ตามไปดู “ทีมแชมป์” ทัวร์ญี่ปุ่น กับโตโยต้า “Campus Challenge”

เรื่องราวของความปลอดภัยบนท้องถนนยังคงเป็นเรื่องสำคัญและได้รับความตระหนักรู้กันทั่วโลก เช่นเดียวกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีโครงการ ‘โตโยต้าถนนสีขาว’ ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 29 ปี มุ่งเน้นสร้างวินัยการขับขี่และทัศนคติเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน

หนึ่งในนั้นคือกิจกรรม ‘Campus Challenge’ ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 เปิดโอกาสให้นักศึกษาทั่วประเทศคิดโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ส่งเข้าประกวด

กิจกรรม ‘Campus Challenge’ ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีผู้สมัครกว่า 670 ทีม ผู้ชนะเลิศได้โอกาสเดินทางไปทัศนศึกษาดูงานด้านความปลอดภัยทางท้องถนนที่ประเทศญี่ปุ่น

สกาย-หมิง-พอล-บอม
สกาย-หมิง-พอล-บอม

ทีมชนะเลิศคือทีม ‘AVEM’ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค ประกอบด้วยสมาชิก 4 คน เริ่มจาก ‘สกาย’ ชยกร สุทธิสิริ, ‘หมิง’โชคชัย ธีระจันทเศรษฐ, ‘พอล’ พอล เวียนนี ลาปุส มาริสเตล่า และ ‘บอม’ กฤษณ์ โสภาราษฎณ์ จากคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด

Advertisement

ใช้แคมเปญ “เซฟโคน เซฟคน” (Save Cone Save Khon) ภายใต้แนวคิด ‘Put Life into Cones’

รางวัลของแชมป์ประกอบด้วยทุนการศึกษา 100,000 บาท ทุนสนับสนุนอาจารย์ที่ปรึกษา 50,000 บาท ได้รับโอกาสฝึกงานที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และทริปทัศนศึกษาประเทศญี่ปุ่น รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 600,000 บาท

โดยทริปทัศนศึกษาจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-11 ม.ค.ที่ผ่านมา นำทริปโดย ‘สุรักษ์ พานิชย์เจริญ’ รองผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสังคม

Advertisement

ตลอด 8 วัน สร้างประสบการณ์ดีๆ และน่าจดจำให้กับทีมชนะเลิศอย่างมาก

 

‘พอล’ เล่าถึงความตั้งใจสร้างแคมเปญ เซฟโคน เซฟคน ว่า พวกเราได้ทราบข่าวการแข่งขันนี้จากวิชา Integrated Marketing Communication ซึ่งหลังจากที่ได้ฟังก็รู้สึกว่าเป็นการแข่งขันที่น่าสนใจ และสามารถเปิดโอกาสใหม่ๆ และพัฒนาตัวพวกเราไปยังอีกขั้น อีกหนึ่งสาเหตุคือทีมพวกเราต้องการที่จะไปญี่ปุ่นด้วย

ส่วนแนวความคิดของ ‘เซฟโคน เซฟคน’ นั้น เริ่มต้นจากการค้นคว้าปัญหาที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุภายในวิทยาเขต ซึ่งเมื่อรู้ว่าความเร็ว คือเป้าหมายหลัก การระดมสมองของทุกๆ คนในทีมจึงเกิดขึ้น พยายามสร้างแคมเปญอะไรสักอย่าง ที่สามารถสร้างผลกระทบและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ขับขี่ภายในมหาวิทยาลัยได้จริง

เป็นแคมเปญที่สนุกสนาน เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน และยังแฝงถึงข้อความที่ต้องการจะสื่อคำว่า ‘โคน’ หมายถึง ‘กรวยจราจร’ ที่เป็นเครื่องมือหลัก ด้วยประโยชน์ใช้สอยของกรวยจราจรที่มีหน้าที่ในการแบ่งช่องทาง พร้อมทั้งป้องปรามการขับขี่ให้ช้าลง ซึ่งตรงกับเป้าประสงค์ที่ทีม‘AVEM’วางเอาไว้ตั้งแต่แรก

“นอกจากนี้เรายังต้องการใส่ความคิดสร้างสรรค์และข้อความลงไปด้วย จึงเกิดเป็นแก่นความคิด Put Life Into Cones หรือ การใส่ชีวิตลงไปในตัวกรวยจราจรนั่นเอง สิ่งที่พวกเราต้องการจะสื่อให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ คือ คุณจะขับรถอย่างไร หากกรวยจราจรบนท้องถนนคือผู้คนจริงๆ ซึ่งแน่นอนครับ ผู้ขับขี่ย่อมต้องชะลอลงเพื่อไม่ไปชนผู้คน และเมื่อคุณขับรถช้าลง ไม่เพียงแต่คุณจะช่วยกรวยจราจรเหล่านี้แล้ว คุณยังสามารถช่วยชีวิตของผู้คนจริงๆในพื้นที่ด้วยเช่นกัน” พอล กล่าวอย่างภูมิใจ

ขณะที่การเดินทางไปทัศนศึกษาที่ญี่ปุ่นตลอด 8 วัน สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับทั้ง 4 หนุ่มเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้เยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง

‘สกาย’ชยกร สุทธิสิริ ประทับใจพิพิธภัณฑ์โตโยต้า (Toyota Kaikan Museum) โดยบอกว่าคือสถานที่ชอบมากที่สุด ด้วยความที่เป็นคนชอบฟังเรื่องราวความเป็นมาอยู่แล้ว ทำให้รู้สึกถูกใจการไปเยือนพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้เป็นพิเศษ นอกจากนี้ภายในพื้นที่จัดแสดงยังมีการโชว์นวัตกรรม ทั้งที่พัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้ว และอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิจัย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ทำให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจมากๆ

ส่วน‘บอม’กฤษณ์ โสภาราษฎณ์ ชื่นชอบโครงการ ‘DRIVING BARISTA’ แคมเปญที่ทางโตโยต้านำมาใช้กับจังหวัดไอชิ เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของญี่ปุ่น 13 ปีติดต่อกัน

โดยในปี 2015 พบอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึง 44,369 กรณี มีผู้เสียชีวิต 213 ราย

จากการรวบรวมข้อมูลของทางการญี่ปุ่นพบว่าการใช้โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่นๆ ขณะขับรถเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด จังหวัดไอชิ มีผู้ใช้มือถือขณะขับรถที่ถูกจับกุมเกิน 50,000 กรณี

ดังนั้นโตโยต้า จึงได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ วางแนวทางป้องกันอุบัติเหตุจากการโทรศัพท์ระหว่างการขับขี่

โดยสร้าง ‘แอพลิเคชั่น’ ให้ดาวน์โหลด การทำงานของแอพฯดังกล่าวเมื่อเปิดใช้ขณะขับรถ ให้คว่ำสมาร์ทโฟนและไม่จับขณะขับรถ ระหว่างนั้นจะมีภาพกาแฟหยดลงในถ้วย หากไม่หยิบสมาร์ทโฟนมาใช้จนกาแฟเต็มแก้ว จะกลายเป็นคะแนนสะสมแทนเงินสด หรือคูปองใช้แลก ‘กาแฟ’ จริงๆ มาดื่มได้

แต่ในทางกลับกันหากระหว่างขับรถ ผู้ขับขี่เผลอหยิบสมาร์ทโฟนมาใช้ ระยะทางที่ได้มาเป็นปริมาณกาแฟในถ้วยจะหายไปทันที

ผลตอบรับจากแอพฯ ดังกล่าว หลังจากเปิดใช้เพียง 16 วัน จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถที่ถูกจับกุมลดลงจากเมื่อปีก่อนถึง 15%

นอกจากการเข้าเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ แล้ว น้องๆ นักศึกษายังมีโอกาสทดสอบความปลอดภัยในการขับขี่ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทดลองใช้เครื่องจำลองความปลอดภัยบนท้องถนน (Safey Simulator) และ Toyota Safety Sense (TSS) virtual simulator

รับความรู้เกี่ยวกับระบบ Hybrid และระบบเซลล์เชื้อเพลิง ที่ Toyota Mega Web โชว์รูมขนาดใหญ่ของบริษัทโตโยต้า ซึ่งจัดแสดงรถยนต์รุ่นล่าสุดต่างๆ ที่ผลิตโดยโตโยต้า รวมถึงอุปกรณ์เสริมภายในรถยนต์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ

ศูนย์การศึกษาความปลอดภัยโมบิลิตะ (Toyota Safety Education Center Mobilitas) น้องๆ ทีม AVEM เข้ารับการฝึกสอนการขับรถอย่างปลอดภัย รวมถึงเทคนิคการขับรถในสภาวะต่างๆ เช่น ถนนลื่น, การเข้าโค้ง , การขับรถขณะมึนเมา, การขับแบบสลาลอม, การขับแบบมี ABS และ ไม่มี ABS ช่วย รวมถึงการขับแบบมีระบบช่วยการทรงตัว(VSC) และ ไม่มีระบบ VSC

ด้วยความหลากหลายของหลักสูตร ทำให้ผู้เช้าชมสามารถเรียนรู้ความสำคัญของความปลอดภัย และรู้สึกสนุกกับการขับขี่ไปพร้อมๆ กัน

โดยโตโยต้าเชื่อว่าการป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นเป้าหมายสูงสุดที่มีค่าต่อสังคม

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจึงมีความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมกิจกรรมด้านความปลอดภัยที่เน้นหลัก 3 อย่าง ได้แก่ ผู้ขับขี่ รถยนต์ และสภาพการจราจร

ศูนย์แห่งนี้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผู้ขับขี่เป็นหลัก

โดย ‘หมิง’โชคชัย ธีระจันทเศรษฐ หนึ่งในทีมชนะเลิศ กล่าวถึงทริปพิเศษนี้ว่า สนุกมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ต่างๆ ที่มีโอกาสได้ไปสัมผัส นอกจากนี้เรายังได้ความรู้มากมายจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ผ่านเทคโนโลยีและงานวิจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Toyota Safety Sense ซึ่งจำลองให้เราได้เห็นถึงระบบรักษาความปลอดภัยอันล้ำสมัย หรือ Drive Stimulator ที่ทำให้พวกเราได้เห็นถึงความแตกต่างทางด้านศักยภาพของรถยนต์แต่ละแบบอย่างชัดเจน

“นอกจากนี้ยังมีระบบ Passive ในการรักษาความปลอดภัยต่อตัวผู้ขับขี่หลังเกิดอุบัติเหตุ รวมไปถึงแนวความคิดดีๆ ซึ่งทำให้พวกผมสามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาโครงการของพวกผมให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้อีก” หมิง กล่าวทิ้งท้าย

ศูนย์การศึกษาความปลอดภัยโมบิลิตะ
ศูนย์การศึกษาความปลอดภัยโมบิลิตะ 

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ดีๆ ที่แชมป์ ‘Campus Challenge’ ได้สัมผัส และมีส่วนในการปลูกฝังการขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนนกับทุกๆ คนที่ได้ร่วมทริปนี้

ส่วนทีมต่อไปจะเป็นใครที่ได้โอกาสสัมผัสสุดยอดประสบการณ์แบบเดียวกันนี้ ติดตามได้ในกิจกรรม ‘Campus Challenge’ จากโครงการ ‘โตโยต้าถนนสีขาว’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image