อึ้ง ผลสำรวจเด็กไทย ประถมเริ่มวีดีโอคอลสยิว เผชิญภัยออนไลน์สารพัดรูปแบบ พม.เร่งหาวิธีจบภัยร้าย

อึ้ง ผลสำรวจเด็กไทย ประถมเริ่มวีดีโอคอลสยิว เผชิญภัยออนไลน์สารพัดรูปแบบ พม.เร่งหาวิธีจบภัยร้าย

อึ้ง ผลสำรวจเด็กไทย ประถมเริ่มวีดีโอคอลสยิว เผชิญภัยออนไลน์สารพัดรูปแบบ พม.เร่งหาวิธีจบภัยร้าย

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่โรงแรมเดอะ พาลาสโซ่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดเวทีเสวนาพอกันทีกรูมมิ่ง : Child Grooming ล่อลวงเด็กออนไลน์ ภัยร้ายที่ต้องจบ

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดพม. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การดำเนินงานเพื่อผลักดันให้สังคมไทยมีกลไกเข้มแข็ง ปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์ ได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องโดยภาคส่วนต่าง ๆ เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไร้ขีดจำกัด ในทางลบก็ย่อมเป็นช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีต่อเด็ก คอยหาวิธีการแสวงหาประโยชน์จากเด็กในรูปแบบต่างๆ ในส่วนของภาครัฐมีการแต่งตั้งกลไกคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อน กำกับดูแล และติดตามการขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ และรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ

อีกทั้ง จัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อน การส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ COPAT (Child Online Protection Action Thailand) เพื่อเป็นหน่วยเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยออนไลน์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งประสานการดำเนินงาน ทั้งในระดับนโยบายร่วมกับหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และผลักดันมาตรการให้เกิดการปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดพม.

ผลสำรวจเด็กไทยเผชิญภัยออนไลน์

Advertisement

ขณะที่ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 ระหว่างเดือน พ.ค. – ก.ค. 2565 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 9-18 ปี 31,965 คน พบว่า  81% มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน 85% ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันหรือเกือบทุกวัน มีการเล่นเกมอย่างหนักหน่วง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงภัยออนไลน์มากขึ้นถึง 40% ที่น่าตกใจเด็ก 36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม โดยคนร้ายพยายามทำให้เด็กตกหลุมรัก ขอภาพลับ นัดพบจนนำไปสู่การละเมิดทางเพศ เข้าข่ายเป็นพฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ หรือGrooming

เด็กประถมปลายอายุ 10 ขวบ 12 % ถูกGrooming เด็ก 54% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร  เด็ก 4% เคยถ่ายภาพ หรือ live โชว์ลามกอนาจารอีกด้วย เด็ก 11% ถูกคุกคามทางเพศ เช่น โดนคอมเม้นท์เรื่องรูปร่างหน้าตา ขนาดหน้าอกหรืออวัยวะเพศ ถูกขอให้พูดคุยเรื่องเพศ รับ-ส่งภาพหน้าอกหรืออวัยวะเพศ เด็ก 15% เคยทำ sex video call ซึ่งเด็กป.4-6 จำนวน 4% ระบุเคยถูกคุกคามทางเพศ และ 7% เคยแลกกล้องโชว์สยิว จึงเป็นที่น่าห่วงใยว่าเด็กอาจถูกอัดคลิปแล้วนำไปแบล็กเมลรีดทรัพย์หรือนัดพบละเมิดเพิ่มเติม

ดร.ศรีดา  กล่าวด้วยว่า การสำรวจนี้ยังพบเด็ก 26% ถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ (cyber bullying) 11% เคยเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมาย/อันตราย 7% เล่นพนันออนไลน์ 18% จ่ายเงินเพื่อซื้อกล่องสุ่มในเกม ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการพนัน และมี 5% เคยลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี เด็กเผชิญภัยออนไลน์จำนวนมาก ทุกฝ่ายต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครองเพื่อให้เด็กเข้าถึงสื่อที่ปลอดภัย รวมถึงให้เด็กเข้าถึงช่องทางช่วยเหลือจากภัยต่างๆ ที่ถูกทาง

Advertisement

 

สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจก่อนล่อลวง

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า ความเข้าใจผิดของผู้ใหญ่หลายคนที่มองว่าเด็กถูกข่มขืนต้องผ่านการทำร้ายขัดขืน ทั้งที่เด็กไม่ได้สมยอม แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมผู้ใหญ่ที่เตรียมการหรือ grooming ด้วยการสร้างความผูกพันธ์เพื่อให้เด็กไว้วางใจจนนำไปสู่การล่วงละเมิด ขั้นตอนผู้กระทำจะมองหาเลือกเด็กที่ขาดแคลนความรักหรือกลุ่มเปราะบางเป็นเหยื่อ จากนั้นสร้างความไว้วางใจให้ความรักแก่เด็กรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง กระทั่งแยกเด็กออกจากผู้ปกครอง จึงเป็นโอกาสและเหตุผลให้อยู่ลำพัง และเริ่มแสดงออกทางเพศกับเด็ก

เมื่อผู้กระทำได้ลงมือล่วงละเมิดก็จะบันทึกเป็นวิดีโอเพื่อใช้ควบคุม หรืออ้างความรักรวมถึงการทวงบุญคุณเพื่อให้เด็กอยู่ในการควบคุม บางรายถูกกระทำและปิดเงียบเป็นปี ที่น่าเศร้าผู้กระทำบางรายเป็นครู ทั้งนี้ต้องสร้างความตระหนักถึงปัญหานี้ให้มากที่สุด อย่าให้ปัญหาซุกใต้พรมเพราะจะเข้าทางผู้กระทำ เปลี่ยนบรรทัดฐานสังคมต้องไม่เงียบ และสร้างบุคคลแวดล้อมขัดขวางปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่จะช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อนด้วยกัน

พล.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

 

หลอกให้เป็นดารา ขอภาพลับ แบล็กเมล์ ล่วงละเมิดเพศ  

พล.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานในคดีล่วงเมิดทางเพศจากภัยออนไลน์ พบมากสุดคือการถูกหลอกให้ไปเป็นดารานางแบบ ด้วยการให้ส่งภาพลับที่ให้เห็นทรวดทรง และนำไปแบล็กเมล์สู่การล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ยังมีการนำภาพลับส่วนตัวแลกเงิน โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 10 ปีจะถูกหลอกได้ง่าย จากนั้นก็จะถูกข่มขู่เพื่อล่วงละเมิด รวมทั้งยังมีการนำภาพส่วนตัวที่มีกิจกรรมทางเพศกับแฟน และตัวแฟนนำไปเผยแพร่ หรือแม้แต่ซ่างซ่อมโทรศัพท์ที่กู้ภาพลับลูกค้าไปเผยแพร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image