‘สภาคริสตจักร’ ตรวจสอบ โครงการ ‘Space Program’ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

นายวิศาล มหชวโรจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยและกรรมการมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย กล่าวว่า ตนเองมีความกังวลใจต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการควบคุมตามคำสั่ง สช. ที่ 3/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยเฉพาะการที่คณะกรรมการควบคุมได้อนุมัติงบประมาณติดค้างหลายโครงการในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2562 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โครงการเทคโนโลยีอวกาศ (BCC Space Program)

เนื่องจากช่วงต้นปี 2562 มูลนิธิฯ ได้ตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดของโครงการ Space Program จากเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ระบุว่า คณะกรรมการบริหารภายใน (กบน.) มีการนำเสนอโครงการเทคโนโลยีอวกาศ (BCC Space Program) งบประมาณรวม 33,104,351 บาท ในการประชุมคณะกรรมการบริหารโรงเรียนฯ (กบร.) สมัยวิสามัญครั้งที่ 1/ปีการศึกษา 2560 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 ซึ่ง คณะกรรมการบริหารโรงเรียนฯ รับทราบในหลักการแต่ไม่มีการเสนอเพื่อขออนุมัติโครงการจากมูลนิธิฯ ผู้รับใบอนุญาต ตามขั้นตอนแต่อย่างใด และในระหว่างปี 2561 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้ดำเนินการใช้งบประมาณในโครงการฯ ไปเกือบทั้งหมดแล้ว

โดยงบประมาณร้อยละ 70 นำไปใช้ในการพัฒนา CubeSat และการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งโรงเรียนได้แบ่งจ่ายรายงวดเสร็จสิ้นแล้วในปี 2561 งบประมาณอีกร้อยละ 20 นำไปใช้เพื่อส่งนักเรียนร่วมแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่นและเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนการสอนบางส่วน โดยยังมีงบประมาณอีกร้อยละ 10 ที่ยังไม่ได้มีการเบิกจ่ายเนื่องจากมูลนิธิฯ ได้ทำการตรวจสอบขั้นตอนดำเนินงานต่างๆ ของโครงการฯ ในช่วงต้นปี 2562 และพบว่ามีการดำเนินงานผิดขั้นตอนซึ่งอาจบ่งชี้ถึงความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณทั้งหมดได้ จึงจำเป็นต้องระงับการใช้งบประมาณจำนวนร้อยละ 10 นั้นออกไปก่อน

นายวิศาล กล่าวว่า ในการใช้งบประมาณเหล่านั้น โรงเรียนใช้วิธีการอนุมัติงบประมาณภายในวงเงินสูงสุดที่สามารถสั่งจ่ายได้คือครั้งละไม่เกิน 3,000,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นการจองพื้นที่ส่งดาวเทียมที่มีการแบ่งจ่าย 3 งวด มูลค่าต่องวดคือ 2,996,000 บาท 2,996,000 บาท และ1,872,500 บาท การส่งนักเรียนไปแข่งขัน Cansat ที่ประเทศญี่ปุ่นงบประมาณ 2,140,000 บาท และการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนโครงการ Space Program มูลค่า 2,690,880 บาท ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมรายจ่ายย่อยๆ ที่มีวงเงินไม่เกิน 400,000 บาทจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 รายการซึ่งเป็นวงเงินที่ผู้จัดการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนสามารถเซ็นอนุมัติเองได้
แม้ว่าดูเหมือนเป็นการใช้งบประมาณได้ตามระเบียบข้อบังคับการบริหารหน่วยงานและสถาบัน ของสภาคริสตจักรในประเทศไทยและมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ. 2009 ข้อบังคับ 139.2 ที่ระบุว่า คณะกรรมการบริหารสถาบัน คณะกรรมการอำนวยการสถาบันขนาดใหญ่มีอำนาจอนุมัติให้หน่วยงานและสถาบัน สั่งจ่ายเงินครั้งละไม่เกิน 3,000,000 บาท และผู้จัดการ สั่งจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 400,000 บาท แต่ในเมื่อตัวโครงการหลัก ยังไม่ได้มีการยื่นขออนุมัติจากมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรฯ ดังนั้น การแบ่งจ่ายงบประมาณใดๆ ในโครงการฯ จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่มีความโปร่งใสเพราะผิดขั้นตอนการดำเนินงานอย่างชัดเจน

Advertisement


“ผมทราบดีว่าโครงการ Space Program มีวัตถุประสงค์ที่ดีในการสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน แต่เหตุใดโรงเรียนจึงไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องโปร่งใส มูลค่าโครงการมากถึง 33 ล้านบาท จำเป็นต้องเสนอเรื่องเพื่อขออนุมัติโครงการจากผู้รับใบอนุญาตก่อนจะดำเนินงานได้ แต่ทางโรงเรียนกลับไม่ทำ โรงเรียนจะถือว่าได้เสนอเรื่องให้บอร์ดทราบแล้วก็เป็นอันว่าดำเนินโครงการแบบแบ่งจ่ายได้เช่นนั้นหรือ แม้การเบิกจ่ายในรายละเอียดของงานจะมีวงเงินอยู่ในอำนาจการอนุมัติของกบร.ก็ตาม ผมคิดว่าการทำอย่างนี้มีความเป็นไปได้ที่จะถูกมองว่าเป็นการใช้เงินแบบผิดปกติ ตั้งแต่การไม่ขออนุมัติโครงการฯ ไปจนถึงมีการแบ่งการจ่ายเงินให้อยู่ในอำนาจ ใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวพันทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ย่อมถูกตั้งข้อสงสัยทั้งสิ้น


การที่มูลนิธิฯ ได้เข้ามาตรวจสอบและขอระงับการจ่ายเงินที่เหลือของโครงการฯไว้ก่อน ก็เพื่อให้ กบน.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง แต่กลับกลายเป็นการเข้าใจว่ามูลนิธิฯ ไม่ส่งเสริมโครงการฯ ผมคิดว่าสาเหตุอาจมาจากความเข้าใจไม่ตรงกัน ดังนั้น ผมจึงค่อนข้างกังวลใจมากต่อกรณีที่คณะกรรมการควบคุมจาก สช. ได้มีการอนุมัติงบประมาณที่เหลือในโครงการ Space Program ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2562 ไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการใช้งบประมาณในโครงการที่ยังไม่ได้มีการอนุมัติจากผู้ถือใบอนุญาตโรงเรียน” นายวิศาล กล่าว

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ ได้มีการตรวจสอบในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ บริษัท อัสโตรเบอร์รี่ จำกัด ที่เข้ามาเป็นหน่วยงานกลางประสานงานของโครงการ Space Program เป็นการเฉพาะ โดยหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เป็นชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อ-สกุล ตรงกับผู้ประสานงานโครงการ Space Program ในฝั่งของญี่ปุ่น และรายรับของบริษัทฯ ในปี 2561 ก็ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนได้จ่ายออกไปในโครงการนี้ด้วย

Advertisement


นายวิศาล กล่าวในตอนท้ายว่า ยังมีอีกอย่างน้อย 3 โครงการที่มีการตั้งงบประมาณแต่ละโครงการสูงกว่า 3 ล้านบาท ได้แก่ โครงการจัดซื้อและจำหน่ายเครื่องทำความเย็น (chiller) งบประมาณ 8,153,600 บาท โครงการจัดจ้างพนักงานทำความสะอาด งบประมาณ 7,522,944 บาท และโครงการเช่าสนามฟุตบอล งบประมาณ 5,400,000 บาท ซึ่งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้ดำเนินการใช้งบประมาณไปเสร็จสิ้นทั้ง 3 โครงการโดยไม่มีการเสนอเรื่องเพื่อขออนุมัติจากมูลนิธิฯ ผู้รับใบอนุญาต การดำเนินงานทั้ง 3 โครงการดังกล่าว จึงเข้าข่ายการดำเนินงานผิดขั้นตอนและไม่มีความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณเช่นเดียวกับโครงการ Space Program

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image