ของขวัญวันเด็ก! หนังสือภาพ หนังสือนิทาน ลด Learning Loss ในเด็กปฐมวัย

ของขวัญวันเด็ก! หนังสือภาพ หนังสือนิทาน ลด Learning Loss ในเด็กปฐมวัย

รายงานผลสำรวจสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในไทย พ.ศ.2564 ให้ความสำคัญเรื่องการอ่าน โดยเฉพาะการมีหนังสือสำหรับเด็ก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการของเด็ก องค์การยูนิเซฟ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในประเทศไทยมีแม่เพียง 6 ใน 10 คน และพ่อเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้น ที่ทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้กับลูก

นอกจากนี้ มีเด็กปฐมวัยเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้น ที่มีหนังสือเด็กอยู่ในบ้านอย่างน้อย 3 เล่ม สถานการณ์เหล่านี้ยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้นในครอบครัวที่ยากจน สำนักงานสถิติแห่งชาติพบข้อมูลล่าสุดว่า มีเด็กไทยกว่า 1.1 ล้านครัวเรือน ที่ไม่มีหนังสือเหมาะสมวัยในบ้าน

นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของธนาคารโลก (World bank) ได้รายงานวิเคราะห์ความยากจนและแนวโน้มความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นทุกภาค ซ้ำเติมภาวะความเปราะบางของครัวเรือนยากจน มาตรการและการลงทุนที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านภาวะนี้ คือ การสร้างโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม เด็กทุกคนต้องได้รับความใส่ใจอย่างเท่าเทียม ได้รับโอกาสทางสุขภาพและการศึกษาอย่างเสมอภาค เพื่อก้าวพ้น “ความยากจนทางการเรียนรู้” ความยากจนทางการเรียนรู้ ไม่ได้หมายถึงการขาดแคลนเพียงด้านทรัพยากรทางการศึกษา

Advertisement

ธนาคารโลก ระบุว่า หมายถึง ภาวะที่เด็กไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ หรืออ่านออกเขียนได้น้อยมากเมื่อมีอายุครบ 10 ปี หมายถึง การเติบโตในครอบครัวที่ไม่สามารถส่งเสริมให้ลูกหลานรับการศึกษาที่มีคุณภาพ หมายถึง ความล้มเหลวในการบริหารจัดการทรัพยากรโดยรัฐ

ทั้งนี้ ภาวะที่เด็กไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ และ Learning loss ของเด็กไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ประมาณ 1 ปีการศึกษา เทียบเท่า คะแนน PISA* ที่ต่ำกว่าประเทศอื่น 29-30 คะแนน สะท้อนปัญหาการแข่งขันที่ประเทศไทยไม่สามารถไปต่อได้ ซึ่งเป็นทั้งผลลัพธ์และจุดเริ่มต้นของความยากไร้อื่นๆ หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาการเรียนรู้ถดถอยและความยากจนทางการเรียนรู้ตั้งแต่ตอนนี้ จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง และส่งผลระยะยาวเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้น

จาก “Learning loss” จะกลายเป็น “Loss Generation” เนื่องจากขาดทักษะสำคัญในการประมวลผลและสังเคราะห์ความรู้ใหม่ ทำให้ครัวเรือนติดกับดักความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น ส่งผลกระทบต่อศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของไทย รายได้แรงงาน สภาพเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

Advertisement

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า “การอ่านเป็นกระบวนการ เป็นเครื่องมือสำคัญที่เอื้อต่อการสร้างสัมพันธภาพ ความอบอุ่นแก่ครอบครัวให้สามารถปรับตัวอยู่รอดในสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังไม่จางหาย ช่วยลดภาวะ Learning Loss เพื่อร่วมฟื้นฟูและวางรากฐานการพัฒนาเด็กปฐมวัยในทุกมิติ ช่วยประคองความสัมพันธ์แบบมั่นคง (Secure attachment) เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญ ๆ เช่น ทักษะบริหารจัดการของสมอง (EF) ทักษะความยืดหยุ่น , ปรับตัว (resilience) การเสริมสร้างการเคารพและความเชื่อมั่นในตัวเอง (self-esteem) และเคารพความแตกต่างหลากหลายได้

นางสุดใจ พรหมเกิด

ในปี 2566 แผนงานฯ และภาคีเครือข่ายมุ่งเน้นเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย “สวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย” ด้วยหนังสือรับขวัญเด็กแรกเกิด (Book Start) และหนังสือ 3 เล่มในบ้านเด็ก โดยที่ผ่านมามีองค์กรและชุมชนต้นแบบร่วมสนับสนุน อย่างเป็นรูปธรมใน 2 ชุมชนคือ ชุมชนน้อมเกล้า และชุมชน 9 พัฒนา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ส่วนในองค์กรมี สสส. องค์กรสาธารณะประโยชน์ และองค์กรธุรกิจประกาศจัดสวัสดิการหนังสือ แก่บุคลากรที่มีลูกตั้งแต่แรกเกิด – 6 ขวบ จำนวน 9 องค์กร หากรัฐขานรับนโยบายก็จะช่วยทำให้เด็กเล็กเข้าถึงการพัฒนารอบด้านทุกมิติ ช่วยลดภาวะ Learning Loss และความเหลื่อมล้ำของความยากจนทางการเรียนรู้ได้

ผู้สนใจข้อมูลกิจกรรมสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์แผนงานฯ www.happyreading.in.th หรือทางเพจเฟสบุ๊ก “อ่านยกกำลังสุข”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image