พม. นำเด็กถูกกระทำรุนแรง เข้าคุ้มครองพยาน พร้อมฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจใกล้ชิด

พม. นำเด็กถูกกระทำรุนแรง เข้าคุ้มครองพยาน พร้อมฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวง พม. ได้เร่งฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจเด็กทั้ง 9 คนที่ถูกกระทำความรุนแรงในสถานสงเคราะห์เด็กจังหวัดสระบุรี ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 66 ได้พาไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อประเมินสภาพจิตใจ จากนั้น เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 66 สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้พาเด็กทั้ง 9 ราย ไปคุ้มครองพยาน ซึ่งกระทรวง พม. ได้มอบหมายนักสังคมสงเคราะห์ช่วยให้คำแนะนำในการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบต่อเด็กให้มากที่สุด

สำหรับการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมุ่งหมายมิให้เด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและสภาวะทางจิตใจจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. – 2 มิ.ย. 66 มีถามปากคำเด็ก และจัดกิจกรรมรับฟังเสียงเด็ก แทนการถามปากคำเด็ก โดยคัดกรองเด็กที่ได้รับความรุนแรง เพื่อลดความบอบช้ำทางจิตใจของเด็ก รวมจำนวนทั้งสิ้น 106 คน จากจำนวนเด็กทั้งหมด 169 คน อีกทั้งมีการสอบปากคำผู้ใหญ่อีก 12 คน

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ เด็กส่วนใหญ่ในสถานสงเคราะห์ฯ มีสภาพจิตใจที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยเรามีทีมเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจที่มีนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาคอยดูแลและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

Advertisement

นายอนุกูล กล่าวว่า ตนพร้อมนางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ร่วมประชุมหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิ ยูนิเซฟ ประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านเด็ก จำนวน 12 เครือข่าย เพื่อร่วมกันยกระดับมาตรฐานสถานรองรับเด็กทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแล ปกป้องคุ้มครอง และมีความปลอดภัย ในเบื้องต้น ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อยกระดับมาตรฐานสถานรองรับเด็ก โดยมีนายสรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็ก คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งมีนายแพทย์ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ และรองศาสตราจาราย์อภิญญา เวชยชัย ร่วมเป็นคณะทำงาน

อีกทั้งให้มีการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) เพื่อจัดทำแผนการยกระดับมาตรฐานสถานรองรับเด็กรายแห่ง มีการทบทวนมาตรฐานการดูแลเด็กของบ้านพักเด็กและครอบครัวและสถานรองรับเด็กทั่วประเทศให้เป็นมาตรฐานกลาง โดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนเด็กและป้องกันเด็กไม่ให้เข้าสู่การเลี้ยงดูทดแทนโดยไม่จำเป็น และให้มีการจัดทำแผนพัฒนาเด็กรายบุคคล (Individual Development Plan – IDP) เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการคืนครอบครัว ทำให้ลดระยะเวลาในการอยู่ในสถานรองรับของเด็ก

นอกจากนี้ ให้มีการส่งเสริมบทบาทและกลไกของการคุ้มครองเด็กจังหวัดและ กทม. โดยคณะกรรมการคุ้มครองเด็กทุกระดับ และบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มการคุ้มครองเด็กระดับพื้นที่ให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะได้นำข้อเสนอจากการประชุมหารือครั้งนี้มาจัดทำแผนปฏิบัติการการยกระดับมาตรฐานสถานรองรับเด็กทั่วประเทศต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image