ขัดแย้งในพื้นที่!! อีกสาเหตุไฟไหม้ป่าเหนือ?

ท่ามกลางกระแสข่าวไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือที่ส่งผลให้ระดับคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย มีผุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แพร่กระจายคละคลุ้งเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ กระทบถึงสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน โดยข้อมูลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระบุว่าหมอกควันที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากไฟป่าตามธรรมชาติถึง 90% สอดคล้องกับที่เกษตรกรบ้านกองกาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่บอกว่าปีนี้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในเชียงใหม่นั้นถือว่ารุนแรงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ค่อนข้างมาก

การระบุว่าสาเหตุของปัญหาไฟไหม้ป่าในปีนี้เกิดจากภัยธรรมชาติถึง 90% นั่นก็หมายความว่าอีก 10% ที่เหลือ เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ดังที่เราได้เห็นหลักฐานเป็นภาพกล่องไม้ขีดพร้อมเผา วางอยู่บนใบไม้แห้งในพื้นที่ป่า รวมถึงข่าวคราวการจับกุมมือวางเพลิงทั่วประเทศได้กว่า 200 คน … และล่าสุดคือการจับกุมบุคคลที่กำลังจุดไฟเผาขณะที่อาสาสมัครกำลังดับไฟแบบคาหนังคาเขา

อะไรทำให้ “คน” ต้องเผาป่า?
บางเสียงมองว่าเป็นการเมืองระดับประเทศ บางเสียงมองว่าเป็นเรื่องการเมืองท้องถิ่น เป็นเรื่องผลประโยชน์ของธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ นอกเหนือไปจากการเผาป่าเพื่อเห็ดถอบ เพื่อผักหวาน หรือการหาของป่าอื่นๆ รวมไปถึงการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่อย่างข้าวโพดและอ้อยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นเหตุให้บางคนกล่าวโทษไปถึงผู้ผลิตอาหารสัตว์ซึ่งเป็นผู้รับซื้อข้าวโพดไปด้วยเลย

อันที่จริงเรื่องของผู้รับซื้อข้าวโพด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ซีพี” น่าจะรอดพ้นจากข้อกล่าวหานี้ได้ (แปลกใจที่ยังคงเห็นบางคนพยายามโยนให้เป็น “แพะ” ในกรณีนี้ให้ได้) เพราะบริษัทฯเขาประกาศนโยบายไม่รับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่รุกป่ามาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีมาตรการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์จากเกษตรกรทุกรายที่นำข้าวโพดมาจำหน่ายให้แก่พ่อค้าพืชไร่ ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข้าวโพดส่งให้แก่โรงงาน ข้าวโพดทั้งหมดจะตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มา อันเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากสหภาพยุโรป(EU)ที่เขาค้าขายด้วยนั้น มีแนวโน้มจะกำหนดหลักเกณฑ์การค้า ภายใต้เงื่อนไขการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นั่นหมายความว่า โรงงานอาหารสัตว์ซีพีไม่รับซื้อข้าวโพดที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ขณะที่พื้นที่ที่กำลังเกิดเพลิงไหม้นี้ไม่มีโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ใดๆ แน่นอน ดังนั้น ต่อให้ปลูกข้าวโพดได้ ก็ขายให้ซีพีไม่ได้ ส่วนจะขายให้รายอื่นๆหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อ

Advertisement

กลับมาที่เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าปีนี้ซึ่งรุนแรงกว่าทุกปี ดูจะมีแนวโน้มที่การเผาจากฝีมือมนุษย์นั้นจะไม่ใช่เหตุปกติ ประเด็นเรื่องการเมืองหลังเลือกตั้งที่ใช้วิธีสร้างสถานการณ์ดิสเครดิตรัฐบาลก็เป็นไปได้ แต่หากคนในพื้นที่ไม่เล่นด้วยประเด็นนี้ก็น่าจะทำไม่สำเร็จ เพราะทุกคนคงจะรักและหวงแหนถิ่นที่อยู่ของตน

แล้วในทางกลับกันล่ะ?ถ้าคนในพื้นที่มองแต่ผลประโยชน์ส่วนตนจนบังตา ลงมือเผาทำลายธรรมชาติอันสวยงามเพียงเพราะถ้าข้าไม่ได้ประโยชน์เอ็งก็อย่าหวังว่าจะอยู่ได้…ดังกระทู้หนึ่งในพันทิป ( https://pantip.com/topic/38722827) ที่ทำให้พอมองเห็นสาเหตุที่ไฟป่าปีนี้รุนแรงกว่าทุกปี

ผู้เขียนไม่ได้ฟันธงว่านี่เป็นสาเหตุหลักแต่อยากชวนให้มองเบาะแสข้อมูลจากหลายๆคอมเม้นท์ในกระทู้นี้ ซึ่งค่อนข้างชัดเจนและเป็นเหตุเป็นผล น่าจะช่วยให้เราแก้ปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ได้ในอนาคต อาทิ

Advertisement

• คนในพื้นที่พูดกันว่าเค้ารู้ว่าใครเผา มีทั้งลูกหาบและเจ้าของรีสอร์ท
• การจองขึ้นดอยแบบใหม่ปี 61 เป็นการคอนแทคของนักท่องเที่ยวกับเขตโดยตรงผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงเขตได้จัดหาเต็นท์ ถุงนอน แผ่นรองนอน เตาแก๊สไว้ให้เช่า แต่กับระบบนี้ดูคนท้องถิ่นจะไม่ชอบใจนัก คนนำทางที่ร่วมรถกับเรา บ่นถึงระบบการจองบอกว่าทำให้ชาวบ้านเสียผลประโยชน์ ตัดทางทำมาหากินโดยราชการเก็บเงินมันไม่ถูก
• เขาไม่ชอบใจหัวหน้าเขตคนใหม่ ไม่ชอบระบบจองออนไลน์ มันเป็นการเลียนแบบต่างประเทศ แต่นี่มันเมืองไทย ระเบียบเยอะแยะ ทำแบบนี้มันคอมมิวนิสต์??? ปกติชาวบ้านได้ค่าเต็นท์ค่าอะไร ราชการมีสิทธิ์เก็บแค่ค่าเข้าอุทยาน
• เกิดไฟป่าในพื้นที่ คนที่ต้องรับผิดชอบคือหัวหน้าอุทยานครับ เป็นการเผาไล่คนที่ไม่ชอบน่ะ
• ไปมาเมื่อปลายปี 61 ได้ยินประโยคคล้ายๆกันเลยค่ะ จากปากคนนำทาง คนนำทางกลุ่มที่เราไปไม่ชอบอุทยานคนใหม่มากๆ ไปชวนคุยทุกเต๊นท์เรื่องนี้ ไม่พอใจการจัดการขึ้นดอยแบบผ่านอุทยานเป็นตัวกลาง พอเห็นไฟป่าก็นึกถึงเรื่องที่คุยขึ้นมาทันที

อ่านแล้วให้รับรู้ได้ว่าอิทธิพลของขาใหญ่ในพื้นที่นั้นมีไม่น้อยเลย ขนาดจับคนเผาได้ต่อหน้าต่อตาทางการยังปรับแค่ 500 บาทแล้วปล่อยตัว เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ต้องเกรง “กฎหมู่” ที่อาจเอากันถึงตายได้

หากรู้ว่าสถานการณ์ไฟไหม้ป่าในพื้นที่ภาคเหนือมีสาเหตุนี้อยู่ด้วย ก็หวังว่าจะช่วยให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างถูกจุด ซึ่งต้องถอยไปถึงวิธีทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่จำเป็นต้องร่วมมือกับคนท้องถิ่นให้ได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่าในพื้นที่นั้นๆจะมีเจ้าถิ่นอยู่หรือไม่ แนวทางการเข้าถึงมวลชนในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ คำสั่งจากส่วนกลางที่ลงไปต้องไม่สร้างผลกระทบให้ผู้น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ต้องเผชิญอันตรายจากกฏหมู่ที่อาจเกิดขึ้น

และที่สำคัญ “กฏหมาย” ต้องอยู่เหนือ “กฏหมู่” จับมือเผาและมือจ้างวานได้แล้วรัฐต้องกล้าลงโทษอย่างสาสม ไม่ใช่ปรับ 500 แล้วปล่อยตัวอย่างที่เห็น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image