กลับมาอีกครั้ง! ‘Happy Journey with BEM’ ประเดิมทริปแรก สถานีวัดมังกร ‘ART JOURNEY รวมพลคนอาร์ตสายมู’ เที่ยวเสริมความเฮงรับปีกระต่ายทอง ฟรี! รับสมัครแล้ววันนี้ ถึง 6 มี.ค.

กลับมาอีกครั้งกับโครงการ Happy Journey with BEM ทริปท่องเที่ยวสุดเอกซ์คลูซิฟ โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ (BEM) ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ร่วมกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พาผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT เดินทางท่องเที่ยวสถานที่สำคัญรายรอบเส้นทางรถไฟฟ้า MRT   

ปีนี้พาทุกคนเปิดมุมมองใหม่ในการท่องเที่ยวไปกับโลกศิลปะ ภายใต้คอนเซปต์ Art Journey ด้วยเส้นทางสุดพิเศษกว่าเดิม สนุกกว่าเดิม เชื่อมความสุขแบบอาร์ตๆ จากการเดินทาง พร้อมเวิร์กช็อปงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ตลอดปี 2566  โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น 

ประเดิมทริปแรกที่ สถานีวัดมังกร ‘ART JOURNEY รวมพลคนอาร์ตสายมู’ เที่ยวเสริมความเฮงรับปีกระต่ายทอง วันเสาร์ที่ 11 มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 12.30 – 18.00 น. เปลี่ยนการท่องเที่ยวย่านเก่าให้เป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ ด้วยการอาสาพา ‘สายอาร์ต’ ผู้หลงใหลในงานศิลป์ ไปปักหมุดที่ สถานีวัดมังกร ชมการออกแบบภายในสถานีที่สื่อสารถึงวัฒนธรรมไทย-จีน พร้อมฟังสเปเชียล ทอล์ก ‘วิถีชุมชน ย่านวัดมังกร’ จาก สมชัย กวางทองพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเยาวราช ที่รู้จักทุกตารางเมตรของเยาวราชเป็นอย่างดี ร่วมกับ ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ จากเพจ Bangkok Sketchers กลุ่มศิลปินสร้างสรรค์ 

ต่อด้วยสถานที่ไฮไลต์สายมูต้องห้ามพลาดอย่าง ‘วัดมังกรกมลาวาส’ จะแก้ปีชงหรือขอพรให้ปัง รับพลังบวก เสริมดวงให้พุ่ง ค้าขายรุ่ง ก็ครบจบในที่เดียว ก่อนไปนั่ง ‘วาดรูปเล่น’ บนอุโบสถลอยฟ้า วัดลับกลางเยาวราช เก็บความทรงจำผ่านภาพสเก็ตช์ และบันทึกเมืองผ่านเส้นและสี กับกลุ่มนักสเก็ตช์ภาพชื่อดัง ‘Bangkok Sketchers’ ปิดท้ายด้วยอาหารเหลา ‘ยิ้มยิ้มภัตตาคาร’ ร้านที่ส่งต่อวัฒนธรรมอาหารจีนแต้จิ๋วผ่านเมนูเด็ดมากว่า 100 ปี อร่อยถูกใจอากงอาม่าตั้งแต่สมัยหนุ่มสาว

Advertisement

จุดสตาร์ท ‘สถานีวัดมังกร’

เริ่มต้นการเดินทางในครั้งนี้ด้วยการชมความงามของ MRT ‘สถานีวัดมังกร’ ที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของชาวไทยเชื้อสายจีน แนวถนนเจริญกรุง บริเวณสี่แยกแปลงนาม ใกล้กับวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ถือเป็นย่านที่มีวิถีชุมชนเป็นเอกลักษณ์และเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ของคนไทยเชื้อสายจีน จนถูกขนานนามว่าไชน่าทาวน์

Advertisement

ความพิเศษของสถานีวัดมังกร เริ่มตั้งแต่สถาปัตยกรรมภายในที่ตกแต่งแบบจีน-โปรตุเกส หรือชิโนโปรตุกีส เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เป็นย่านชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน และได้นำเอาแนวคิดและรูปแบบการตกแต่งมาจากวัดมังกรกมลาวาส จึงมีการใช้ภาพประดับต่างๆ ในสถานี อาทิ ภาพของมังกรที่เป็นสัตว์เทพเจ้า เป็นสัญลักษณ์การนำมาซึ่งความสุข และ ดอกบัว ดอกไม้มงคลที่สื่อถึงความบริสุทธิ์ มาเป็นองค์ประกอบสำคัญภายใน 

ด้านบนเพดานบริเวณทางลงสู่ตัวสถานี ออกแบบให้เหมือนท้องของมังกร โดยให้ประตูทางเข้าสถานีเป็นส่วนหาง และหัวของมังกรอยู่ภายในสถานี มีการใช้สีแดงและสีทองเป็นหลักในการตกแต่งภายในสถานี

แต่ก่อนเดินทางไปยังวัดมังกรกมลาวาส ทุกท่านจะได้ร่วมรับฟังสเปเชียล ทอล์ก ‘วิถีชุมชน ย่านวัดมังกร’ โดย สมชัย กวางทองพานิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเยาวราช ที่รู้จักทุกกระเบียดนิ้วของเยาวราชเป็นอย่างดี ร่วมกับ ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ จากเพจ Bangkok Sketchers กลุ่มศิลปินสร้างสรรค์ ที่จะมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวน่าสนใจของย่านเก่า และการบันทึกความทรงจำด้วยภาพวาด

ขอพร-แก้ชง ครบจบที่ ‘วัดมังกรกมลาวาส’ 

ออกจากจุดสตาร์ท เดินทางไม่กี่ก้าวเพื่อไปยัง ‘วัดมังกรกมลาวาส’ หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ ที่คุ้นเคยในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน สถานที่ยอดฮิตของสายมู สำหรับไหว้ขอพร แก้ปีชง รับความปังตลอดปี

วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2414 ใช้ระยะเวลาในการสร้างทั้งสิ้น 8 ปี เมื่อสร้างเสร็จจึงได้อาราธนาพระอาจารย์สกเห็ง มาเป็นเจ้าอาวาส และเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรกของประเทศไทย

ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธานของวัด อย่าง พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ ทั้งหมด 3 องค์ หรือ ‘ซำป้อฮุกโจ้ว’ พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์ หรือที่เรียกว่า ‘จับโป๊ยหล่อหั่ง’ 

ด้านหน้ามีวิหารจตุโลกบาลทั้ง 4 มีเทวรูปเทพเจ้า 4 องค์ (ข้างละ 2 องค์) ในชุดนักรบจีนถืออาวุธและสิ่งของต่างๆ กัน เช่น พิณ ดาบ ร่ม เจดีย์ ชาวจีนเรียกว่า ‘ซี้ไต๋เทียงอ้วง’ หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักรักษาคุ้มครองทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ 

ด้านหลังเป็นวิหารบูรพาจารย์ ส่วนด้านซ้ายขวาก็มีวิหารอื่นๆ อีก ทางด้านขวาของพระอุโบสถ มีเทพเจ้าต่างๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ ‘ไท้ส่วยเอี๊ย’ เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา ‘ฮั่วท้อเซียงซือ’ และที่นิยมไหว้ขอพรมากที่สุดคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ‘ไฉ่ซิงเอี๊ย’ เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ ‘ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว’ พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ ‘ปู๊กุ่ยฮุกโจ้ว’ ซึ่งคล้ายกับพระมหากัจจายนะ ‘กวนอิมผู่สัก’ (หรือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์) ‘แป๊ะกง’ และ ‘แป๊ะม่า’ รวมเทพเจ้าในวัด จะมีทั้งหมด 58 องค์

ปัจจุบัน วัดมังกรกมลาวาส กลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนย่านเยาวราช และผู้คนเชื้อสายจีนทั่วประเทศ เป็นสถานที่แก้ปีชง รวมถึงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพรรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน ความสำเร็จ ครอบครัว ความรัก สุขภาพ หรือความสุข และเป็นแหล่งจัดงานในเทศกาลต่างๆ อาทิ ตรุษจีน เทศกาลกินเจ เป็นต้น

‘วาดรูปเล่น’ ที่ อุโบสถลอยฟ้ากลางเยาวราช เก็บความทรงจำผ่านภาพสเก็ตช์

หลังจากไหว้พระขอพรจนอิ่มใจ ก็พาทุกคนเดินลัดเลาะย่านเยาวราช ตามเส้นทางถนนเจริญกรุงไปยังซอยแปลงนาม เยี่ยมชมอาคารร้านรวง สถาปัตยกรรมที่ยังคงกลิ่นอายความเก่าแก่ เต็มไปด้วยเรื่องราววิถีชีวิตและความผูกพันของคนในชุมชนตลอดสองฟากฝั่ง 

เพื่อไปยังจุดหมาย วัดชัยภูมิการาม (วัดญวนตลาดเก่า) วัดเก่าแก่ที่ซ่อนตัวอยู่บนชั้นลอยฟ้าของอาคารสูงกลางเยาวราช ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ถึงการมีอยู่ วัดชัยภูมิการาม เป็นอาคารสูง 7 ชั้น ศาสนสถานของชาวพุทธนิกายมหายาน ก่อตั้งโดยชาวญวนที่เข้ามาในไทยตั้งแต่อดีต โดยได้รับการผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมจีน 

แต่ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่บริเวณชั้น 7 ซึ่งเป็นพระอุโบสถลอยฟ้า มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่ชาวพุทธนิกายมหายาน (ฝ่ายอนัมนิกาย) ให้ความเคารพนับถือ 5 องค์ ได้แก่ พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธเจ้า องค์พระแม่กวนอิม (พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์) และพระกษิดิถรรกโพธิสัตว์

พร้อมกันนี้ยังพ่วงด้วยกิจกรรมสุดพิเศษสำหรับสายอาร์ตผู้ชื่นชอบการวาดภาพ ด้วยการพาผู้เข้าร่วมทริปนั่งสเก็ตช์ภาพร่วมกับ Bangkok Sketchers กลุ่มนักสเก็ตช์ภาพชื่อดัง ผู้ที่สนใจบันทึกประสบการณ์ด้วยภาพเขียน ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ ผู้คน หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ปักหลักถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำของตัวเองท่ามกลางวิวมุมสูงของเยาวราช

ความพิเศษยังไม่จบแค่นั้น สำหรับภาพวาดของผู้เข้าร่วมกิจกรรมในทริป ‘ART JOURNEY รวมพลคนอาร์ตสายมู’ ยังมีสิทธิได้รับคัดเลือกเพื่อนำไปจัดแสดงนิทรรศการที่สถานีรถไฟฟ้า MRT อีกด้วย!

ร่วมปิดท้ายทริปสุดประทับใจด้วยการพาไปทานอาหารเย็นที่  ‘ยิ้มยิ้มภัตตาคาร’ ร้านอาหารแต้จิ๋วร้านแรกในเยาวราช ส่งต่อวัฒนธรรมอาหารจีนแต้จิ๋วผ่านเมนูเด็ดมากว่า 100 ปี อร่อยถูกใจอากงอาม่าตั้งแต่สมัยหนุ่มสาว พร้อมรับของที่ระลึกสุดเอกซ์คลูซิฟกลับบ้านกันทุกคน!


“ปีที่แล้วเราพาผู้ร่วมทริป Happy Journey with BEM ไปท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สำรวจสถานที่น่าสนใจรอบๆ MRT สถานีวัดมังกร ครั้งนั้นเราเดินโดยรอบสถานีเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ก็ได้พบสถานที่น่าสนใจตลอดสองฟากฝั่ง ครั้งนี้เราจะพาทุกคนไปเรียนรู้ร่วมกันผ่านเรื่องราวของอาหารและอาคารย่านเยาวราช

การมาของรถไฟฟ้า MRT ไม่เพียงอำนวยความสะดวกให้กับคนนอกในการเดินทาง แต่ยังส่งเสริมให้คนนอกเข้ามาศึกษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของย่านเยาวราช และสำหรับคนในพื้นที่ MRT ได้ทำให้คนในตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่ยังมีอยู่ให้เด่นชัดขึ้นว่าสวยงามแค่ไหน เกิดการตื่นตัวของชุมชน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาคารต่างๆ ที่มีการอนุรักษ์เก็บรักษา ให้คงความสวยงามดั้งเดิมไว้ได้อย่างน่าสนใจ”  สมชัย กวางทองพานิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเยาวราช กล่าวถึงความน่าสนใจของทริปนี้

ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ Happy Journey with BEM’ ในทริป ART JOURNEY รวมพลคนอาร์ตสายมู’ เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมกิจกรรม ฟรี! ตั้งแต่วันนี้ ถึง 6 มี.ค. 66 ติดตามรายละเอียดที่เฟซบุ๊ก BEM Bangkok Expressway and Metro 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image