สถานที่เดิมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
สายน้ำที่พลิ้วไหว ใครคนเดิมบางคนที่เปลี่ยนไป
บางครั้ง..การเคลื่อนไหวรุนแรงที่สุด
ก็เกิดขึ้นภายใต้สิ่งที่สงบนิ่งที่สุด
ข้างต้นคือคำเปรยของ ‘The Memoir of Movement’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของ เอก–พิชัย แก้ววิชิต ช่างภาพที่ผันตัวจากการขับวินมอเตอร์ไซค์ มาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่ายอย่างเต็มตัว จัดแสดงระหว่างวันที่ 7 กรกฎาคม-5 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ทำเอาหลายคนที่เป็นแฟนๆ ค่อยคลายความคิดถึงพิชัย และผลงานสไตล์มินิมอลของเขาไปได้เยอะเลยทีเดียว
ควบคู่กับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์และการท่องเที่ยว ที่เป็นเสมือนวัตถุดิบในการครีเอทผลงานแล้ว พิชัยยังเป็นนักเขียนและนักเล่าเรื่องในคอลัมน์ ‘เอกภาพ’ ประจำมติชนสุดสัปดาห์ เป็นศิลปินรับเชิญที่สร้างสรรค์มุมมองศิลปะผ่านภาพถ่ายสุดเก๋ให้บูธสำนักพิมพ์มติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ที่จัดขึ้นปลายเดือนมีนาคม–ต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา และล่าสุด กับบทบาทวิทยากรหลักในโครงการ Happy Journey with BEM’ ทริปที่ 4 สถานีหัวลำโพง ‘Street Photo Walk’ ที่จะจัดขึ้นวันที่ 8 ตุลาคมนี้
ก่อนจะเดินทางไปถึงทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟนี้ เราขอชวนทุกคนขยับเข้ามาทำความรู้จักกับพิชัยให้มากขึ้นอีกนิด ทำความคุ้นเคยกับช่างภาพที่โดดเด่นด้วยสไตล์การถ่ายภาพแนวมินิมอลของสถาปัตยกรรม และสิ่งของรอบตัวที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน จนมีผู้ติดตามในอินสตาแกรมแล้วกว่า 8.3 หมื่นคน
วินมอเตอร์ไซค์ผู้สามารถตายให้ศิลปะ!
เรื่องราวของวินมอเตอร์ไซค์ผู้หลงรักศิลปะ เริ่มต้นจากการได้ไปช่วยงานคนรู้จักแขวนภาพในนิทรรศการแห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ภาพงานในวันนั้นเป็นนิทรรศการภาพถ่ายบ้านเมืองของประเทศฝรั่งเศสที่สวยงาม ระหว่างหยิบแต่ละภาพขึ้นไปแขวนภาพแล้วภาพเล่า พิชัยก็ค่อยๆ ตกหลุมรักภาพเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากแขวนเสร็จ เขาก็ยืนชื่นชมผลงานอยู่นานเสียจนรู้สึกว่า อยากกดปุ่มรีสตาร์ตชีวิตให้ตัวเองได้ไปเกิดใหม่ เพื่อจะได้เกิดมาอยู่ท่ามกลางงานศิลปะแบบนี้ ได้เกิดใหม่เพื่อมาสร้างงานศิลปะแบบนี้ เพราะคงเป็นไปไม่ได้เลยในปัจจุบันที่เขายังต้องหาเช้ากินค่ำ วิ่งมอเตอร์ไซค์เพื่อหาเงินดูแลครอบครัว
ปรากฏการณ์ในวันนั้น ทำให้พิชัยกลับมานอนคิดวันแล้ววันเล่า และสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนว่า ‘ตนสามารถตายให้กับศิลปะได้เลยในช่วงเวลานั้น’ ความรู้สึกดังกล่าวแสดงว่าสิ่งดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่ความชอบ แต่เป็นเสมือนแรงบันดาลใจให้พิชัยลุกขึ้นมาค้นหาตัวตน เพื่อสร้างงานศิลปะในแบบของตนเองขึ้น
พิชัยไม่ปล่อยให้เรื่องไหนๆ ก็ตามมาเป็นอุปสรรค เขาค่อยๆ เดินตามความฝัน ขยับเข้าใกล้การเป็นศิลปิน ขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจเข้าสู่เส้นทางศิลปะให้มากขึ้น ผ่านการหยิบเอาโทรศัพท์มือถือถ่ายขาโต๊ะบ้าง ถ่ายขาเก้าอี้บ้าง ถ่ายตึกอาคาร ถ่ายฟุตพาท ถ่ายสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยให้เส้นสายของวัตถุ แสงเงาของธรรมชาติ เป็นตัวสรรสร้างจินตนาการก่อนจะรัวชัตเตอร์ สร้างภาพดั่งใจนึก และเมื่อเสียงชัตเตอร์สิ้นสุด ความสุขและความสนุกของเขาก็ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
จากโทรศัพท์มือถือ พิชัยก็เปลี่ยนมาใช้กล้องคอมแพคท์ ที่เขาพกติดตัวดั่งอาวุธคู่กาย เห็นมุมไหน เห็นอะไรที่น่าสนใจ ก็หยิบกล้องออกมาถ่ายเก็บภาพความประทับใจไว้ทันที โดยมีแอคเคานต์ @phichaikeawvichit ในอินสตาแกรม เป็นแกลเลอรีส่วนตัวไว้แสดงผลงาน
ด้วยสไตล์การถ่ายภาพที่น้อยแต่มาก โดดเด่นด้วยลายเส้นและแสงเงา ทำให้ผลงานของพิชัยเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง นำสู่เหตุการณ์เปลี่ยนชีวิตที่พาให้เขาก้าวสู่การเป็นศิลปินเต็มตัว นั่นคือ การได้จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ‘Accidentally Professional Exhibition’ ในปี 2562 ที่บ้านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี
หลังจากนั้น พิชัยก็ได้ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการต่างๆ ระดับประเทศ อาทิ ‘Unlock’ (2563) นิทรรศการเดี่ยว ที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก, นิทรรศการกลุ่ม ‘Urban in Progress’ (2564) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
นอกจากความงามทางศิลปะที่ผู้ชมสัมผัสได้ด้วยตาแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดคืองานศิลปะผ่านภาพถ่ายของพิชัยได้สร้างแรงบันดาลใจและสร้างความรู้สึกให้ผู้ชมผลงาน เฉกเช่นเดียวกับที่เขาเคยรู้สึกในวันแรกที่หันเข้าสู่โลกแห่งศิลปะ จนมีคนเอ่ยปากกับเขาในการจัดแสดงผลงานครั้งแรกว่า
“ผมเลิกถ่ายภาพไปนานแล้ว แต่พอเห็นภาพคุณพิชัย มันทำให้ผมอยากกลับไปหยิบกล้องถ่ายรูปอีกสักครั้ง”
แม้จะผ่านมาหลายปี แต่ประโยคสั้นๆ ดังกล่าว กลับตรึงใจพิชัยมาถึงทุกวันนี้ และเป็นแรงผลักดันให้เขายังคงทำในสิ่งที่รักต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง
‘The Memoir of Movement’ เล่าเรื่องราวความเคลื่อนไหวผ่านภาพนิ่ง
หลังจากเก็บเกี่ยวเรื่องราวรอบตัว พิชัยก็เดินทางมาถึงนิทรรศการล่าสุด ‘The Memoir of Movement’ จัดแสดงที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม-5 สิงหาคม ที่ผ่านมา
เป็นที่น่าสนใจว่าครั้งนี้ พิชัยเลือกถ่ายทอดเรื่องราวความเคลื่อนไหวของทุกสรรพสิ่ง ทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไร้ชีวิต รวมทั้งความเคลื่อนไหวทางอารมณ์และตัวตนภายในของตัวเขาเอง ที่เกิดขึ้นตามสิ่งที่เขาเห็น ผ่านแพลตฟอร์มรูปถ่ายที่หยุดนิ่งสองสิ่งที่ดูขัดแย้งกันบางประการ ซึ่งพิชัยขยายความแนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“ที่มาที่ไปของงานนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการที่ผมอยากจะเล่าเรื่องของ ‘ความเคลื่อนไหว’ เพราะหากเราสังเกตจริงๆ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่หยุดนิ่ง ยกตัวอย่างถ้าเราเห็นก้อนหินสักก้อนวางอยู่นิ่งๆ เราก็อาจคิดว่ามันไม่เคลื่อนไหว แต่ในความจริงแล้วอีกร้อยปี พันปี ก้อนหินก้อนนี้มันก็จะไม่อยู่ในสภาพเดิม หรือแม้แต่วันก่อนหน้าก็เช่นเดียวกัน เท่ากับว่าสิ่งที่เราเห็นว่าหยุดนิ่งอยู่ในปัจจุบัน มันก็มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา
“หากถามว่าเราจะได้อะไรจากการรับรู้เรื่องการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นการปรับตัวเข้าหาโลก และที่สำคัญมันทำให้เรารู้ว่า แม้ทุกสิ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ถ้าหากเราทำให้ทุกวันนี้มันดี หรือเก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในทุกขณะ เรื่องราวเหล่านั้นก็จะกลายเป็นความทรงจำดีๆ ของเราตลอดไป”
อีกหนึ่งบทบาทของพิชัยนอกจากการเป็นช่างภาพแล้ว เขายังท้าทายความสามารถตัวเองด้วยการเป็นนักเขียน นักบอกเล่าเรื่องราว เปลี่ยนจากการถ่ายทอดด้วยภาพอย่างเดียว มาสู่การผสมผสานตัวหนังสือเข้าไปในผลงาน ผ่านคอลัมน์ ‘เอกภาพ’ ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่บอกเล่าเรื่องราวภายในจิตใจ สังคม ประสบการณ์ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามสิ่งที่พบเห็น หรืออยากนำเสนอในแต่ละสัปดาห์
“จริงๆ แล้วผมเป็นคนที่ไม่เคยเขียนหนังสือ แม้แต่ไดอารี่ผมก็ไม่เขียน การได้เขียนจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายและเป็นกังวลว่าจะออกมาดีไหม แต่สุดท้ายแล้วผมมองว่า การจะเป็นช่างภาพได้ จุดเริ่มต้นมันเริ่มจากสิ่งง่ายๆ อย่างการออกไปถ่ายภาพ ในขณะเดียวกัน การจะเป็นนักเขียนได้ จุดเริ่มต้นของมันคงเป็นการเริ่มต้นที่จะเขียน ผมคิดอย่างนั้น…” พิชัยบอกเล่าความรู้สึก
เปิดประสบการณ์สตรีท โฟโต้ ย่านหัวลำโพง
‘หัวลำโพง’ เป็นอีกหนึ่งย่านเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ที่ไม่เพียงมีความสำคัญด้านการเดินทางเท่านั้น แต่ยังเป็นหมุดหมายของคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ เพราะย่านหัวลำโพงเต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่ ที่ยังมีการใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน ใครที่ได้ไปท่องเที่ยวย่านนั้น จึงได้ทั้งภาพอาคารเก๋ๆ และได้เห็นภาพวิถีชีวิตของผู้คนไปด้วยในเวลาเดียวกัน
เพราะการเดินทางคือการเติมเต็มความสุขให้ชีวิต ‘Happy Journey with BEM’ โครงการท่องเที่ยวที่จัดโดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จึงจัดทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ตอบแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ฟรี! เดินหน้าสู่ ทริปที่ 4 สถานีหัวลำโพง ‘Street Photo Walk’ ในวันที่ 8 ตุลาคม 2565
ทริปนี้ พิชัยเชิญชวนทุกคนมาร่วมเวิร์กชอปถ่ายภาพ เปิดมุมมองใหม่ๆ กันในย่านหัวลำโพง อาทิ สถานีรถไฟหัวลำโพง อาคารพาณิชย์บนถนนไมตรีจิตต์ ร้านอาหารและคาเฟ่สุดฮิปในซอยนานา
ร่วมเดินทางกดชัตเตอร์บันทึกช่วงเวลาแห่งความสุข สีสันและความมีชีวิตชีวาของย่านการค้าเก่าแก่ ที่ผสานความทันสมัยไว้ได้อย่างลงตัว เผยทุกกลเม็ดแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพอย่างใกล้ชิด พร้อมกิจกรรมประกวดภาพถ่ายของผู้ร่วมทริป และรับของที่ระลึกสุดพิเศษจาก BEM
“อยากชวนทุกคนมาถ่ายรูปด้วยกัน มาแลกเปลี่ยนมุมมองด้วยกัน ผมมีอะไรอยากจะบอกกับเพื่อนๆ อีกเยอะเกี่ยวกับการถ่ายภาพ ไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพเป็น หรือต้องมีอุปกรณ์ที่เลิศหรู ใช้เพียงโทรศัพท์ หรืออะไรก็ตามที่สามารถถ่ายภาพได้ มาร่วมกันได้หมด ทริปนี้ผมจะบอกว่าถ่ายภาพอย่างไรให้เห็นตัวเองอยู่ในภาพ ถ่ายภาพอย่างไรให้มีลายเซ็นตัวเองอยู่ในนั้น” พิชัย เอ่ยปากเชิญชวน
ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ทริปที่ 4 สถานีหัวลำโพง ‘Street Photo Walk’ วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ไปกับ พิชัย แก้ววิชิต ช่างภาพแนวสตรีทชื่อดัง ที่มีสไตล์โดดเด่นเฉพาะตัว สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ เฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro