‘Happy Journey with BEM’ ทริปสถานีสามย่าน ชวน 3 ศิษย์เก่าจุฬาฯ ถ่ายทอดความทรงจำสุดประทับใจในรั้วจามจุรี

เมื่อพูดถึง ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ หลายคนต่างมีความทรงจำที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจคิดถึงสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย บางคนอาจคิดถึงความร่มรื่นจากต้นจามจุรี แต่ไม่ว่าใครจะคิดถึงจุฬาฯ ในมุมมองไหนก็ตาม ทุกคนล้วนมีความจำดีๆ กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วยกันทั้งสิ้น   

เพื่อพาทุกคนไปรู้จักจุฬาฯ ให้มากขึ้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จึงจัดโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ต่อเนื่องเป็นทริปที่ 3 ในชื่อ สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ชวนน้องๆ นักเรียนชั้น ม.ปลาย มาเที่ยวชมจุฬาฯ สถานศึกษาที่ยืนหยัดคู่เมืองไทยมานานนับร้อยปี 

‘Happy Journey with BEM’ เช็กอินที่โคเวิร์กกิ้งสเปซ ภายในห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก่อนเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย

Advertisement

ไฮไลต์สำคัญของทริปนี้คือ การได้รับเกียรติจากรุ่นพี่ศิษย์เก่าจุฬาฯ ที่น้องๆ ม.ปลาย คุ้นเคยเป็นอย่างดี มาร่วมพูดคุยถึงความประทับใจที่มีต่อจุฬาฯ และร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผ่านช่วงสเปเชียล ทอล์ก ‘ร้อยเรื่องราว ร้อยห้าปีจุฬาฯ’ ทั้ง คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี และติวเตอร์ในโครงการ ‘MRT พาน้องพิชิต TCAS 14 by BEM’ คุณณปสก สันติสุนทรกุล ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เด็กดี และ ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พ.ศ. 2562 

‘จุฬาฯ’ มหาวิทยาลัยที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาเรียน

Advertisement

คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ

หากกล่าวถึงหนึ่งในมหาวิทยาลัยในฝันของเด็กๆ ต้องมีจุฬาฯ อยู่ในลิสต์อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเก่าแก่ และมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน ทั้งยังมีความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน และกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ เหมาะแก่การเลือกศึกษาต่อเป็นอย่างยิ่ง 

คุณครูสมศรีบอกว่า จุฬาฯ ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และเนื่องด้วยตนเองเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างของมหาวิทยาลัย ทำให้ได้เห็นถึงวิถีชีวิต และการเรียนการสอน จึงคิดว่าหากได้เข้ามาเรียนยังที่แห่งนี้ น่าจะมีความสนุก และไม่เครียดมากนัก

“เราไม่ได้มีเงินไปเรียนเมืองนอก แต่ก็ได้เรียนกับครูอาจารย์ ที่เป็นถึงระดับศาสตราจารย์ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งการศึกษาเล่าเรียนนี้เองช่วยหล่อหลอมให้เราได้มีความรู้ และเติบโตเป็นอารยชน จนนำความรู้ที่ได้ไปช่วยเหลือประชาชน และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ดังคำกล่าวที่ว่า ‘เกียรติภูมิจุฬาฯ คือ เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน’ ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เราอยากได้ความรู้ เพื่อไปรับใช้ประชาชนต่อไป” คุณครูสมศรี บอกด้วยความภาคภูมิใจ 

ด้านคุณณปสกได้เล่าถึงที่มาว่า ทำไมถึงอยากมาเรียนจุฬาฯ ว่า เนื่องจากจุฬาฯ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และด้วยชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ที่ใครๆ ต่างก็พูดถึง ทำให้เกิดความท้าทาย อยากจะลองสอบเข้าให้ได้ และเมื่อสอบเข้าได้แล้วนั้น ไม่เพียงแค่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง แต่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองก็รู้สึกภูมิใจไปด้วย 

ชีวิตดีๆ ในรั้วจามจุรี

คุณณปสก สันติสุนทรกุล

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะกว่าจะเรียนจบได้นั้น ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่เข้ามา 

อย่างคุณณปสก ที่บอกเล่าความทรงจำสมัยเรียนว่า เมื่อเข้าเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้เจออาจารย์และเพื่อนร่วมคณะที่เก่งๆ ทำให้นึกย้อนไปสมัยเรียนมัธยมศึกษา ที่ตนเองเคยเป็นเด็กเก่งด้านศิลปะอย่างมาก แต่พอได้มาเรียนในมหาวิทยาลัย ทำให้รู้ว่าคนอื่นก็เก่งเหมือนกัน กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ตั้งใจเรียนมากขึ้น

“สถานที่ภายในจุฬาฯ มีความน่าสนใจ และมีสิ่งแปลกใหม่ให้คอยติดตามอยู่เสมอ ที่สำคัญ คือ จุฬาฯ มีการพัฒนาที่รวดเร็ว ทำให้เกิดความน่าตื่นตาตื่นใจ และมีความสนุกสนาน ตลอดช่วงเวลาที่ได้เล่าเรียนในสถานที่แห่งนี้ รู้สึกสนุกกับการได้ไปเดินสำรวจยังพื้นที่ต่างๆ รอบมหาวิทยาลัย กล่าวได้ว่า จุดเด่นสำคัญของจุฬาฯ คือ การพัฒนา และการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการเติบโต และค้นหาสิ่งใหม่ๆ ให้นิสิตนักศึกษาอยู่เสมอ”

ด้านคุณครูสมศรีเสริมว่า รู้สึกดีและมีความสุขกับการเรียนในจุฬาฯ อย่างมาก เนื่องจากได้เจอกับอาจารย์ท่านหนึ่งคือ รศ.ดร. เฉลิมศรี จันทร์อ่อน เป็นอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสอนภาษา รู้สึกประทับใจในการประเมินผลการเรียนของอาจารย์ เพราะอาจารย์ไม่ได้ประเมินจากการให้นิสิตลอกงานมาส่ง หรือจำบทเรียนมาแล้วสอบ แต่ประเมินด้วยการให้นิสิตได้คิด และลงมือทำเอง จึงตัดสินใจลงเรียนกับอาจารย์ทุกวิชา จนได้เกรด A และตั้งใจขวนขวายเล่าเรียน เพื่อนำความรู้ที่ได้จากอาจารย์ไปต่อยอดในอนาคต  

“สิ่งที่ได้จากคณะอักษรศาสตร์ คือ การที่ศาสตราจารย์ระดับโลกให้เด็กโง่ๆ คนหนึ่งได้เกรด A ซึ่งอาจารย์บอกว่า อาจารย์ไม่ได้ให้ A แต่ท่านให้โอกาส และให้การพัฒนาพรสวรรค์ ทำให้คนคนหนึ่งได้มีที่ยืนในสังคม และยังให้ความมั่นใจอีกด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เด็กๆ อยากเข้านั้นอยู่ในมืออยู่แล้ว อยู่ที่เด็กๆ จะกำหัวใจตนเองได้หรือไม่ หัวใจที่ต้องอดทนอ่านซ้ำ ทวนซ้ำ และท่องซ้ำ และท้ายที่สุดแล้วตัวเราจะได้มวลมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต นั่นคือความอดทน โดยมีครูบาอาจารย์เป็นฐานที่แน่นหนาให้เราก้าวเดินอย่างมั่นคงต่อไป” 

ร้อยห้าปี…สู่ความเปลี่ยนแปลงของจุฬาฯ

ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง ขณะบรรยายในห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ในอดีต จุฬาฯ ถือว่าตั้งอยู่ในพื้นที่นอกเมือง ซึ่งนิสิตนักศึกษาที่เข้ามาเรียน จำเป็นต้องย้ายมาใช้ชีวิตในพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยมีหอพักใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสังคม และแยกตัวออกมาจากเมือง เพื่อให้มีสมาธิจดจ่อกับการเรียนหนังสือ ต่อมา ความเป็นเมืองเข้ามาอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัยมากขึ้น ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ตามมา

เรื่องนี้ ผศ.ดร. พีรศรี บอกถึงความเจริญของเมืองว่า มีส่วนสำคัญที่ทำให้จุฬาฯ เกิดความเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคม ซึ่งความเป็นเมืองนี้ได้เริ่มไหลบ่าอย่างรวดเร็วมาสู่พื้นที่มหาวิทยาลัย ทำให้วิถีชีวิตของชาวจุฬาฯ รวมถึงอาคารสถานที่ภายในมหาวิทยาลัย มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากขึ้น

“การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของจุฬาฯ คือ การเกิดรถไฟฟ้าทั้ง 2 ประเภท ได้แก่ รถไฟฟ้า BTS ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ และรถไฟฟ้า MRT ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของมหาวิทยาลัย ทำให้การเดินทางเข้ามายังมหาวิทยาลัยเกิดความสะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้น”

บรรยากาศความงบร่มรื่นภายในจุฬาฯ

กล่าวได้ว่า จุฬาฯ ไม่ใช่เพียงแค่สถานศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นสถานที่ที่แฝงไปด้วยเรื่องราวที่มีสำคัญและมีความน่าสนใจอีกด้วย ซึ่งอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ เล่าเพิ่มเติมว่า จุฬาฯ เป็นพื้นที่ที่ใหญ่ หากเปรียบมหาวิทยาลัยเป็นหมู่บ้าน ก็เป็นหมู่บ้านที่มีหลายพันหลัง ซึ่งพื้นที่ในมหาวิทยาลัยได้ถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วน ทั้งพื้นที่ทางการศึกษา และพื้นที่ที่จัดหาผลประโยชน์ อาทิ จามจุรีสแควร์, สามย่าน มิตรทาวน์, ย่านสยามสแควร์ ฯลฯ ที่ล้วนเป็นสถานที่ที่นำรายได้มาพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัย 

อย่างไรก็ตาม สถานที่ที่จัดหาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ถือเป็นประโยชน์ต่อชาวจุฬาฯ เป็นอย่างมาก เพราะทำให้นิสิตสามารถเลือกได้ว่า เมื่อต้องการเรียนหนังสือ หรืออยากได้พื้นที่ที่เขียวขจี มีความสงบสำหรับการอ่านหนังสือ ก็สามารถอยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัยได้ แต่หากต้องการพักผ่อนหย่อนใจ หรือหาของกินอร่อยๆ ก็สามารถเดินไปยังพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวก

ทั้งนี้ วิทยากรทั้ง 3 คน ได้พูดทิ้งท้าย เพื่อให้กำลังใจน้องๆ นักเรียน ม.ปลาย ที่ต้องการเข้ามาเรียนต่อจุฬาฯ ว่า สังคมในปัจจุบันมีความกดดันสูง ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้นิสิตนักศึกษาเอาตัวรอดในการเรียนยากขึ้นกว่าเดิม จึงอยากฝากให้นักเรียนชั้น ม.ปลาย ทุกคน อย่ากดดันตัวเองจนเกินไป พร้อมกับเปิดใจให้กว้างๆ นำความกระตือรือร้นที่อยากจะเรียนรู้นำมาพัฒนาตนเองต่อไป 

และเมื่อได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ขอให้มีความอดทน รู้จักขวนขวายที่จะหาความรู้ และอย่าทิ้งโอกาสต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ให้รู้จักค้นคว้า ทดลอง และสำรวจ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญการเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ให้เติบโตต่อไปในอนาคต      

‘Happy Journey with BEM’ ทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ ถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้เห็นถึงการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และชุมชน ได้เข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ประวัติศาสตร์ของสังคม และความเชื่อมโยงกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับพื้นที่โดยรอบที่มีมาตลอดร้อยกว่าปี 

‘Happy Journey with BEM’ ยังมีทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ฟรี! ให้เข้าร่วมสนุกอีก 2 ทริป อย่าง ทริปที่ 4 สถานีหัวลำโพง ‘Street Photo Walk เดิน ถ่าย ทัวร์’ วันที่ 8 ตุลาคม และ ทริปที่ 5 สถานีอิสรภาพ ‘ตามรอยพระเจ้าตากสิน เที่ยวฝั่งธน’ วันที่ 17 ธันวาคม ติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสารทั้ง 2 ทริปกันได้ที่ เฟซบุ๊ก: MRT Bangkok Metro ทวิตเตอร์: MRT Bangkok Metro อินสตาแกรม: mrt_bangkok และโมบายแอปพลิเคชัน Bangkok MRT “เดินทางปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ด้วยรถไฟฟ้า MRT” 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image