ส่งท้ายรถไฟฟ้าขบวนแห่งความสุข กับ ‘Happy journey with BEM’ ทริปที่ 5 สถานีอิสรภาพ 

รถไฟฟ้าขบวน ‘Happy Journey with BEM’ ที่เดินทางส่งมอบความสุขตลอดปี 2565 ได้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างประทับใจแล้ว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา กับ ทริปที่ 5 สถานีอิสรภาพ ‘ตามรอยพระเจ้าตากสิน เที่ยวฝั่งธน ยลฝั่งพระนคร’

โครงการดีๆ อย่างนี้ จัดโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ตอบแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ให้ได้ออกท่องเที่ยวไปด้วยกัน ตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 5 สถานี ฟรี! ตลอดปี 2565

ทริปนี้ ‘Happy Journey with BEM’ ชวนทุกคนมาเปิดประสบการณ์ใหม่ กับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ฟังเรื่องราวฉากสุดท้ายของกรุงธนบุรีและพระเจ้าตากสิน แบบเกาะชิดติดขอบสถานที่จริง ผ่าน 3 สถานที่ไฮไลต์ ทั้ง พระราชวังเดิม (พระราชวังกรุงธนบุรี) ,วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) และ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

Advertisement

ความสนุกได้ถือกำเนิดขึ้น ตั้งแต่สถานที่นัดพบอย่าง รถไฟฟ้า MRT สถานีอิสรภาพ ที่พาเราย้อนเวลากลับไปสมัยกรุงธนบุรี ผ่านรูปแบบการตกแต่งภายใน ที่ได้แรงบันดาลใจจากสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ยุคนั้น อย่างการนำ ‘หงส์’ สัญลักษณ์ของวัดหงส์ฯ ศาสนสถานสำคัญของชาวฝั่งธน มาตกแต่งบนเสา และประดับเป็นลวดลายตามผนังของสถานีได้อย่างวิจิตรงดงาม ตลอดจน ‘ลายค้างคาว’ และ ‘เหรียญจีน’ ที่คนจีนเชื่อว่า เมื่อทั้งสองสิ่งนี้รวมกัน จะนำมาซึ่ง ‘การขอให้มีความสุขเกิดขึ้นก่อนใคร’ ถือเป็นความหมายดีๆ ของรถไฟฟ้า MRT สถานีอิสรภาพ ที่ซ่อนไว้อย่างแนบเนียน

จุดนี้เองที่ทุกคนได้ทำความรู้จักกับวิทยากรผู้รู้จริงประจำทริป อย่าง คุณปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ หรือจะเรียกว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้พระเจ้าตากก็คงไม่เกินเลย เพราะเขาคือเจ้าของผลงาน พระเจ้าตาก เบื้องต้น, ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี และ กบฏเจ้าฟ้าเหม็น ทั้งยังเป็นบรรณาธิการผลงานเรื่อง ปริศนาพระเจ้าตากฯ อีกด้วย ซึ่งหนังสือเหล่านี้คงการันตีความเชี่ยวชาญเรื่องพระเจ้าตากของคุณปรามินทร์ได้อย่างไร้ข้อกังขา

“ทริปนี้เปรียบเสมือนการชวนทุกคนไปรับบทกองพิสูจน์หลักฐาน เพื่อประกอบฉากตามหาความน่าจะเป็นให้สนุก และให้เห็นได้ชัดขึ้นกว่าการอ่านพงศาวดารเรื่องราวพระเจ้าตากสิน เพื่อเข้าไปช่วยกันสังเกตว่า ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารที่เขียนเป็นตัวหนังสือนั้นถูกต้องเท็จจริงเพียงใด ผ่านสถานที่จริง” คุณปรามินทร์เกริ่น แค่เริ่มต้นก็สนุกแล้วใช่มั้ยล่ะ!

Advertisement

ฟังสเปเชียลทอล์ก พร้อมเยือนวังพระเจ้าตาก ณ พระราชวังเดิม

เพื่อเติมเต็มอรรถรสการเดินทางตามรอยพระเจ้าตากในทริปนี้ให้เข้มข้น ‘Happy Journey with BEM’ พร้อมเสิร์ฟออเดิร์ฟสุดอร่อย ด้วยเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์สนุกๆ ในสเปเชียล ทอล์ก ‘กรุงธนบุรีของพระเจ้าตาก จากอยุธยา 500 ปีมาแล้ว’ ในสถานอันทรงคุณค่า ณ ท้องพระโรง พระราชวังเดิม นับว่าเป็นการฟังบรรยายเรื่องราวของพระเจ้าตากสินในสถานที่จริงที่พระองค์เคยใช้ว่าราชการ เป็นกิจกรรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟ เพราะสถานที่แห่งนี้เปิดให้เข้าชมแค่ปีละครั้งเท่านั้น

คุณปรามินทร์ เล่าว่า ท้องพระโรงแห่งนี้ถือเป็นจุดบัญชาการ และวางแผนเก็บรวบรวมกลุ่มที่แตกย่อย เพื่อต้องการสร้างให้เป็นกรุงธนบุรีเพียงหนึ่งเดียว เฉกเช่นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งที่นี่ถือว่าเล็กมาก หากเทียบกับสถานที่ที่ต้องมีการออกคำสั่งบัญชาการ รวมถึงการวางแผนบริหารราชการแผ่นดิน 

“สถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในท้องพระโรง ต่างก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เพราะมีการปรับปรุงในหลายสมัย อีกทั้งคนที่เวียนเข้ามาอยู่ ล้วนเป็นเจ้านายหลายพระองค์ จึงทำให้มีการซ่อมแซม ทำนุบำรุง รวมถึงอาคารบางหลังก็สร้างขึ้นมาใหม่หลังจากสมัยธนบุรี”

ยุคสมัยกรุงธนบุรี มีเรื่องราวสุดระทึกหลายช่วงหลายตอน เช่นที่คุณปรามินทร์บอกเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ก่อนสิ้นสุดกรุงธนบุรี ได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ ‘การยึดอำนาจ’ ที่เกิดขึ้นเพียงหนึ่งคืนเท่านั้น แต่ได้มีการวางแผนเป็นปีแล้ว โดยพระเจ้าตากไม่รู้เลยว่า มีกองกำลังปิดเส้นทางและบุกยึดพระนคร มารู้ตัวอีกทีก็เมื่อมีกระสุนตกใส่หลังคาบ้าน จึงได้รู้ว่ามีการปฏิวัติเกิดขึ้น 

“การเกิดปฏิวัติครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า กำลังของพระเจ้าตากในวาระสุดท้ายไม่เหลือแล้ว และเหลือเพียงไม่กี่คนที่อยู่ฝ่ายเดียวกับพระองค์ หากดูภาพจากภายนอก ทุกคนจะคิดว่ากรุงธนบุรีนั้นเข้มแข็ง สามารถปราบรัฐใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ นครศรีธรรมราช หรือแม้กระทั่งเขมรได้ แต่ตัวเองโดนยึดอำนาจในหนึ่งคืน จึงเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการวางแผนที่ดีในการเปลี่ยนขั้วอำนาจได้อย่างชัดเจน”

ข้างต้นเป็นเพียงน้ำจิ้มเล็กๆ จากช่วงสเปเชียล ทอล์ก ที่คุณปรามินทร์ได้ค่อยๆ เพิ่มรสชาติความสนุกให้ตื่นเต้นครบรส ซึ่งหลังจากช่วงนี้จบลง ก็ยังมีข้อมูลและประเด็นที่ชวนขบคิดอีกหลายข้อ ที่ผู้ร่วมทริปนำมาตั้งคำถามพร้อมหาหลักฐาน อาทิ ภาพพระพักตร์พระเจ้าตากสิน ว่าแต่ละภาพมีที่มาที่ไปอย่างไร มีข้อเท็จจริงไหนน่าสนใจบ้าง

นอกจากท้องพระโรง ภายในพระราชวังเดิมยังมีจุดอื่นที่น่าสนใจเช่นกัน ซึ่งผู้ร่วมทริปต่างได้รับฟังเกร็ดความรู้ และเข้าไปเยี่ยมชมอย่างใกล้ชิด อาทิ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน และอาคารเก๋งคู่ ที่ภายในจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการรบของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมถึงจัดแสดงอาวุธโบราณชนิดต่างๆ เช่น ดาบ ง้าว ปืน หอก แผนที่การศึกสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี ภาพจิตรกรรมเหตุการณ์ออกรบที่สำคัญ และโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ เช่น ถ้วย ไห ชาม เป็นต้น

ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ฉากสุดท้ายพระเจ้ากรุงธนบุรี

ความเข้มข้นของเรื่องราวในทริปนี้ ได้พากองพิสูจน์หลักฐาน ‘Happy Journey with BEM’ เดินทางตามรอยพงศาวดารจนมาถึง ป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือป้อมวิไชยเยนทร์ ซึ่งเป็นป้อมสำคัญที่ใช้ป้องกันข้าศึกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ด้านหลังกองทัพเรือในปัจจุบัน

เพื่อขยายพงศาวดารให้เห็นเด่นชัด พร้อมร่วมกันวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของเรื่องราวต่างๆ คุณปรามินทร์ได้บรรยายพิเศษ พร้อมนำหลักฐานต่างๆ มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่เข้าใจง่ายและน่าติดตามให้ผู้ร่วมทริปได้รับฟัง ตั้งแต่การวางแผนยึดกรุงธนบุรี ความอลหม่านในคืนสุดท้ายก่อนเสียกรุง การปฏิวัติ การขัดขืนต่อสู้ ภูมิศาสตร์ของสถานที่ เส้นทางการเดินเรือ การเคลื่อนทัพ การยิงปืนใหญ่ข้ามวัดอรุณฯ มาสู่วังเดิม รวมถึงการตัดสินโทษพระเจ้าตากสิน ที่สิ้นสุดลงบริเวณป้อมวิไชยประสิทธ์ทั้งหมด 

ชื่นชมความงามวัดอรุณฯ ตามหาร่องรอยพระเจ้าตาก

หลังจากศึกษาเรื่องราวของพระเจ้าตากสินที่พระราชวังเดิมกันอย่างเต็มอิ่ม ใช้เวลาเพียงอึดใจก็ถึงจุดหมายปลายทาง ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งหากนับเรื่องราวความเชื่อมโยงกับทริปตามรอยพระเจ้าตากสินแล้ว วัดอรุณฯ ก็นับว่าเป็นฉากสำคัญของการสิ้นสุดกรุงธนบุรี  เพราะตามพงศาวดาร วัดอรุณฯ เป็นจุดที่พระเจ้าตากสินออกผนวชในช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งการผนวชครั้งนี้ นับว่าเป็นการสิ้นสุดรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างสมบูรณ์ 

จุดสำคัญของเรื่องราวในทริปนี้ อยู่ที่บริเวณ ‘โบสถ์น้อย’ บริเวณหน้าพระปรางค์  มีหลักฐานเป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินช่วงออกผนวช ภายในมีพระแท่นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทำจากไม้สักทอง เชื่อกันว่าหากลอดพระแท่นนี้จะช่วยล้างอาถรรพ์ได้ รวมถึงมีรูปหล่อของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเครื่องพระมหากษัตริย์ ให้ผู้เยี่ยมชมได้กราบสักการะ  

หากยังจำกันได้ เมื่อคราวทริปที่ 2 สถานีสนามไชย ‘ประตูเชื่อมท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์’ เราได้พาทุกคนไปรู้จักกับ ‘ยักษ์วัดโพธิ์’ กันแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงวัดอรุณฯ เราก็ต้องมาเยี่ยมชม ‘ยักษ์วัดแจ้ง’ หรือ พญายักษ์ 2 ตน อย่าง ทศกัณฐ์ (กายสีเขียว) และ สหัสเดชะ (กายสีขาว) ที่ยืนเฝ้าซุ้มประตูยอดมงกุฎตรงหน้าพระอุโบสถ 

แม้หลายต่อหลายคนจะเคยมาวัดอรุณฯ แต่ขึ้นชื่อว่าทริป ‘Happy Journey with BEM’ ย่อมมอบความพิเศษให้ทุกคนแน่นอน เพราะเติมเต็มการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้สนุกขึ้นไปอีกขั้น บางสิ่งที่เราเห็นคุ้นตาภายในวัด อาทิ ซุ้มประตู เจดีย์ พระปรางค์ รูปปั้นตุ๊กตาจีน ยักษ์ รวมถึงพระพุทธรูปที่เรียงรายอยู่โดยรอบ เดิมทีเราอาจไม่รู้ความหมาย ที่มาที่ไป หรือความสำคัญ แต่ทริปนี้ทุกอย่างคือโบราณวัตถุมากคุณค่า สอดแทรกไปด้วยเรื่องเล่าสนุกๆ จากคุณปรามินทร์ ที่อยู่กับชาวทริปตลอดการเดินทาง 

หลังจากชมวิวริมน้ำเจ้าพระยาสักพัก วิทยากรประจำทริปของเราก็บอกเล่าถึงความประทับใจในกิจกรรม ‘Happy Journey with BEM’ ว่า บรรยากาศวันนี้สนุกมาก ลูกทริปให้ความสนใจเป็นอย่างดี ไม่มีใครหลับกลางทริปไปเสียก่อน มีคนถามเรื่องราวระหว่างทางอยู่ตลอดเวลา ยิ่งทำให้สนุกไปด้วยอีกคน จนเผลอทุ่มข้อมูลไปอย่างเต็มที่  เรียกว่าสนุกกันทั้งคู่ ทั้งคนนำเรื่องและคนมาเที่ยว 

“ความเจ๋งของทริปนี้คือ การที่เราได้มาเที่ยว และได้มาสัมผัสสถานที่จริง สถานที่เกิดเหตุ ในประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นเคย แต่เราไม่เคยตั้งข้อสงสัยถึงมัน แต่กิจกรรมในวันนี้ทำให้เราได้เห็นและเข้าใจมิติเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้มากขึ้นกว่าการอ่านหรือรับฟัง  เราได้พิสูจน์ข้อมูลด้วยตนเองว่าในภูมิศาสตร์ต่างๆ มันเป็นจริงได้หรือไม่ในพงศาวดาร เพราะว่าบางครั้งข้อมูลในพงศาวดารไม่สอดคล้องกับภูมิประเทศหรือภูมิศาสตร์ ทำให้เราต้องมาร่วมสืบค้นข้อมูลกัน

“ขอขอบคุณ BEM ที่จัดกิจกรรมที่สนุกในรูปแบบนี้ให้เกิดขึ้น เชื่อว่ากิจกรรมในวันนี้จะช่วยทำให้เห็นว่า การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นั้นก็สนุกได้ และช่วยต่อยอดให้ผู้คนเริ่มหันมาสนใจประวัติศาสตร์เรื่องอื่นๆ มากขึ้น” 

วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร จิตรกรรมเด็ด ของดีฝั่งธน

เยื้องย่างจากวัดอรุณฯ ไม่ไกลนัก ท่ามกลางแสงยามเย็นที่สาดส่อง ก็ถึงเวลาส่งท้ายความประทับใจกับสถานที่ไฮไลต์สุดท้าย ณ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร วัดสำคัญที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก บ้างก็หลงลืม หากแต่มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่สงบเรียบร้อยครั้งสำคัญของกรุงธนบุรี 

ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของวัดหงส์ฯ ภายในประกอบไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจมากมาย เปรียบได้ดั่งเพชรเม็ดงามของฝั่งธนบุรีก็คงไม่เกินเลยนัก ไม่ว่าจะเป็น พระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่สุดในฝั่งธนบุรี มีช่อฟ้าใบระกา ตกแต่งหน้าบันด้วยลวดลายวิจิตร มีพระนารายณ์ทรงหงส์อ่อนช้อยงดงาม ในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะอู่ทอง ผนังพระอุโบสถเขียนจิตรกรรมแสดงเรื่องราวพุทธประวัติ 

ที่สำคัญ ยังมีจิตรกรรมรัตนพิมพวงศ์ (ตำนานพระแก้วมรกต) เพียงชิ้นเดียวของงานช่างไทย จำนวน 57 ภาพ ประดับเหนือกรอบประตูหน้าต่างอีกด้วย

นอกจากพระอุโบสถอันสงบงาม ในวัดหงส์ฯ ยังมีสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์  ที่กล่าวกันว่า พระเจ้าตากสินทรงมาสรงน้ำที่นี่ เมื่อมีพิธีสำคัญของแผ่นดิน กลางสระน้ำจะมีหินอาคมอยู่ เชื่อกันว่าผู้ใดที่มาอาบ-กิน จะได้ผลสัมฤทธิ์ดังที่อธิษฐานไว้ ให้ผู้ร่วมทริปได้สักการะเพื่อเป็นสิริมงคล ก่อนสิ้นสุดปี 2565 อีกด้วย

แม้ทริปสิ้นสุด แต่ความประทับใจจะไม่สุดสิ้น 

หลังจากเพลิดเพลินกับเกร็ดความรู้และการเที่ยวชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในทริปนี้ หนึ่งในผู้ร่วมทริปอย่าง คุณนิพน รักประทานพร ก็บอกว่า ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอทราบข่าวว่า MRT จัดกิจกรรม ‘Happy journey with BEM’ สถานีอิสรภาพ ที่เป็นสถานีใกล้บ้านอยู่แล้ว ผนวกกับเป็นเรื่องราวของพระเจ้าตากสิน จึงไม่ลังเลที่จะสมัครเข้าร่วมทริป 

“กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ได้รู้ว่าย่านโดยรอบสถานีมีสถานที่อะไรน่าสนใจบ้าง มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ก็ทำให้เรารู้จักกรุงเทพฯ มากขึ้น อย่างวันนี้เป็นทริปเกี่ยวกับพระเจ้าตากสิน จากเดิมที่เราอ่านเพียงอย่างเดียว แต่วันนี้ได้มาฟังจากผู้รู้จริง เห็นสถานที่จริง ได้มาสัมผัสสิ่งที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต ก็ช่วยทำให้เราภูมิใจในความเป็นไทยได้มากขึ้น และทำให้เรามีความรู้เพิ่มขึ้นด้วย ขอขอบคุณ BEM ที่จัดกิจกรรมนี้ ที่มอบทั้งความรู้และความสนุกให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT อย่างพวกเรา”

ส่วน คุณวราภรณ์ วงศ์วานิช ก็เล่าว่า ดีใจมากที่ได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพราะติดตามโครงการ ‘Happy journey with BEM’ มาตั้งแต่ทริปแรก คือ ทริปสถานีวัดมังกร และสมัครเข้าร่วมโครงการมาตลอดทุกครั้ง แต่ก็พลาดโอกาส กระทั่งทราบว่าได้รับคัดเลือกในทริปสุดท้ายก็ดีใจมาก เพราะเฝ้ารอมาตลอด 

“พอได้มาร่วมทริปจริงๆ ก็ประทับใจกับเรื่องราวและสถานที่ต่างๆ ที่ได้ร่วมท่องเที่ยวในวันนี้ เดิมทีเคยมาวัดอรุณฯ มาก่อน แต่ไม่เคยศึกษาเลยว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร มองแค่ว่าสถานที่แห่งนี้สวย แต่พอได้รับความรู้จากวิทยากร ความสวยต่างๆ ได้กลายเป็นความประทับใจ ที่อยากบอกต่อให้ลูกๆ หลานๆ ได้ฟัง ถ้ามีโอกาสได้มาเยี่ยมอีกครั้ง”

เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จในทริปที่ 5 สถานีอิสรภาพ ภายใต้โครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ที่สร้างทั้งความสุขและความสนุกให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่นอกเหนือไปจากนั้น ยังสร้างบรรยากาศกระตุ้นการท่องเที่ยวคืนกลับสู่ชุมชน ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยเช่นกัน 

แน่นอนว่าการเดินทางยังไม่สิ้นสุด หากอยากทราบว่า ปี 2566 ‘Happy Journey with BEM’ จะชวนทุกคนนั่งรถไฟฟ้าขบวนแห่งความสุขไปที่ไหน จุดหมายปลายทางคือสถานีอะไร ติดตามรายละเอียดกิจกรรมกันได้ที่ เฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro  หรือ https://www.facebook.com/BEM.MRT/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image