมทริปกับเราค่อนข้างมาก ซึ่งหลายคนเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นสนใจเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี 

“นับว่า Happy Jouney with BEM เป็นกิจกรรมที่ดีและสร้างสรรค์ เพราะในทุกสถานที่ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ ในบางครั้งสถานที่เหล่านี้เป็นเพียงทางผ่าน แต่การเดินทางท่องเที่ยวของ Happy Jouney with BEM กลับสามารถเชื่อมโยงร้อยเรื่องราวของสถานที่เข้ากับการทัวร์แคมปัส สามารถเชื่อมโยงผู้คน และชุมชนเข้าหากัน ได้เรียนรู้วิถีชีวิตเหนือพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ” 

เย็นชื่นใต้ร่มเงา ‘ต้นจามจุรีทรงปลูก’

จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ห่างไปไม่กี่ร้อยเมตรคือ พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย

อนุสรณ์สถานแห่งนี้ นับว่าเป็นสถานที่สำคัญสำหรับเหล่านิสิตจุฬาฯ ทุกคน เพราะเป็นดั่งจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตในรั้วจามจุรีก็ว่าได้ ผ่านพิธีการถวายราชสักการะบริเวณสนามหญ้าด้านหน้า ซึ่งนอกจากจะใช้ในเชิงพิธีการแล้ว ในเวลาปกติ ก็ยังเป็นสถานที่เล่นกีฬาของบรรดานิสิตอีกด้วย 

นอกจากนั้นน้องๆ ยังได้ร่วมรับฟังเรื่องราวสุดแสนประทับใจจาก ผศ.ดร. พีรศรี ซึ่งเป็นวิทยากรให้ความรู้ตลอดทริปนี้ อย่างเรื่อง ‘ต้นจามจุรีทรงปลูก’ 5 ต้น ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกด้วยพระองค์เอง บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ 

พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสถึงความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ กับต้นจามจุรีว่า มีมานานตั้งแต่สร้างมหาวิทยาลัย ทรงเน้นย้ำว่า ดอกสีชมพูเป็นสัญลักษณ์สูงสุดอย่างหนึ่งของจุฬาฯ พระองค์ทรงเห็นว่าจามจุรีที่นำมานั้นโตขึ้น สมควรจะเข้ามหาวิทยาลัยเสียที

“จึงขอฝากต้นไม้ไว้ห้าต้นให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล”

มหาวิทยาลัย ที่จัดแสดงเรื่องราวน่าสนใจของจุฬาฯ 

กระตุ้นความใฝ่รู้ผ่านพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย

หากอยากทราบเรื่องราวของจุฬาฯ คงไม่มีที่ไหนจะรวบรวมเกร็ดประวัติของสถานที่แห่งนี้ได้ดีไปกว่า พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย แหล่งรวบรวมข้อมูลและจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับจุฬาฯ ที่สะท้อนความเป็นมาของปัญญาแผ่นดิน ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ในรูปแบบนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน ในลักษณะ ‘Modern and Narrative Museum’ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ซึ่งน้องๆ ทุกคน ได้เข้าไปค้นหา ‘100 เรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬาฯ’ เรื่องราวตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัย จนกลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในฝันของใครหลายคน 

หลังชมพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยแล้ว กลุ่มน้องๆ ตัวแทนจากโรงเรียนสารสาสน์วิเทศศึกษา ได้เล่าถึงความรู้สึก ที่ได้มาร่วมกิจกรรม ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ ว่า

“รู้จักโครงการ Happy Journey with BEM จากการที่คุณครูแนะแนวที่โรงเรียนแนะนำมาว่า ให้ลองไปสัมผัสบรรยากาศของมหาวิทยาลัยดูสักครั้ง ก่อนเข้าเรียนจริง เมื่ออ่านรายละเอียดของโครงการจึงเกิดความสนใจ และอยากร่วมสมัครเข้ามาค้นหาความเป็นจุฬาฯ ภายในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะอยากศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 

“เมื่อได้มาสัมผัสบรรยากาศภายในรั้วมหาวิทยาลัย ได้มามองเห็นตึกคณะอักษรฯ ด้วยตัวเอง ก็รู้สึกอยากเรียนต่อที่จุฬาฯ มากขึ้น เพราะบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นเป็นกันเอง มีต้นไม้ที่ร่มรื่น รวมถึงได้รับความรู้ และเกร็ดประวัติเรื่องราวต่างๆ ของจุฬาฯ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน” 

เยี่ยมชม ‘ตึกจักรพงษ์’ สโมสรสถานเก่าเคล้าประวัติศาสตร์

‘Happy Journey with BEM’ พาน้องๆ ไปต่อกันที่ ตึกจักรพงษ์ เพื่อซึมซับกลิ่นอายวิถีชีวิตของรุ่นพี่เมื่อหลายสิบปีก่อน 

ที่นี่สร้างขึ้นในปี 2475 เพื่อเป็นสโมสรส่วนกลางของนิสิตและองค์การบริหารนิสิต เพราะฉะนั้นตึกจักรพงษ์จึงเป็น ‘คลับเฮาส์’ ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง ต่อมาได้เปลี่ยนบทบาทการใช้งานเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของทรงคุณค่า และน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ ภายใต้ชื่อ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ภายในประดิษฐานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ (รูปเขียนเหมือนบุคคลจริงของพระมหากษัตริย์) พระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกพระองค์ โดยจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการถาวร พร้อมวัตถุล้ำคุณค่าอย่างอื่นๆ เช่น พระเกี้ยวจำลอง สัญลักษณ์ของจุฬาฯ ซึ่งน้องๆ ต่างเดินชมด้วยความสนใจ พร้อมรับฟังเรื่องราว เกร็ดสนุกๆ ของบรรดารุ่นพี่ ที่สร้างวีรกรรมกันไว้ที่นี่อย่างเพลิดเพลิน 

จัตตุมงคล เกื้อเส้ง นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หนึ่งในผู้ร่วมทริป เผยความรู้สึกตลอดการเดินแคมปัสทัวร์ ในครั้งนี้ว่า

“หลังจากได้เห็นโครงการ Happy Journey with BEM ผ่านเฟซบุ๊กของศิลปวัฒนธรรม เมื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ผมเห็นว่าเป็นการท่องเที่ยวจุฬาฯ เชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยส่วนตัวผมเป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งผมคิดว่าจุฬาฯ กับเตรียมฯ มีประวัติที่สืบเนื่องกันมาโดยตลอด จึงอยากทราบประวัติของจุฬาฯ ให้มากขึ้น 

“เมื่อเกิดกิจกรรมที่เราสามารถท่องเที่ยว พร้อมมีวิทยากรให้ความรู้ตลอดการเดินทาง คิดว่าคงเป็นเรื่องที่ดี และคงได้ประโยชน์กลับไป และอาจจะได้พบประวัติที่เกี่ยวข้องกับประวัติของโรงเรียนไปประดับความรู้ เพิ่มมุมมอง และเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้กว้างขึ้น 

“พอมาร่วมทริปจริงๆ ก็ยิ่งรู้สึกดีมากขึ้น เพราะนอกจากจะตรงตามจุดประสงค์ที่ตั้งใจจะมาในตอนแรก ยังได้รับความสนุกเสริมด้วยระหว่างการท่องเที่ยวในครั้งนี้”

‘เทวาลัย’ ที่มีความเป็นมานับร้อยปี 

เข้าสู่แดนเทวาลัย

เดินทางมาถึงสถานที่ไฮไลต์ ที่น้องๆ หลายคนให้ความสนใจเป็นพิเศษ นั่นก็คือ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ และ อาคารมหาวชิราวุธ เพื่อชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรม และฟังเรื่องราวประวัติกว่าจะมาเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาฯ ที่สร้างขึ้นในปี 2456 และปี 2496-2499 ตามลำดับ 

ชาวจุฬาฯ เรียกขานทั้ง 2 อาคารรวมกันว่า ‘เทวาลัย’ เดิมใช้เป็นอาคารเรียน ต่อมามีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดประชุม สัมมนา รับรองอาคันตุกะ และเป็นที่ตั้งสำนักงานต่างๆ ของคณะอักษรศาสตร์ คณะในฝันของใครหลายคน

เมื่อเดินทางมาถึงพื้นที่แห่งนี้ คงจะไม่มีใครบอกเล่าเรื่องราวความประทับใจของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ดีไปกว่าคุณครูสมศรี ในฐานะศิษย์เก่าที่ผูกพันกับคณะอักษรศาสตร์มาอย่างยาวนาน ซึ่งหลังจากเล่าเกร็ดสมัยเรียนพอหอมปากหอมคอแล้ว คุณครูสมศรีก็พูดถึง ‘Happy Journey with BEM’ ว่า 

“โครงการ Happy Journey with BEM มีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อเยาวชนและประชาชนทุกคน เพราะประวัติศาสตร์คือพื้นฐานของความเป็นไทย บางครั้งเราเดินทางผ่านสถานที่ต่างๆ เราอาจเห็นเรื่องราวระหว่างทางไม่ชัดว่ามีประวัติยาวนานผูกพันกับเราอย่างไร แต่การที่ BEM จัดพาผู้รู้มาบอกเล่าเรื่องราวระหว่างทางให้เห็นถึงประวัติความเป็นมา ช่วยให้เราย้อนตระหนักถึงความสำคัญของสถานที่ เป็นเรื่องที่ทำให้ครูรู้สึกตื่นเต้นในฐานะที่ประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น ได้กลมกลืนสอดคล้องเข้าสู่ปัจจุบันได้อย่างลงตัว

“วันนี้ครูได้มาสัมผัสเอง อยากจะบอกว่าใครที่ไม่ได้มา ถือว่าพลาดโอกาสที่ยิ่งใหญ่ เพราะเรื่องราวต่างๆ ที่เราเจอในวันนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถอ่านเจอได้ในหนังสือเรียน เนื่องจากสิ่งต่างๆ ที่บอกเล่าภายในวันนี้ มาจากหัวใจของรุ่นพี่ที่อยากถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจ รวมถึงเกร็ดประวัติต่างๆ ให้รุ่นน้องฟัง ทราบว่า Happy Journey with BEM ยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ หากพลาดทริปนี้ไม่ต้องกังวล ทริปหน้ารอท่านอยู่” 

ผ่อนคลายยามเย็นที่ร้านคาเฟ่ โทเรโด้ 

ร่วมพูดคุยฉันพี่น้อง

Happy Journey with BEM’ ส่งท้ายความประทับใจในทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ ด้วยการพาน้องๆ มาพักผ่อนรับประทานอาหารอร่อยๆ เครื่องดื่มชื่นใจ ในบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเอง ที่ ร้านคาเฟ่ โทเรโด้ (Cafe’ Toreador) ร้านอาหารและคาเฟ่ ข้างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มีที่นั่งทั้งอินดอร์รับแอร์เย็นๆ และพื้นที่เอาต์ดอร์ท่ามกลางสีเขียวร่มรื่น กระตุ้นให้เกิดบทสนทนาการแลกเปลี่ยนระหว่างเพื่อนใหม่ และบทสนทนาระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ก่อนกิจกรรมในวันนี้จะสิ้นสุดลงด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่เกิดขึ้นภายในรั้วจุฬาฯ แห่งนี้

ผศ.ดร. พีรศรี วิทยากรหลักผู้ให้ความรู้และผู้นำทริปพาน้องๆ เดินเที่ยวรอบรั้วจามจุรีในครั้งนี้ กล่าวถึงความรู้สึก ที่ได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า

“บรรยากาศกิจกรรมในวันนี้เต็มไปด้วยความสนุกอบอุ่น ภายใต้บรรยากาศร่มรื่นของจุฬาฯ มีน้องๆ มาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ซึ่งทุกคนล้วนเต็มไปด้วยแววตาแห่งการใฝ่รู้ สนอกสนใจในทุกๆ อย่าง ที่เราบอกเล่า ถือว่ากิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เราเห็นถึงบทบาทของรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่เป็นมากกว่าการขนส่งสาธารณะ นอกเหนือจากการเชื่อมโยงผู้คนเข้าสู่สถานที่ทางกายภาพภายในเมือง แต่ขยายผลถึงบทบาทต่อสังคม ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าสู่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผ่านการเดินทางท่องเที่ยว โดยเห็นได้เด่นชัดอย่างในทริปนี้ 

“แม้สถานที่อย่างมหาวิทยาลัย ที่โดยปกติอาจไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว แต่หากเรารู้จักนำเสนอเรื่องราวความสำคัญของของสถานที่ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ ก็จะทำให้ผู้คนเห็นถึงบทบาทและคุณค่าของมันได้ ซึ่งรูปแบบกิจกรรมดังกล่าวสามารถต่อยอดเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ได้อีกมากมาย”

เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความประทับใจที่เกิดขึ้นในทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ภายใต้โครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ที่สร้างทั้งความสุขและความสนุกให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่นอกเหนือไปจากนั้นยังสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า MRT ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวชุมชน ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยเช่นกัน 

ผู้ที่พลาดโอกาสในการร่วมขบวน 3 ทริปแรก ไม่ต้องเสียใจ เพราะ ‘Happy Journey with BEM’ ยังมีอีก 2 ทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ให้เที่ยว แวะ แชะ ชิมกันแบบฟรีๆ !! 

📌 สถานีหัวลำโพง ‘Street Photo Walk เดิน ถ่าย ทัวร์’ วันที่ 8 ตุลาคม 2565 

📌 สถานีอิสรภาพ ‘ตามรอยพระเจ้าตากสิน เที่ยวฝั่งธน’ วันที่ 17 ธันวาคม 2565

ปักหมุดให้พร้อม ติดตามรายละเอียดและร่วมสนุก เพื่อลุ้นเป็นผู้โชคดีเข้าร่วมทริป ‘Happy Journey with BEM’ ได้ที่ เฟซบุ๊ก: MRT Bangkok Metro ทวิตเตอร์: MRT Bangkok Metro อินสตาแกรม: mrt_bangkok และ โมบายแอปพลิเคชัน Bangkok MRT “เดินทางปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ด้วยรถไฟฟ้า  MRT”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image