‘ป๋าเปรม’ สิ้นแล้วที่ รพ.พระมงกุฎฯ ด้วยวัย 99 ปี หลังยื้อชีวิตอยู่นาน 3 ชม.

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม รายงานข่าวเปิดเผยว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ป่วยหมดสติอยู่ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ เวลา 05.00 น. วันนี้ทางคนในบ้านจึงได้แจ้งที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ก่อนจะส่งรถพยาบาลพร้อมแพทย์และพยาบาลมายังบ้านพัก เมื่อมาถึงพบว่า พล.อ.เปรมหมดสติ จึงทำการปฐมพยาบาล และปั๊มหัวใจ ใส่เครื่องช่วยหายใจ ก่อนนำขึ้นรถพยาบาล มายังโรงพยาบาลทันที

เมื่อมาถึงโรงพยาบาล รีบนำเข้าห้อง CCU (ห้องผู้ป่วยวิกฤตหัวใจ) ชั้น 3 อาคารสมเด็จย่า ก่อนระดมทีมแพทย์ ทำซีพีอาร์ (ปั๊มหัวใจ) อยู่ประมาณ 3 ชั่วโมง ร่างกายไม่ตอบสนอง ก่อนที่ พล.อ.เปรมจะสิ้นในเวลาประมาณ 08.00 น. วันนี้

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ช่วงหัวค่ำวันที่ 25 พ.ค. ก่อนที่ พล.อ.เปรมจะหมดสตินั้น ได้พูดคุยกับนายทหารคนสนิทและได้สั่งการเรื่องงานต่างๆ ก็ไม่มีท่าที่จะป่วยแต่อย่างใด ก่อนที่จะเข้าไปนอนพักผ่อน และในเวลา 05.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่พล.อ.เปรม ตื่น ทางทหารที่อยู่ที่บ้านได้เข้าไปดูก็พบว่ายังนอนอยู่ ดูแล้วว่าผิดสังเกตจึงได้เรียก พล.อ.เปรม ก็ไม่ตื่น จึงได้เรียกแพทย์ที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า มาดูอาการดังกล่าว ก่อนนำส่ง รพ.

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศหน้าห้อง CCU ยังคงมีนายทหารติดตาม และทหารที่อยู่ในบ้านสี่เสาฯ เดินเข้า-ออกตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ถือพานนำพวงมาลัยมาไหว้ พล.อ.เปรม ตลอดเวลา

Advertisement

พล.ร.อ.พจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษและนายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปฏิเสธตอบคำถาม ภายหลังมีกระแสข่าว พล.อ.เปรม เสียชีวิตที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า ” ผมพูดไม่ได้ ให้ไปดูเองที่ รพ.พระมงกุฎ”

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อ พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิ รัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และเป็นนายทหารคนสนิท แต่ไม่รับสาย

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ บริเวณหน้าอาคารสมเด็จย่าฯ เมื่อเวลา 12.15 น.พระธรรมกวี เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาชวรวิหาร ได้เดินทางขึ้นไปเคารพร่าง พล.อ. เปรม จากนั้นพล.อ.ท.ภักดี แสง-ชูโต รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ได้เดินมาทางมาพร้อมเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวัง ประมาณ 30 นาที ก่อนจะลงมาขึ้นรถออกไปทันที และในเวลา 12.30 น.พล.ท.ภาณุวิชญ์ พุ่มหิรัญ อดีตเจ้ากรมแพทย์ทหารบก ก็ได้ขึ้นไปบนตึกเช่นกัน

ต่อมาเวลา 13.00 น. พ.อ.รชต ลำกูล ผู้อำนวยการกองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ได้แจ้งกับสื่อมวชน ว่า ในวันนี้ทางโรงพยาบาล จะไม่มีแถลงการณ์หรือแถลงข่าวการอสัญกรรมของพลเอกเปรม แต่อย่างใดและแจ้งให้สื่อมวลชนทราบว่า สำนักพระราชวังจะเป็นผู้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ขณะที่บรรยากาศที่โรงพยาบาลฯ จนถึงช่วงบ่าย มีประชาชนที่รักและเคารพพลเอกเปรม เดินทางมารอติดตามข่าวเพื่อแสดงความอาลัยพลเอกเปรมด้วย

ย้อนไปก่อนหน้านี้มีกระแสข่าว พล.อ.เปรม ล้มป่วยและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามาโดยตลอด และมาปรากฏตัวครั้งแรกในการเดินทางมาเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตที่หน่วยเลือกตั้งโรงเรียนสุโขทัย ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2562 โดย พล.อ.เปรม นั่งเก้าอี้วีลแชร์ พร้อมด้วยสายออกซิเจน

จากนั้นวันที่ 10 เม.ย. พล.อ.เปรม เปิดบ้านให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ นำรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีทหาร และ ผู้นำเหล่าทัพ เข้าขอพรและรับพรเนื่องในโอกาสวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันนั้น พล.อ.เปรม มีสีหน้าสดใส ยิ้มแย้ม อารมณ์ดี พร้อมทั้งพูดติดตลกกับผู้สื่อข่าวที่อวยพรให้มีอายุถึง 120 ปีว่า ถ้าอยู่ถึงคงต้องคลานแทนเดิน

อย่างไรก็ตาม พล.อ.เปรม ปรากฏตัวครั้งสุดท้ายในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับประวัติ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ เกิด 26 สิงหาคม 2463 อายุ 98 ปี, อำเภอเมืองสงขลา โดยล่าสุดเป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย ระหว่างปี 2523 ถึง 2531 และเป็นผู้บัญชาการทหารบก

พล.อ.เปรม เกิดที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ชื่อ “เปรม” นั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุล “ติณสูลานนท์” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2462 เป็นบุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวน 8 คน

พล.อ.เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา  ในหมายเลขประจำตัว 167 และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)

เมื่อจบการศึกษาในปี 2484 ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2485 – 2488 ที่เชียงตุง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image