‘ปรามินทร์ เครือทอง’ พาเจาะเวลาหาอดีต พลิกพงศาวดารหาหลักฐานชิ้นเด็ดยุคกรุงธนบุรี 

bem“พื้นที่กรุงธนบุรี ไม่ได้เพิ่งมารุ่งโรจน์ หรือมีความสำคัญในสมัยพระเจ้าตาก แต่มีความยิ่งใหญ่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เนื่องจากเป็นจุดที่เรือสำเภาจะไปค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาใช้เป็นเส้นทางผ่าน โดยอ้อมคลองบางกอกใหญ่และคลองบางกอกน้อย จนทวนแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา ฉะนั้น พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นจุดค้าขายสำคัญ แล้วเป็นจุดที่นานาชาติมาปักหลักอยู่กันจำนวนมาก ทั้งจีน โปรตุเกส มุสลิม มุสลิม-มลายู มุสลิม-อินเดีย เป็นต้น”

หนึ่งในเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของกรุงธนบุรี ที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านการเดินทางตามรอยพระเจ้าตาก ในทริป ‘Happy Journey with BEM’ โครงการท่องเที่ยวดีๆ ที่จัดโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อ ตอบแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ชวนมาเที่ยวพกความสุขกลับบ้านกันแบบฟรีๆ กับทริปสุดท้าย ทริปที่ 5 สถานีอิสรภาพ ‘ตามรอยพระเจ้าตากสิน เที่ยวฝั่งธน ยลฝั่งพระนคร’ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา

ทริปนี้ได้รับเกียรติจาก คุณปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เจ้าของผลงาน พระเจ้าตาก เบื้องต้น, ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี และ กบฏเจ้าฟ้าเหม็น ทั้งยังเป็นบรรณาธิการผลงานเรื่อง ปริศนาพระเจ้าตากฯ มาเป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์ ร่วมบอกเล่าเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์สนุกๆ กับช่วงสเปเชียล ทอล์ก ‘กรุงธนบุรีของพระเจ้าตาก จากอยุธยา 500 ปีมาแล้ว’ ในสถานที่อันทรงคุณค่า ณ ท้องพระโรง พระราชวังเดิม ถือเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ผ่านสถานที่จริง ซึ่งเคยเกิดเรื่องราวต่างๆ มาก่อน ช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้ร่วมทริปทุกคนอยากออกเดินทางมากขึ้น

บริเวณท้องพระโรง พระราชวังเดิม

‘ท้องพระโรง พระราชวังเดิม’ ศูนย์กลางอำนาจสมัยธนบุรี

Advertisement

คุณปรามินทร์ พาทุกคนนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปสมัยกรุงธนบุรี โดยเล่าว่า หลังจากกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย ทำให้เกิดกลุ่มอำนาจต่างๆ ขึ้นโดยทั่ว หนึ่งในกลุ่มสำคัญ คือ กลุ่มธนบุรี ขณะนั้นยังไม่ได้เป็นพระเจ้ากรุงสยาม เนื่องจากตอนนั้นยังมีผู้นำตามหัวเมืองแตกย่อยออกไปหลายกลุ่ม

“ที่ท้องพระโรง พระราชวังเดิม ถือเป็นจุดบัญชาการ และวางแผนเก็บรวบรวมกลุ่มที่แตกย่อย เพื่อต้องการสร้างให้เป็นกรุงธนบุรีเพียงหนึ่งเดียว เฉกเช่นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งที่นี่ถือว่าเล็กมาก หากเทียบกับสถานที่ที่ต้องมีการออกคำสั่งบัญชาการ รวมถึงการวางแผนบริหารราชการแผ่นดิน 

“สถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในท้องพระโรงต่างก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เพราะมีการปรับปรุงในหลายสมัย อีกทั้งคนที่เวียนเข้ามาอยู่ ล้วนเป็นเจ้านายหลายพระองค์ จึงทำให้มีการซ่อมแซม ทำนุบำรุง รวมถึงอาคารบางหลังก็สร้างขึ้นมาใหม่หลังจากสมัยธนบุรี” 

Advertisement

กล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่พระเจ้าตากบริหารกรุงธนบุรี ได้ใช้พระราชวังเดิมเป็นสถานที่ทั้งกิน นอน และทำงานอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ โดยท้องพระโรง ถือเป็นพระราชฐานชั้นนอก ใช้เป็นพื้นที่ว่าราชการ ส่วนพระราชฐานชั้นกลาง จะเป็นพื้นที่ในการเตรียมพระราชพิธี และใช้พบปะขุนนางที่สำคัญ ส่วนพระราชฐานชั้นใน เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน

2 เหตุการณ์สำคัญ ณ ตำหนักแพ สถานที่ประทับของพระเจ้าตาก

เมื่อเล่าถึงสถานที่สำคัญต่างๆ ภายในพระราชวังเดิมไปแล้ว ยังเหลืออีกหนึ่งสถานที่ที่ทุกคนอยากรู้จักกันมากขึ้น นั่นคือ สถานที่ประทับของพระเจ้าตาก 

ซึ่งเจ้าของผลงาน พระเจ้าตาก เบื้องต้น บอกว่า หากที่ประทับของพระเจ้าตากไม่ได้อยู่ในพื้นที่พระราชฐานชั้นใน ซึ่งเป็นตำหนักเจ้าจอมทั้งหลาย ก็อาจเป็น ‘ตำหนักแพ’ เนื่องจากในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ได้กล่าวถึงสถานที่สำคัญแห่งนี้ และเกิดเหตุการณ์สำคัญ 2 ครั้ง ในที่ประทับของท่าน 

เมื่อครั้งพระเจ้าตากกำลังนั่งพระกรรมฐานอยู่ เวลานั้น เจ้าพระยาสุรสีห์ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ซึ่งเป็นขุนศึกคู่บัลลังก์รบเคียงคู่กับท่าน ได้ข้ามฟากมาจากบ้านประสงค์จะเข้าเฝ้า ซึ่งพระยาพิทักษ์ภูบาล ที่เป็นฝ่ายเจ้าพนักงานรักษาการณ์เห็นเข้า ได้ห้ามมิให้เข้าเฝ้า เพราะทรงนั่งพระกรรมฐานอยู่ จึงโบกมือให้ออกไปเสีย แต่เจ้าพระยาสุรสีห์เข้าใจผิด คิดว่ากวักมือเรียก จึงค่อยย่องเข้าไป กลายเป็นเหตุเข้าใจผิดว่าจะเข้าไปทำร้ายพระเจ้าตาก ท้ายสุด เจ้าพระยาสุรสีห์จึงถูกเฆี่ยน

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าตากเดินทางไปตีเมืองเชียงใหม่สำเร็จ และกำลังจะยกทัพกลับมา แต่ระหว่างทางมีศึกอยู่แถวเมืองกาญจน์ พระเจ้าตากสั่งขุนนางไม่ให้แวะบ้าน ให้เลี้ยวทัพไปรบเลย แต่มีขุนนางรายหนึ่งแวะไปหาเมียที่บ้าน พระเจ้าตากบอกว่าขุนนางรายนี้ขัดขืนคำสั่ง จึงตัดหัวและเสียบประจานอยู่ตรงตำหนักแพที่ท่านใช้บรรทม

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บริเวณพระราชวังเดิม

‘ธนบุรี’ เมืองแห่งการค้าขายและความหลากหลายของชาติพันธุ์ 

“พื้นที่กรุงธนบุรี ไม่ได้เพิ่งมารุ่งโรจน์ หรือมีความสำคัญในสมัยพระเจ้าตาก แต่มีความยิ่งใหญ่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เนื่องจากเป็นจุดที่เรือสำเภาจะไปค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาใช้เป็นเส้นทางผ่าน โดยอ้อมคลองบางกอกใหญ่และคลองบางกอกน้อย จนทวนแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา ฉะนั้น พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นจุดค้าขายสำคัญ แล้วเป็นจุดที่นานาชาติมาปักหลักอยู่กันจำนวนมาก ทั้งจีน  โปรตุเกส มุสลิม มุสลิม-มลายู มุสลิม-อินเดีย เป็นต้น” คุณปรามินทร์ เล่า

กลุ่มมุสลิมบางกลุ่ม อย่างมุสลิม-มลายู ที่มาปักหลักตั้งฐานในพื้นที่แห่งนี้อย่างมั่นคง เกิดจากการค้าขายกับโปรตุเกส ฮอลแลนด์ กลุ่มคนจากประเทศเหล่านี้ต้องการล่าม ซึ่งชาวมุสลิม-มลายู จะสามารถพูดภาษาเหล่านี้ได้ ดังนั้น คนในพื้นที่นี้จึงพูดภาษาไทยกับคนมลายู และคนมลายูจะแปลข้อความจากภาษาไทยเป็นภาษาโปรตุเกสหรือภาษาดัตช์ต่อไป

คุณปรามินทร์ เล่าเสริมด้วยว่า ในช่วงสมัยพระนารายณ์ มีภาษาใหม่ถือกำเนิดขึ้น คือ ภาษาฝรั่งเศส จึงมีความวุ่นวายเกิดขึ้น เพราะต้องเปลี่ยนจากภาษาไทยเป็นมลายู จากมลายูเป็นโปรตุเกส และโปรตุเกสแปลมาเป็นฝรั่งเศส ดังนั้น การทำสนธิสัญญาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา รวมถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะมีการทำออกมาเป็นหลายภาษา เพื่อให้เข้าใจได้ตรงกัน และไม่เกิดปัญหาความไม่เข้าใจด้านภาษาขึ้น   

ภายในพระอุโบสถวัดหงส์ฯ

เพียงคืนเดียว พระเจ้าตากถูกยึดอำนาจ

ก้าวเข้าสู่ช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าตาก ก่อนการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคุณปรามินทร์ เล่าย้อนถึงช่วงเวลานั้นให้ฟังว่า เหตุการณ์ยึดอำนาจเกิดขึ้นเพียงหนึ่งคืนเท่านั้น แต่ได้มีการวางแผนเป็นปีแล้ว โดยพระเจ้าตากไม่รู้เลยว่ามีกองกำลังปิดเส้นทางและบุกยึดพระนคร มารู้ตัวอีกทีก็เมื่อมีกระสุนตกใส่หลังคาบ้านแล้ว จึงได้รู้ว่ามีการปฏิวัติเกิดขึ้น 

“การเกิดปฏิวัติครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า กำลังของพระเจ้าตากในวาระสุดท้ายไม่เหลือแล้ว และเหลือเพียงไม่กี่คนที่อยู่ฝ่ายเดียวกับพระองค์ ซึ่งหากดูภาพจากภายนอก ทุกคนจะคิดว่ากรุงธนบุรีนั้นเข้มแข็ง สามารถปราบรัฐใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ นครศรีธรรมราช หรือแม้กระทั่งเขมรได้ แต่ตัวเองโดนยึดอำนาจในหนึ่งคืน จึงเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการวางแผนที่ดีในการเปลี่ยนขั้วอำนาจได้อย่างชัดเจน”

เมื่อพระเจ้าตากไม่ได้มีอำนาจอีกต่อไป พื้นที่ตรงนี้จากเดิมที่เคยเจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางการปกครองก็แปรเปลี่ยนไป คุณปรามินทร์ เล่าข้อมูลจุดนี้ว่า จากเดิมในสมัยกรุงธนบุรี มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ฝั่ง แต่หลังจากพระเจ้าตากสินถูกยึดอำนาจ ได้มีการย้ายกรุงไปอยู่ฝั่งพระนคร และยังทำลายกำแพงเมืองธนบุรี (แถวอรุณอมรินทร์) เพื่อสลายภาพความจำของประชาชน และพื้นที่พระราชวังเดิม ก็ให้เชื้อสายที่มีความสัมพันธ์กับรัชกาลที่ 1 ได้อยู่สืบต่อกันมา     

จนกระทั่งย้ายกรุงทั้งหมดไปอยู่กรุงเทพมหานครแล้ว พื้นที่แห่งนี้ก็เป็นฐานที่ตั้งมั่นสุดท้ายของกลุ่มเจ้าพระยาจักรี จากการเป็นวังหลวง ที่มีชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน ก็ถูกรื้อแนวกำแพงทั้งหมด เพื่อแปรสภาพวังให้เป็นตำหนัก กล่าวคือ ทุกอย่างจะต้องถูกลดบทบาทความสำคัญลง ทั้งในเชิงสัญลักษณ์ และสถาปัตยกรรมต่างๆ ดังนั้น พื้นที่แห่งนี้จึงการเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร แต่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์และความสำคัญของสถาปัตยกรรมในพื้นที่นี้ก็ยังมีให้เห็นตราบจนถึงปัจจุบัน

ถ่ายภาพร่วมกันที่ MRT สถานีอิสรภาพ

ท่องเที่ยวฝั่งธน เดินทางสะดวกสบายเพียงใช้บริการ MRT

คุณปรามินทร์ ยังพูดถึงพัฒนาการของการเดินทางในฝั่งธนบุรีว่า ในอดีตการเดินทางมาฝั่งธนบุรียากลำบาก แต่ปัจจุบันการเดินทางก้าวหน้าไปจากเดิม อย่างการมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่ลอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาที่สถานีอิสรภาพ ช่วยให้การเดินทางขนส่งผู้คนสะดวกยิ่งขึ้น และยังทำให้การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ทั้งเที่ยววัดวาอารามต่างๆ ไม่เป็นเรื่องลำบากอีกต่อไป

“สำหรับโครงการ Happy Journey with BEM อยากให้มีการจัดขึ้นอีกต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากทำให้เราได้รู้และสัมผัสกับความจริงบางอย่าง ที่สำคัญคือได้เรียนรู้ในจุดที่เกิดเหตุ ฉะนั้น การได้มาสำรวจและเรียนรู้ในพื้นที่จริง ช่วยให้เราได้ตรวจสอบเรื่องราวโดยใช้สายตาและความรู้สึกของตัวเอง ว่าเป็นเรื่องจริงอย่างที่ประวัติศาสตร์เคยกล่าวมาหรือไม่ 

“ทั้งนี้ การเดินทางมาท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ อาจเป็นเรื่องอาหารการกิน ชุมชน หรือชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ได้ เพราะทุกพื้นที่ล้วนมีเรื่องราวให้น่าติดตามและค้นหาแทบทั้งสิ้น”      

จบทริปแห่งความสุขอย่างงดงาม กับ ‘Happy Journey with BEM’ ทริปที่ 5 สถานีอิสรภาพ ถือเป็นทริปที่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เสมือนได้มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียน ที่มีทั้งความสนุกและความสุขครบทุกรสชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวของชุมชนโดยรอบให้คึกคักและเข้มแข็งยิ่งขึ้นอีกด้วย 

หากอยากทราบว่าปีหน้า ‘Happy Journey with BEM’ จะไปที่ไหน ติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสาร ได้ที่ เฟซบุ๊ก: MRT Bangkok Metro ทวิตเตอร์: MRT Bangkok Metro อินสตาแกรม: mrt_bangkok และโมบายแอปพลิเคชัน Bangkok MRT “เดินทางปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ด้วยรถไฟฟ้า MRT” 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image