บ้านไทยในฝัน ของ ‘หนูน้อยกุ๊กไก่’

การเรียนรู้ของเด็กๆ วัยอนุบาลไม่ควรมุ่งไปที่การอ่าน การเขียน หรือท่องจำในห้องเรียน แต่เกิดได้จากการมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เด็กๆ สนใจ และครูช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ คิดและทดลองทำด้วยตัวเอง อาจจะลองผิดลองถูก

แต่นั่นคือการให้โอกาสเด็กได้คิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เด็กควรได้เรียนรู้ที่จะสำรวจสืบค้น เชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่ ความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ เพื่อหาคำตอบให้กับข้อสงสัยที่เด็กๆ มี ในขณะเดียวกันได้ใช้ทักษะทางวิชาการต่างๆ บูรณาการเข้ามาในการเรียนรู้ด้วย และนั่นคือหัวใจของการเรียนรู้แบบโครงงานหรือ Project Approach ที่โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ยึดถือเป็นหลักสูตรในการบ่มเพาะเด็กๆ มาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี

ครั้งนี้ นับจากวันเปิดภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2560 และในอีก 7 สัปดาห์ต่อจากนั้น เราได้มีโอกาสตามดูเด็กๆ ห้อง อ.2/2 เพื่อสังเกตการณ์ว่าปีนี้เด็กๆ จะทำการสืบค้นและสนใจเรียนรู้เรื่องอะไรกัน

ด.ญ.ลิณนา มงคลศิริ หรือวาริน บอกว่า “บ้านไทย เป็นเรื่องที่เพื่อนๆ จำนวน 6 คน เลือกเยอะที่สุด เราเลยต้องเรียนเรื่องบ้านไทยกัน”

Advertisement

ต่อมาเด็กๆ ได้ช่วยกันหาความหมายของคำว่า “บ้านไทย” จากหนังสือพจนานุกรม สารานุกรมไทย รวมทั้งสืบค้นจากอินเตอร์เน็ต-ยูทูบ ได้ข้อมูลว่า ประเทศไทยอยู่ในภูมิประเทศเขตร้อน พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มและอยู่ในเขตมรสุม จึงมีฝนตกชุกในหน้าฝน เกือบทุกปีจะเกิดน้ำท่วม คนไทยแต่ก่อนไม่รู้จักการถมที่ดินหนีน้ำท่วม จึงปลูกบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง หรือบ้านไทยนั้นเอง ซึ่งให้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งช่วยให้ลมผ่านสะดวก ป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้าย และยังป้องกันน้ำท่วม แถมในยามปกติอาจใช้เป็นที่สันทนาการของครอบครัวอีกด้วย

สัปดาห์ต่อมาเด็กๆ ได้นำรูปมาจากบ้าน บางคนนำบ้านไทยจำลองมาให้เพื่อนดู

ด.ญ.ศรัณย์ภรณ์ มุนีมงคลทร หรือปาล์มมี่ ได้นำบ้านไทยจำลองมาเล่าให้เพื่อนฟังว่า “บ้านไทยจำลองของหนูไม่ใช้ตะปู ใช้เครื่องสับแทน บ้านไทยของหนูสร้างด้วยไม้สัก”

Advertisement

การเรียนที่ดีที่สุดของเด็กๆ ก็คือการให้พวกเขาได้เห็นจากประสบการณ์ตรง คุณครูจึงได้พาเด็กทั้งห้องไปทัศนศึกษาเรื่องบ้านไทยที่พิพิธภัณฑ์ วังสวนผักกาด ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ซึ่งเด็กๆ ต่างก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับบ้านไทยและของใช้ต่างๆ

ด.ช.กวินวิทย์ ศุภสวัสดิ์กุล หรือน้องพูน อธิบายว่า “จากที่ได้ไปวังสวนผักกาดมา ได้เรียนรู้อะไรมากมายเลย เช่น รู้ว่าบ้านไทยต้องใช้เครื่องสับ เครื่องสับไม่ต้องใช้ตะปู ผมเห็นที่ล้างเท้า วางไว้ใกล้กับบันไดทางขึ้น บันไดจะมีรู ทำด้วยไม้อย่างเดียว มีโต๊ะมีเตียงไม้ ช่องลอดแมวเอาไว้ให้คนหย่อนขาได้ และบ้านเรือนไทยมีทั้งหมด 5 ประเภท คือ 1.เรือนเครื่องสับ 2.เรือนเครื่องผูก 3.เรือนเครื่องก่อ 4.เครื่องลำยอง และ 5.เรือนแพ”

การลงมือทำก็ถือเป็นหนึ่งวิธีการเรียนรู้ที่จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างลุ่มลึก

ด.ช.ธีรัตม์ ใยสุ่น หรือเจแปน บอกว่า “คุณพ่อสอนให้ทำบ้านไทย มีเสา 4 เสา หลังคาแหลม บันได เอาท่อน้ำมาแทนไม้เอากระดาษมาวาดรูปแล้วไปติดที่บนหลังคา ที่พื้นบ้าน ฝาบ้านด้วย”

ในสัปดาห์สุดท้ายถึงเวลาที่ทุกความรู้จะตกผลึก เด็กๆ ต่างช่วยกันนำผลงานและสรุปการเรียนรู้ในทุกสัปดาห์มาจัดนิทรรศการ Project Approach เรื่อง “บ้านไทย” กันอย่างสนุกสนาน ต่างร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์บ้านไทยจำลอง สร้างความประทับใจให้กับผู้มาชมนิทรรศการเป็นอย่างมาก

นับเป็นการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่สร้างประสบการณ์ให้มากมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image