ศาสตราจารย์ ธงทอง กระซิบเรื่อง ‘ในรั้วในวัง’ นอกพงศาวดาร ยกสี่แผ่นดินบทเรียนชีวิตมนุษย์

ศาสตราจารย์ ธงทอง กระซิบเรื่อง ‘ในรั้วในวัง’ นอกพงศาวดาร ยกสี่แผ่นดินบทเรียนชีวิตมนุษย์

เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 17.00 น. ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน J47 มีกิจกรรม Matichon’s Special talk ‘เรื่องเล่าชาววังนอกพงศาวดาร’ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

ในตอนหนึ่ง ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง กล่าวถึงความสนใจตั้งแต่วัยเด็กว่า ตนเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีความสนใจแตกต่างหลากหลาย ส่วนตัวสนใจ 2 เรื่อง คือ ภาษาไทย และประวัติศาสตร์ เจ้านาย จักรๆ วงศ์ๆ อีกประการหนึ่งคือพื้นฐานครอบครัว ซึ่งพ่อแม่สนับสนุนซื้อหนังสือในเล่มที่อยากได้

Advertisement

“แต่ก่อน บ้านอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 40 ปากซอยมีร้านดาราภัณฑ์ สาขาของศึกษาภัณฑ์ มีหนังสือชุดภาษาไทยเล่มละ 10 บาท อดขนมเก็บสตางค์ไปซื้อหนังสือเล่มนั้นมา

นอกจากนี้ ที่บ้านคุณปู่ ซึ่งเป็นข้าราชบริพารในรัชกาลที่ 6-7 มีหนังสือเก่าเป็นจำนวนมาก เวลาพ่อแม่พาไปบ้านคุณย่า ก็ไปหยิบหนังสือมาอ่านทีละเล่มแต่อ่านไม่จบ เป็นกุศโลบายที่คุณย่าบอกว่าเอาไปอ่านต่อที่บ้านได้ ทำให้ที่บ้านมีหนังสือเก่าจากคุณปู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงหนังสือของคุณตาด้วย” ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าว

Advertisement

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า ความโชคดีของตน คือการได้เข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2516 ซึ่งเป็นปีประวัติศาสตร์ที่เจ้าฟ้าพระองค์แรกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศไทย คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพราะแต่เดิมเจ้านายจะทรงศึกษาในต่างประเทศมากกว่า

“ในชั้นปี 2-3 ปีแรก ชมพระบารมีอยู่ห่างๆ จนกระทั่งในชั้นปีที่ 4 ปี 2519 มีโอกาสเฝ้าทูลละอองพระบาท และถวายตัวเป็นข้าฯ ท่าน ให้ท่านรู้จักใช้สอยในงานอาสาสมัครทั้งหลาย” ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

ศ.พิเศษ ธงทองกล่าวว่า ต่อมาใน พ.ศ.2525 กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวย การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ทรงมีภารกิจติดตามความคืบหน้าในการทำงาน โดยในวันอาทิตย์ มีคนติดตามรายงาน

“ท่านรับสั่งว่าในคราวฉลองพระนคร 150 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 7 ไม่มีเอกสารจดหมายเหตุ ไม่มีบันทึกเรื่องราว ในวันข้างหน้าที่มีการซ่อมบำรุงวัดพระแก้ว ก็ควรกลับมาย้อนดูในคราว 200 ปี โดยละเอียด ควรจะมีการจดบันทึกรายละอียดต่างๆ

พระสหาย อาสาสมัครอย่างผม เจ้าหน้าที่ ตามเสด็จคราวละ 2-3 คน เพราะว่าคนกราบบังคมทูล ไม่ว่าจะเป็นกรมศิลปากร บริษัทที่รับซ่อม วิศวกร แต่ละคนไม่ได้อยู่ใกล้ท่าน ก็ต้องช่วยกันฟัง แล้วมาสอบทานด้วยกันว่าได้ยินเหมือนกันหรือไม่ บางทีต้องทิ้งคนไว้เพื่อจดรายละเอียดที่ยังไม่ครบ แล้วนำไปประมวลทำรายงานฉบับเต็มขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย” ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า การทำงานอาสาสมัครกับเจ้านาย ทำให้เราต่อยอดความรู้ได้มาก อย่างหนังสือ ‘ในกำแพงแก้ว’ ที่มีผู้ใหญ่ให้ความรู้เรื่องในวัง คือ หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล และคุณอัญชันย์ บุนนาค ซึ่งเจอท่านในครั้งซ่อมพระที่นั่งวิมานเมฆ ในพระราชวังดุสิต มีการจัดเรียงเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ซึ่งต้องหาข้อมูลนำชมให้มัคคุเทศก์ จึงมีคนแนะนำ 2 ท่านนี้ เนื่องจากท่านทันเหตุการณ์เมื่อสมัยนั้น

“ผู้ใหญ่ 2 ท่าน คุยสนุก หม่อมเจ้ามารยาตร อายุน้อยกว่าคุณอัญชันย์

คุณอัญชันย์เล่าความหลังเมื่อครั้งสอนว่ายน้ำในอ่างหยกให้หม่อมเจ้ามารยาตร และเจ้านายอื่น โดยคุณอัญชันย์ยืนเฝ้าโยนขนมปังให้หม่อมเจ้ามารยาตรไล่งับเหมือนปลา ซึ่งเป็นชีวิตของเด็กสาวในเวลานั้น” ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า ตนเคยชวนท่านทั้งสองไปพระราชวังบางปะอิน ฟังท่านคุยกัน เช่นเหตุการณ์หน้าพระที่นั่งวโรภาษพิมาน โดยสมเด็จพระพันปี น้อมพระองค์กราบสมเด็จพระพันวัสสา โดยความเข้าใจท่านขออภัยอะไรซักอย่าง สมเด็จพระปิตุจฉาที่นั่งอยู่ด้วย เกรงว่าต่อไปคงถึงคิวท่าน ท่านก็เบี่ยงพระองค์หนี แต่ก็ไม่รอด สมเด็จพระพันปีก็กราบสมเด็จพระปิตุจฉาอยู่ดี

“เวลาทั้งสองท่านอยู่ด้วยกันคุยสนุกออกรสออกชาติ หม่อมเจ้ามารยาตรเล่าให้เจ้านายฟังว่า จิ้งจกตก ท่านออกแอคชั่น นึกว่าจิ้งจกมาจริงๆ รีบไปปัดจิ้งจกออกใหญ่ บอกว่าไม่ใช่ ฉันแค่เล่าให้ฟังเฉยๆ อารมณ์ของชาววังไม่ได้มีพิธีการที่เป็นทางการเท่านั้น ชีวิตราชสำนักภายในอยู่กันอย่างพี่น้อง” ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ในช่วงที่เข้าไปติดตามการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระแก้ว และพระบรมมหาราชวัง มีสิ่งใดที่ประทับใจเป็นพิเศษบ้าง

ศ.พิเศษ ธงทองกล่าวว่า จากที่เคยอ่านหนังสือกับการเจอของจริงมันซึมซาบต่างกัน เวลาตามเสด็จฯ เข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นใน ก็ต้องสำรวมกิริยาอยู่แล้ว มีการลงชื่อที่ประตูสนามราชกิจ (ประตูย่ำค่ำ) มากี่คน มาทำอะไร ต้องติดต่อล่วงหน้าด้วย เวลาไปไหนมาไหนต้องคอยมีคนเดินกำกับตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ แม้ว่าจะไม่มีเจ้านายประทับในพระราชฐานชั้นในแล้ว แต่ก็ยังรักษาธรรมเนียมปฏิบัติ

“สิ่งนี้ทำให้เราซึมซับธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อมองประตูย่ำค่ำเข้าไป ก็เห็นคุณพนักงานนั่งร้อยมาลัยเครื่องนมัสการบูชาไหว้พระ แม้ว่าจะไม่มีการนุ่งโจงกระเบนแล้ว แต่ก็แต่งกายเรียบร้อย ใส่เสื้อสีขาว นุ่งกระโปรงสีน้ำเงิน ความเคร่งครัดใครไปไหนมาไหนต้องระมัดระวัง กลางคืนต้องจุดไฟ เวลาไฟดับกลางคืนให้ร้องว่าไฟดับ ก็ต้องให้นั่งอยู่กับที่ แล้วรอให้เจ้าพนักงานเอาไฟมาต่อ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ” ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

เมื่อถามว่า ช่วงเวลาที่อ่านสี่แผ่นดิน ในเวลานั้นเป็นที่นิยม มีผลต่อการรับรู้ประวัติศาสตร์ในสังคมไทยหรือไม่

ศ.พิเศษ ธงทองกล่าวว่า ตนได้อ่านตอนช่วงปี 2510 ห่างจากปีที่พิมพ์ครั้งแรกประมาณ 20 ปี มีข้อสังเกตจากคำนำของหนังสือ ซึ่งหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่าสิ่งที่บันทึกไว้ในตัวละครต่างๆ เป็นรายละเอียดของสังคมไทยในรั้วในวัง แต่คนทั้งหลายไม่ได้พบเห็นเท่าไหร่ เช่น การแต่งกายสีตามวัน ของกินเล่นชาววัง อีกทั้งท่านยังบอกว่าเวลาอ่านหนังสือทางการ หนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือพระราชพงศาวดาร เราเห็นภาพใหญ่ แต่ไม่เห็นรายละเอียดตัวคนที่อยู่ในนั้น ความพยายามการบันทึกเรื่องเหล่านี้ไว้ แทนที่จะเป็นเรื่องเล่าหรือตำรา ท่านก็ผูกตัวละครให้มีเรื่องราว

“ยอมรับว่ามีข้อจำกัดว่าคุณชายคึกฤทธิ์ พูดถึงเหตุการณ์ในเวลาหนึ่ง เช่น ตอนสมัย ร.5 ไม่ได้เล่าเรื่องชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป แสดงว่ายังมีพื้นที่ว่างอีกเยอะ ถ้าคนสมัยนี้อยากทำการบ้าน ศึกษาวิจัย เก็บรายละเอียด ไปเขียนสี่แผ่นดิน another version ครั้งหนึ่งเคยให้ท่านเซ็นหนังสือสี่แผ่นดิน ผมเลยมีหนังสือสี่แผ่นดินที่ผู้เขียนลงนาม ท่านเขียนไว้ว่า ให้ อ.ธงทองที่รัก ก็โก้อยู่นะ” ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า คนอ่านสี่แผ่นดินมีความรับรู้ต่างกัน นอกจากจะรู้ขนบธรรมเนียม ประวัติศาสตร์ สำหรับตนเห็น ‘แม่พลอย’ เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีเลือดเนื้อ มีสุข มีทุกข์ มีความสมหวัง มีความผิดหวัง เช่น แม่พลอยหวังในตัวพี่เนื่อง แต่พี่เนื่องไปได้แม่ค้าข้าวแกงที่นครสวรรค์ มีครอบครัวไป แม่ช้อยถามว่าแม่พลอยโกรธไหม ตนจำคำตอบได้ แต่ประโยคอาจจะไม่เป๊ะ แม่พลอยตอบว่า ‘ถ้าเรารักใครมากพอ ก็ต้องไม่โกรธนะ’

“ผมว่าประโยคนี้เป็นบทสอนใจอย่างหนึ่ง แม้ว่าในชีวิตนี้เรา คนที่เรารักทำไม่ได้ดั่งใจเรามา พลอยก็หยุดความทุกข์ทั้งหลาย ลูกบางคนเจริญงอกงาม ลูกบางคนตายจากไปก่อนที่ควรจะตาย ลูกบางคนไปอยู่ในกบฏบวรเดช

ในมุมผมที่เป็นผู้อ่านสี่แผ่นดิน ไม่ได้เล่าเรื่องเพียงแค่ความจงรักภักดี ไม่ได้เน้นสถาบันพระมหากษัตริย์แต่เพียงมุมเดียว ถ้ามองให้รอบด้านจะเห็นบทเรียนชีวิตจากหนังสือเล่มนี้ เห็นวิธีคิดผู้ใหญ่ในสมัยก่อน เวลาพบความยากของชีวิต พบความสุขของชีวิต เวลาที่เสด็จสอนพลอยหลายเรื่อง ถ้าเราอ่านด้วยความพินิจแล้ว จะได้ประโยคที่สอนใจแล้วเรานำไปคิดต่อได้อีกมาก” ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image