เจาะลึกเส้นทางศิลปะ กับ ‘บันชา ศรีวงศ์ราช’ ศิลปินสีน้ำระดับโลก ที่เชื่อว่าศิลปะอยู่ในตัวเราทุกคน

“ศิลปะคือชีวิตของมนุษย์ทุกคน มนุษย์ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน คือ จินตนาการ และศิลปะเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงออกถึงความเหนือชั้นของมนุษย์กับสัตว์”

ศิลปะ คำสั้นๆ ที่คุ้นหูมาตั้งแต่วัยเยาว์ ไม่ใช่เพียงวิชาวาดรูป แต่แฝงด้วยความหมายแสนลึกซึ้งมากกว่านั้น แท้จริงศิลปะไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล ทั้งหมดถูกหล่อหลอมอยู่ในตัวเราทุกคน โดยเรื่องราวศิลปะครั้งนี้ถูกถ่ายทอดผ่านเส้นทางชีวิตของ อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช ศิลปินสีน้ำระดับ World Master ที่รับรองโดย IWS (International Watercolor Society) และเป็นประธานคนปัจจุบันของ IWS Thailand 

‘โอกาส’ จุดเริ่มต้นเส้นทาง ‘ศิลปินสีน้ำระดับโลก’

Advertisement

อาจารย์บันชาเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางศิลปินสีน้ำของตัวเองว่า ตั้งแต่วัยเด็กอาจารย์อยู่ในครอบครัวที่ลำบาก มีพ่อแม่เป็นชาวนา เมื่อยากจน อยากเล่นของเล่นอะไรก็ไม่มีของจริง อยากได้รถสักคันก็เอากล่องมาประดิษฐ์แล้วลากเข็น ดีไซน์ในหัวว่าเป็นรถแบบไหน อยากได้ตุ๊กตาก็เอาดินมาปั้นใส่หัวใส่ตา ดีไซน์ว่าเป็นหุ่นยนต์ เอามาสู้กัน พอทำแบบนี้บ่อยๆ สิ่งที่ทำงานดีขึ้นคือ จินตนาการ ด้วยความที่ไม่มีของจริงสักอย่างพอเห็นอะไรก็เลยจินตนาการไปได้หมด ต่อยอดเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ 

สังคมต่างจังหวัดสมัยก่อนนั้นมักไม่ค่อยสนับสนุนให้เด็กเรียนร้องเพลง วาดรูป เพราะเห็นว่าไม่ใช่อาชีพที่สร้างรายได้ ส่วนใหญ่จะให้ลูกไปเรียนเป็นครู หมอ หรือทหาร แต่โชคดีของอาจารย์บันชาที่มีพ่อแม่ที่เข้าใจและให้โอกาส โดยมีพ่อที่ชอบวาดรูปให้ดู และแม่ทำหน้าที่หาสปอนเซอร์ให้ไปแข่งวาดรูปตามต่างจังหวัด 

นอกจากความเข้าใจของพ่อแม่ โชคดีต่อมาของอาจารย์บันชา คือการเข้าเรียนมัธยมในโรงเรียนประจักษ์ศิลปาคาร ได้เจอครูที่รักและเมตตา ให้ไปนอนที่บ้านพักครู มีเครื่องมืออุปกรณ์ให้วาดรูปโดยที่ไม่ต้องซื้อ แลกกับการช่วยครูทำความสะอาดดูแลบ้าน พร้อมตอบแทนโดยการประกวดและคว้ารางวัลให้ครูได้มีกำลังใจ สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน เมื่อมาเรียนอาชีวะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ก็เจอครูที่น่ารัก ดูแลเหมือนพ่อแม่ ทั้งยังมีเพื่อนที่คอยสนับสนุน 

Advertisement

“วิชาสีน้ำไม่ค่อยมีคนวาดเพราะมันวาดยาก มีอาจารย์โผล่มาคนเดียว เพื่อนก็เชียร์ ตอนนั้นก็คว้าแชมป์ภาคอีสานมาเป็นของขวัญให้ครูในอาชีวะ และโชคดีที่สุดคือมาเรียนวิทยาลัยเพาะช่าง ได้เจอ อ.ปัญญา เพ็ชรชู ที่ท่านเป็นบรมครู ท่านสอนทุกอย่างทั้งการวางตัว การพูด การเป็นครูที่ดี การเคารพนบนอบผู้ใหญ่ วิธีหาความรู้ รวมทั้งได้เจอครูเก่งๆ ที่มารวมกันอยู่ที่เพาะช่าง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของยอดฝีมือ เวลาเขาทำงานหรือคุยกัน เราก็เหมือนได้ดูโดยที่ไม่ต้องไปเสียเงินเรียน แล้วท่านก็จะมาวิจารณ์งานเรา ก็เลยโชคดีครั้งใหญ่ จนกระทั่งได้รับราชการเป็นครู”

ความไม่รู้ ที่มาพร้อมความพยายาม

เมื่อถามถึงเหตุผลของการเลือกเส้นทางศิลปินสีน้ำ ทั้งที่พูดไว้ตั้งแต่ต้นว่าสีน้ำวาดยาก อาจารย์บันชาเล่าให้ฟังว่า ทุกที่เวลาที่มีวัสดุฝึกจัดไว้ สีน้ำจะไม่ค่อยมีใครใช้ เหลือทั้งกระดาษและสี พอวาดยากเพื่อนก็ไม่ค่อยเขียน ไม่มีใครส่งประกวด ด้วยความที่ตัวเองไม่ค่อยมีเงินเลยมองว่าเขียนสีน้ำที่ไม่มีใครใช้ดีกว่า จะได้ไม่ต้องไปแย่งกับใคร มีเครื่องมือเยอะ ใช้เวลากับมันได้เต็มที่ จึงไปฝึกโดยที่ไม่รู้เลยว่ายาก ช่วงแรกก็เละ แต่ฮึดสู้กับมัน ฝึกอยู่คนเดียว ถึงขั้นไม่เงยหัว ไม่กินข้าวกินปลา หลับคาพู่กันก็มี 

“ตอนแรกไม่รู้ว่าหลงใหลหรืออะไร แค่อยากเก่ง เราเชื่อคำสุนทรภู่ที่ว่า ‘รู้อะไรให้กระจ่างแต่อย่างเดียว ขอให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล’ ถ้าเราทำอะไรไม่เก่งเลย แต่ถ้าวาดรูปเก่งก็น่าจะดี วาดขายได้ ตอนแรกไม่คิดอะไร คิดแค่ว่าจะวาดและเอาไปขายเพื่อให้ได้เงินมาดูแลตัวเอง ถ้าเขียนแล้วขายได้วันละ 300-500 อีกหน่อยก็รวย ไม่ได้คิดว่ามันต้องยิ่งใหญ่อะไร”

‘สีน้ำ’ สื่อที่พาไปสู่วิชาอื่น

ความสุขของแต่ละคนอาจแตกต่างกันตามความชื่นชอบเฉพาะตัว แต่สำหรับอาจารย์บันชาแล้ว แววตาที่ทอประกายแห่งความสุขถูกถ่ายทอดออกมายามพูดถึงความพิเศษของภาพสีน้ำ 

“ถ้าเป็นสมัยก่อนมองว่ามันง่ายในแง่ของการเตรียมการ มีแค่สีน้ำกับกระดาษก็เขียนได้เลย แต่พอเราเรียนไปเรื่อยๆ สีน้ำ คือ พหุวิชา เป็นตัวแทนของการแสดงออกทางองค์ความรู้ที่สำคัญ เช่น เมื่อเรียนรู้การระบายพื้นฐานเสร็จ ต้องเรียนรู้ว่าแสงกับสีเดินทางด้วยความเร็วไม่เท่ากัน เริ่มศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์เข้ามา นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการวาดเงาตกกระทบที่ต่างกันตามแต่ละพื้นที่ การแสดงอุณหภูมิร้อน-เย็น ที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ ทำให้รูปเขียนรูปหนึ่งกลายเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ สีน้ำเริ่มเป็นสื่อที่พาเราไปสู่วิชาอื่น จึงเข้าใจว่าสีน้ำมีความลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่การวาดรูปธรรมดา”

ปวารณาตัวเป็น ‘ครู’ ที่ให้ความรู้กับทุกคน

หากใครเคยเห็นผลงานของอาจารย์บันชา จะพบกับภาพวาดจิตรกรรมสีน้ำที่มีอิทธิพลจากสไตล์อิมเพรสชันนิสม์ โดยอาจารย์เล่าว่า ชอบการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา ต้องบันทึกเหตุการณ์ตรงหน้า ณ ขณะนั้นให้ทันเวลา และจบแค่ตรงนั้น หรือที่เรียกว่าปัจจุบันขณะ ความชื่นชอบนำมาสู่การเดินทาง หลังเขียนภาพในประเทศไทยจนทั่ว จึงออกเดินทางไปยังต่างประเทศ มุ่งหน้าสู่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยแสงสีอันสวยงาม แสงแดด องศา ความสะอาด ความโปร่งของอากาศ ที่แตกต่างจากประเทศไทย ทำให้ค้นพบความงาม และความสุขของการเขียนรูปในสไตล์อิมเพรสชันนิสม์

นอกจากนี้ อาจารย์บันชาได้อธิบายถึงศิลปะในมุมมองของตนเองว่า ศิลปะอยู่ในตัวเราทุกคน ทุกคนเป็นศิลปะ เช่น เมื่อเรารู้รูปร่างตัวเองก็จะเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะกับตัวเรา เลือกสีสัน โทนที่ชอบ หรือการจัดบ้าน จัดห้อง ก็ต้องออกแบบมุมต่างๆ สรุปแล้วศิลปะไม่ได้อยู่ข้างนอกแต่อยู่ข้างใน 

“ศิลปะคือชีวิตของมนุษย์ทุกคน มนุษย์ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน คือ จินตนาการ และศิลปะเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงออกถึงความเหนือชั้นของมนุษย์กับสัตว์” อาจารย์บันชากล่าว 

เมื่อถึงจุดเปลี่ยนที่ค้นพบว่าศิลปะไม่ใช่แค่วิชาวาดรูป แต่ศิลปะสีน้ำยังสามารถนำมาฝึกพัฒนาจิตใจหรือยกระดับจิตใจของมนุษย์ได้ อาจารย์บันชาจึงเปลี่ยนความคิดจากการเขียนรูปขายให้ได้เงินเยอะ สู่การส่งต่อความรู้ให้ผู้อื่น

“สิ่งที่เราเจอจะเกิดประโยชน์ยังไงถ้าเราไม่เผื่อแผ่ถ่ายทอดให้คนอื่น ในฐานะครูศิลปะ ก็เลยกลับมาเพื่อทำองค์ความรู้ตรงนี้ขึ้นมาใหม่ เพราะเมื่อศิลปะไม่ใช่แค่การวาดรูปก็แปลว่ามันต้องมีอะไรหลายอย่างที่เราต้องบอกลูกศิษย์ ประเทศไทยต้องให้เด็กรู้มากกว่านั้น

“การวาดรูปเป็นการสื่อสารที่ละเอียด เหมือนกับเรานั่งสมาธิ เมื่อเราวาดภาพบ่อยๆ มือกับสมองเราจะเริ่มทำงานสัมพันธ์กันดีขึ้น ศิลปะสอนให้เราประณีต อาจารย์ถึงปวารณาตัว เพราะเราเห็นก่อนแล้ว ถ้าเราไม่เอาเรื่องนี้มาคุยกับลูกศิษย์ อาจารย์ก็สำเร็จแค่คนเดียว เป็นที่มาว่าทำไมตอนนี้ถึงปวารณาตัวจะกลับมาเป็นครูที่ให้ความรู้กับทุกคน”

‘ตวัดพู่กัน บันทึกสีน้ำ เล่าเรื่องรอบราง’ 

เมื่อศิลปะคือความงดงามที่ช่วยยกระดับจิตใจของมนุษย์ได้ Happy Journey with BEM’ โครงการท่องเที่ยวที่จัดโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงจัดเวิร์กชอปงานศิลปะสุดเอกซ์คลูซิฟ ร่วมกับศิลปินชื่อดัง ตอบแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ฟรี! ตลอดปี 2566

ชวนสายอาร์ตนักเดินทางทุกระดับ ร่วมบันทึกภาพประทับใจผ่านลายเส้นสีน้ำ ในกิจกรรม ‘ตวัดพู่กัน บันทึกสีน้ำ เล่าเรื่องรอบราง’ กับ Watercolor Master ระดับโลก อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราชMETRO ART สถานีพหลโยธิน ในวันที่ 11 และ 27 เมษายน 2566 

“ความพิเศษที่จะได้พบในกิจกรรมนี้ ทุกคนต้องตบเข่าแล้วบอกว่า อาจารย์มันแค่นี้เองหรอ ไม่น่าเชื่อว่าการวาดสีน้ำมันจะง่ายขนาดนี้ ด้วยรูปแบบของเทคนิคที่เรียบง่ายที่อาจารย์จะแนะนำ โดยเวิร์กชอปนี้จะเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป จากหลากหลายอาชีพ ทั้งคนที่วาดเป็นแล้ว หรือคนที่ไม่เคยวาดเลย แต่เชื่อได้เลยว่าทุกคนจะได้รูปสวยๆ กลับบ้านแน่นอน 

“เชิญชวนทุกคนที่อยากร่วมกิจกรรม Happy Journey with BEM ครั้งนี้ ถ้ามีโอกาสเจอกันเราจะได้มอบเทคนิคหรือวิธีการที่อาจารย์ย่อยให้แล้ว เป็นวิธีการง่ายๆ ที่จะสร้างภาพขึ้นมา สิ่งที่ทุกคนจะได้กลับไปคือ ภาพ วิธีคิด วิธีการนำไปใช้ และทุกคนเอาทั้งหมดไปพัฒนาที่บ้านได้ มาครั้งเดียวคุ้มเลย ที่สำคัญฟรีหมด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” อาจารย์บันชาเล่าถึงความพิเศษของกิจกรรม พร้อมเอ่ยเชิญชวน

ร่วมเดินทางท่องโลกศิลปะไปพร้อมกัน ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ Happy Journey with BEM 2023’ บันทึกภาพประทับใจผ่านลายเส้นสีน้ำ กับกิจกรรม ตวัดพู่กัน บันทึกสีน้ำ เล่าเรื่องรอบรางปักหมุด METRO ART สถานีพหลโยธิน วันที่ 11 และ 27 เมษายน 2566 ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ https://bit.ly/3JR8O7g หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มที่ เฟซบุ๊ก BEM Bangkok Expressway and Metro

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image