เป็นสาวเร็วขึ้น หนึ่งคำตอบ ถอนไม่พ้นราก ‘ท้องไม่พร้อม’

เป็นสาวเร็วขึ้น หนึ่งคำตอบ ถอนไม่พ้นราก ‘ท้องไม่พร้อม’

หนึ่งในประเด็นที่เครือข่ายสตรี สาธารณสุข และหน่วยงานรัฐ มักจะหยิบขึ้นมารณรงค์และสร้างการตระหนักรู้อยู่บ่อยครั้ง ไม่พ้นหัวข้อ “ท้องไม่พร้อม” ดังที่ในงานเสวนาออนไลน์เรื่อง “พลังสตรีลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี : ท้องไม่พร้อม แท้งปลอดภัย” โดยสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยฯ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา และสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ จัดขึ้น ซึ่งมีหนึ่งคำถามจากผู้ชมทางบ้าน ส่งเข้ามาถามในวงเสวนาว่า

“รณรงค์ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมานานหลายปี ทำไมถึงไม่ลดลงเลย”

นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้ตอบคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า ในความเป็นจริงกับคนตั้งครรภ์แล้ว ทางสาธารณสุขก็ได้ป้องกันไม่ให้ท้องอีก แต่กับ “เด็กรุ่นใหม่” ที่ยังเป็นเด็กอยู่ และกำลังก้าวข้ามจากวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาว กลุ่มนี้ต้องปูพื้นอย่างเข้มแข็งในเรื่องการเรียนการสอนเพศศึกษา “ให้ไวขึ้น” ด้วยในปัจจุบันยังมีสถานศึกษาบางแห่งเริ่มสอนเพศศึกษาในช่วงมัธยมต้น (ม.1-3)

Advertisement

ขณะที่ปัจจุบัน “เด็กเป็นสาวเร็วขึ้น” เพราะจากค่าเฉลี่ยของการเป็นสาวในประเทศไทยอยู่ที่ 11.57 ปี กล่าวคือ เด็ก ป.5 โดยค่าเฉลี่ยมีประจำเดือนแล้ว

การเป็นสาวเร็ว คือการเป็นสาวก่อนอายุ 9.41 ปี จะเห็นได้ว่าเด็กบางคน 7-8 ปีก็มีประจำเดือนแล้ว ซึ่งพบเจอได้ 2 เปอร์เซ็นของประชากรที่เป็นเด็กทั้งหมด และจากการสำรวจมิกซ์เซอร์เวย์ปี 2562 ด้านอนามัยแม่และเด็ก พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีครอบครัวแล้ว 3% เด็กต่ำกว่า 18 ปี มีครอบครัวและมีเพศสัมพันธ์เป็นกิจจะลักษณะ 20 %

โดยแต่เดิมประเทศไทยมีวัยรุ่นทั่วประเทศประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้หญิงประมาณ 4 ล้านคน ฉะนั้น 20% ของ 4 ล้านก็คือ 8 แสนคน

Advertisement

แสดงว่าเด็กผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีและมีครอบครัวแล้ว จำนวน 8 แสนคนนี้พร้อมที่จะตั้งครรภ์ได้ตลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ คำถามคือจะทำได้อย่างไรให้ประเมินความเสี่ยงของพวกเธอได้ทั้งหมด และหาทางป้องกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำคือไปแก้ที่ต้นเหตุของการ “ท้องไม่พร้อม” ซึ่งจากการสำรวจผู้หญิงวัยรุ่นที่มาคลอดบุตร พบว่า 50% ไม่คิดว่าจะมีเพศสัมพันธ์เลยไม่ได้คุมกำเนิด 30% ไม่มีความรู้เรื่องคุมกำเนิด 10% มีเพศสัมพันธ์ขณะมึนเมา 10% มั่นใจว่ามีเพศสัมพันธ์แล้วไม่ท้อง

จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมมีการณรงค์อย่างต่อเนื่องแต่ปัญหาท้องไม่พร้อมยังไม่หมดไป เพราะเด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด การเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษา ทักษะชีวิต จึงต้องขยับมาสอนในกลุ่มเด็กที่อายุน้อยลง เช่น ทำให้เด็กตั้งแต่ก่อนเข้า ป.1 รู้ว่าตรงไหนห้ามจับ ตรงไหนห้ามแตะ ต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยอนุบาล เพื่อที่จะได้หามาตรการป้องกันควบคู่ไปด้วย

นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์

อย่างไรก็ตาม โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลแขวง กล่าวเสริมด้วยว่า ปัญหาท้องไม่พร้อม ดำเนินการมาตลอดแต่ก็ไม่สามารถหมดไปจากสังคมได้เพราะเป็นหนึ่งในบริบทของสังคม ทว่ารู้มากกลัวมาก รู้น้อยกลัวน้อย ไม่รู้ไม่กลัวเลย จะทำอย่างไรให้เด็กได้มีความรู้ รู้แล้วจะได้กลัวบ้าง

อย่าปล่อยให้ไม่รู้ไม่กลัวเลย เพราะแม้จะไม่สามรถทำให้ปัญหาท้องไม่พร้อมหมดไปได้ แต่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ด้วยการช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ

โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลแขวง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image