ผลวิจัยชี้โรงเรียนไทยสอนวิชาเพศศึกษา แต่นักเรียนยังไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ถนนศรีอยุธยา กทม. องค์การยูนิเซฟ ร่วมกับศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดการประชุมเพื่อเผยแพร่ผลการสำรวจการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษา โดย นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการศึกษา “การวิจัยเพื่อศึกษาทบทวนกระบวนการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาในสถานศึกษา” พบว่า โดยเฉลี่ยร้อยละ 16 ของนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 และร้อยละ 42 ของนักศึกษาระดับอาชีวศึกษาชั้นปีที่ 1-3 เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่ในขณะเดียวกันพบว่านักเรียนยังขาดทักษะจำเป็นในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และยังไม่เรียนรู้เรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์อย่างเพียงพอที่จะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้

นายโธมัสกล่าวว่า จากการศึกษายังพบว่า แม้ผู้ปกครองจะมีบทบาทสำคัญ แต่มีนักเรียนเพียงหนึ่งในห้าคนที่ปรึกษาผู้ปกครองเกี่ยวกับความรู้เรื่องเพศ ขณะที่ครูอย่างน้อยครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการอบรมการสอนเพศวิถีศึกษาโดยเฉพาะ ในส่วนการเรียนการสอนก็ยังไม่ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น สิทธิด้านเพศ เพศภาวะ และความรุนแรง นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 41 ของนักเรียนชายอาชีวศึกษามีทัศนคติที่เป็นปัญหาในเรื่องเพศภาวะและเพศวิถี โดยเชื่อว่าสามีมีสิทธิ์ทุบตีภรรยาได้หากพบว่าภรรยาไม่ซื่อสัตย์ และนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ร้อยละ 49 เชื่อว่าการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ที่มีเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิด

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการขยายการจัดการเรียนการสอนวิชาเพศวิถีศึกษาเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของวัยรุ่น จากนี้ไปเราต้องช่วยกันทำให้แน่ใจว่าครูได้รับการฝึกอบรมในการสอนอย่างเพียงพอ สอดคล้องกับวิถีชีวิตทางเพศของนักเรียนในปัจจุบัน และนักเรียนสามารถมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการเรียนรู้ นอกจากนี้เราต้องไม่ลืมว่าพ่อแม่มีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่ทำให้เด็กและวัยรุ่นสามารถคุยเรื่องเพศด้วยได้” นายโธมัสกล่าว

ขณะที่ นายสุภัทร จำปาทอง รองปลัดศธ. กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคนิคการสอนและสื่อ การประเมินผลการพัฒนาผู้เรียน ตลอดจนมุ่งเน้นให้จัดการเรียนการสอน ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนรู้ ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และการศึกษานอกระบบ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ สามารถใช้หลักเหตุและผลในการตัดสินใจ

Advertisement

รศ.พิมพวัลย์ บุญมงคล หัวหน้าโครงการวิจัยเพศวิถีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้บริหารโรงเรียนและผู้ปกครองต่างเห็นว่าการเรียนการสอนเพศศึกษา เป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการพัฒนามนุษย์ แต่ก็ยังมองว่าเรื่องเพศเป็นประเด็นต้องห้าม เพราะเชื่อว่าการสอนเพศศึกษาจะทำให้เด็กและเยาวชนมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ผู้ใหญ่ยังคงไม่เชื่อว่าเด็กและเยาวชนมีศักยภาพที่จะสามารถคิด และตัดสินใจในเรื่องเพศวิถีของตนเองได้

สำหรับการศึกษาวิจัยฉบับนี้ ทบทวนแง่มุมต่างๆ ของการเรียนการสอนวิชาเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาไทย เช่น ทัศนคติของครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง ตลอดจนความสำเร็จและช่องว่างต่างๆ ในการจัดการเรียนการสอน รายงานฉบับนี้จัดทำโดยศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟและความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมีการสำรวจข้อมูลในโรงเรียนมัธยมศึกษา 373 แห่ง และโรงเรียนอาชีวศึกษา 25 แห่งทั่วประเทศไทย ระหว่างเดือนกันยายน 2558 ถึง เดือนมีนาคม 2559

อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ไม่พร้อมและและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) ซึ่งรวมถึงการติดเชื้อเอชไอวี ยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับวัยรุ่นในประเทศไทย โดยข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ในพ.ศ. 2557 เปิดเผยว่ามีแม่วัยรุ่นคลอดบุตรวันละประมาณ 320 คน ในขณะที่รายงานเรื่อง “วิเคราะห์สถานการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มเยาวชนในประเทศไทย” ซึ่งสนับสนุนโดยยูนิเซฟและเผยแพร่เมื่อปี 2557  ระบุว่าร้อยละ 70 ของผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รายใหม่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image