ชิงเดือด เก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. ‘โซเชียล-นิวโหวตเตอร์’ ชี้ชัย?

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เปิดฉากขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และถือเป็นครั้งแรกหลังจากเว้นว่างมา 9 ปี และเป็นครั้งแรกของการเลือกตั้ง ส.ก.ที่ว่างเว้นมานานกว่า 12 ปี การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ส่วนการเลือกตั้ง ส.ก.นั้นเกิดขึ้นครั้งล่าสุดวันที่ 29 สิงหาคม 2553 แน่นอนว่า ด้วยระยะเวลาที่ถูกทิ้งห่างหลายปีเช่นนี้ การแข่งขันของผู้สมัครที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่พ่อเมือง แม่เมือง จึงถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ ว่าใครจะได้รับความไว้วางใจจากคนกรุงให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเมืองหลวงของประเทศ

โดยภายหลังจากที่ผู้สมัครได้หมายเลขประจำตัวกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่างก็ลุยลงพื้นที่หาเสียงขอคะแนนกับคนกรุงกันอย่างเต็มที่ บางคนเดินสายกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เร่งพีอาร์โปรโมต นำเสนอโปรไฟล์และนโยบายตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหวังให้เป็นที่ยอมรับและแปรเป็นคะแนนเสียง แม้ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.จะเป็นเพียงสนามการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติ อย่างน้อยๆ คะแนนที่ผู้สมัครได้รับจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้สมัครที่ลงชิงชัยในนามพรรคการเมือง จะสามารถช่วยวัดฐานคะแนนเสียง กทม.ในสนามเลือกตั้งใหญ่ได้ระดับหนึ่ง

ขณะที่ผู้สมัครอิสระจะได้วัดความนิยม หากอนาคตตัดสินใจลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งระดับชาติ หากดูตัวเลขจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะพบว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวน 4,374,131 คน (ข้อมูลคำนวณถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2565) แบ่งเป็น เพศชาย จำนวน 1,996,104 คน เพศหญิง จำนวน 2,378,027 คน และจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือนิวโหวตเตอร์ ประมาณ 6-7 แสนคน ความน่าสนใจอยู่ตรงนิวโหวตเตอร์มีสัดส่วนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดจะเทคะแนนไปให้ผู้สมัครรายใด หรือแม้กระทั่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้ออกมาใช้อำนาจของตัวเองเลือกผู้แทนนานนับสิบปี จะตื่นตัวออกไปเลือกตัวแทนที่ชื่นชอบคนใด เมื่อดูจากรายชื่อผู้สมัครจะเห็นว่ามี “ตัวเต็ง” หลายคน มีทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ในนามการเมือง

แน่นอนว่าช่วงเวลา 2 เดือนก่อนถึงวันเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม หากผู้สมัครคนใดชูนโยบายหรือลงพื้นที่หาเสียงได้ถูกใจคนกรุง โอกาสที่จะได้รับชัยชนะย่อมเป็นไปได้สูง ขณะที่่การวางแผนและกลยุทธ์การสู้ศึกเลือกตั้งในส่วนของพรรคการเมืองนั้น

Advertisement

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.พรรค ปชป. มองถึงการตื่นตัวที่คน กทม.จะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งว่า คาดว่าคนจะออกมาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.กันเยอะ เพราะรอบที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผูู้ว่าฯกทม. ลงรับเลือกตั้งเมื่อ 9 ปีที่แล้ว มีคนออกไปใช้สิทธิถึง 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ มองว่าครั้งนี้ต้องพอๆ กับรอบที่แล้ว หรือไม่ก็มากกว่า เนื่องจากไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.กับ ส.ก.มาหลายปี ทั้งนี้ จะเห็นได้จากการรณรงค์หาเสียงอย่างคึกคัก โดยเฉพาะการหาเสียงผ่านทางโซเชียล เพื่อทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือนิวโหวตเตอร์ (New Voter)

ในส่วนของพรรค ปชป.นั้น “ปริญญ์” บอกว่า จริงๆ ผู้สมัคร ส.ก.ทุกคน และผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ก็ใช้ช่องทางทั้งทางโซเชียลและออฟไลน์ เช่น การใช้เฟซบุ๊กไลฟ์และหลายๆ มิติของการใช้โซเชียลในการหาเสียงให้ครอบคลุมในการสื่อสารกับประชาชนทุกกลุ่ม ต้องให้ความสำคัญกับออนไลน์มากกว่าเมื่อ 9 ปีที่แล้วแน่นอน ในการเลือกตั้งครั้งนี้คนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกอาจจะอยู่บนโลกออนไลน์เยอะ เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารนโยบาย สื่อสารข้อมูลให้กับประชาชนในโลกออนไลน์มากขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อมูลในออนไลน์บางครั้งอาจจะต้องใช้วิจารณญาณในการเสพ เพราะอาจจะมีข้อมูลที่เป็นข่าวปลอม หรือข้อมูลไม่ตรงความจริง มั่นใจว่าผู้สมัครทุกคนมีเซนส์ในการหาเสียงอยู่แล้ว พยายามจะไม่ขายข้อมูลที่เกินจริง การลงโซเชียลจะลงผลงานที่เป็นประจักษ์ เป็นรูปธรรมจริง ไม่ได้ไปขายฝันและต้องทำได้จริง

Advertisement

“พรรค ปชป.มั่นใจว่าเราพยายามเสนอตัวเลือกที่ดีที่สุดให้กับพี่น้องคนกรุงเทพฯ ทุกรุ่นทุกวัยไม่ใช่แค่กลุ่มนิวโหวตเตอร์ ทั้งนี้ คิดว่าขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ที่เป็นนิวโหวตเตอร์ และขอให้เปิดใจรับฟังนโยบายของพรรคที่น่าจะมีนโยบายที่โดนใจคนรุ่นใหม่ เช่น นโยบายเรื่องไวไฟฟรี นโยบายการจ้างงานกองทุนจ้างงานที่จะช่วยยกโอกาสเข้าถึงการทำงาน นโยบายเรื่องการศึกษา และนโยบายเรื่องให้มีหมอใกล้บ้าน มีโรงพยาบาลสาธารณสุขใกล้บ้าน เชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่หวังว่าคนรุ่นใหม่จะเปิดใจและรับฟัง” นายปริญญ์ระบุ

ส่วน พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย (พท.) สะท้อนมุมมองการทำพื้นที่และการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.ว่า เชื่อว่าเสียงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือนิวโหวตเตอร์ ประมาณ 7 แสนเสียง จะส่งผลต่อทิศทางการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.แน่นอน เพราะนิวโหวตเตอร์ครั้งนี้มีจำนวนมาก การเลือกตั้งสนาม กทม.ที่ผ่านมามีผู้ใช้สิทธิประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประมาณการว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิมากขึ้น เพราะไม่ได้เลือกตั้งมาเกือบ 10 ปี และนิวโหวตเตอร์มีความสนใจการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น เพราะมีพรรคการเมืองที่ตัวเองสนใจ ทำให้ตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ

ที่ผ่านมาการแพ้ชนะของ ส.ก.แต่ละเขตจะมีคะแนนแตกต่างระหว่างที่ 1 และที่ 2 อยู่ประมาณ 3 พัน ถึง 5 พันคะแนน หากนิวโหวตเตอร์ออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก และเต็มจำนวน 100 เปอร์เซ็นต์ อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองได้ ส่วนพรรคการเมืองใดจะได้รับคะแนนจากนิวโหวตเตอร์มากที่สุดนั้น “พลภูมิ” มองว่า อันดับหนึ่งคือพรรคก้าวไกล (ก.ก.) รองลงมาคือพรรค พท. ปัจจุบันได้ปรับแนวทางการสื่อสารผ่านโซเชียล และทำนโยบายช่วงชิงความนิยมจากคนกลุ่มนี้

ขณะที่เสียงจากกลุ่มนิวโหวตเตอร์จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้หรือไม่นั้น พลภูมิระบุว่า ไม่กล้าคิดว่าเสียงของคนกลุ่มนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางใด เพราะบางครั้งการเมืองมีหลายมิติ กลัวว่าคนรุ่นใหม่จะเลือกไปตามกระแส หากเลือกไปตามกระแสก็มองไม่เห็นว่าจะนำไปสู่การพัฒนา หรือความขัดแย้งในอนาคตหรือไม่ แต่หากมองความเป็นจริงและเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ เชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องใช้เวลา ไม่สามารถหุนหันพลันแล่น หรือทำให้เกิดขึ้นภายใน 4 ปีได้ เพราะเวลาแค่ 4 ปี ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะการเมืองนั้นเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

ส่วนพรรคการเมืองขนาดใหญ่ หรือพรรคเก่าแก่ที่ก่อตั้งมานานแล้วจะมีแนวทางเพื่อได้คะแนนเสียงจากนิวโหวตเตอร์อย่างไรนั้น “พลภูมิ” ประเมินว่า ทุกพรรคการเมืองพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ทันต่อคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง คือไม่สามารถจะเน้นไปที่กลุ่มคนกลุ่มเดิมได้อีกต่อไป แต่กลุ่มคนเหล่านี้จะให้การยอมรับมากเพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนปัจจัยการตัดสินใจของนิวโหวตเตอร์จะมีอะไรบ้างนั้น เท่าที่สัมผัสคือ คนรุ่นใหม่จะมีแนวความคิดของตัวเอง และอยู่หน้าโซเชียล เพื่อตามกระแสไปเรื่อยๆ บางครั้งก็อยู่เหนือเหตุผลอย่างอื่น ถือว่าคาดเดาได้ยาก สำหรับพรรค พท.ที่ส่งผู้สมัคร ส.ก.ทั้ง 50 เขต ได้พยายามทำความเข้าใจกลุ่มนิวโหวตเตอร์ ต้องรู้ว่าคนกลุ่มนี้รับรู้ข่าวสารจากด้านใดบ้าง เช่น รับรู้ข่าวสารจากโซเชียล ทำให้ต้องปรับพฤติกรรมของผู้สมัครให้กลายเป็นคนในโซเชียลให้ได้ เพื่อสื่อสารกับลูกบ้านทุกกลุ่มทุกวัย

สำหรับแนวทางการหาเสียงผ่านช่องทางต่างๆ “พลภูมิ” มองว่า เมื่อย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 อดีตพรรคอนาคตใหม่แทบจะไม่ได้ติดตั้งป้ายหาเสียงตามจุดต่างๆ ใน กทม.เลย แต่กลับได้ ส.ส.หลายที่นั่ง และได้คะแนนจากคน กทม.จำนวนมาก ทั้งนี้ เป็นเพราะประชาชนจะดิ้นรนติดตามข่าวสาร และจดจำเบอร์ผู้สมัครที่ตัวเองต้องการเลือก ในการหาเสียงเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ บางพรรคได้พยายามปรับตัวตามกระแสเพราะรู้ว่าประชาชนเบื่อ หรือไม่ชอบอะไร ยกตัวอย่างเช่น พรรค ก.ก.ได้ปรับขนาดป้ายหาเสียงให้เล็กลง ไม่เกะกะทางเดินเหมือนที่ผ่านมา หรือผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 8 ได้ปรับขนาดป้ายหาเสียงให้เหลือครึ่งหนึ่งจากไซซ์ปกติ เพื่อให้คนเดินเท้าสามารถสัญจรไปมาได้ และไม่กีดขวางการจราจร

ผู้สมัครเบอร์ไหนจะเข้าป้ายผู้ว่าฯ ใครกวาดเก้าอี้ ส.ก.เป็นกอบเป็นกำ 22 พฤษภาคม ชาว กทม.ให้คำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image