นิสิตนักศึกษา 13 สถาบัน ระดมกึ๋นพัฒนาชุมชนทอผ้าขาวม้า สร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน

นิสิตนักศึกษา 13 สถาบัน ระดมกึ๋นพัฒนาชุมชนทอผ้าขาวม้า สร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 5 องค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนของไทย ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดงาน Sustainability Expo 2022 (SX 2022) ซึ่งเป็นงานเอ็กซ์โปเกี่ยวกับความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2565

ในงานมีเสวนา “ยังอยากเล่า: CYD AAR และทายาทผ้าขาวม้าไทย” ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ที่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำโดย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะกรรมการโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ร่วมกับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย หวังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผ้าขาวม้าทอมือ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้และพัฒนาทักษะอาชีพให้กับชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทั่วประเทศ ดำเนินมาปีที่ 6

โดย ผศ.สรรพจน์ มาพบสุข รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า โครงการได้นำนิสิตนักศึกษาจาก 13 สถาบันการศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการ Creative Young Designers อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลุยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น ไม่ว่าจะเรียนด้านแฟชั่นดีไซน์ สิ่งทอ สถาปัตย์ฯ การตลาด มาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าของชุมชน 15 ชุมชนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า ของใช้ ของที่ระลึก ของชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือให้มีความทันสมัยแล้ว ยังมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาด้านการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อนำไปสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

Advertisement

ด้านทายาทผ้าขาวม้าไทย ผกาวดี แก้วชมภู จากกลุ่มทอผ้าบ้านห้วยทราย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า คนอาจมองว่าผ้าขาวม้าเชย ใส่ในราชการหรือเปล่า แต่ส่วนตัวมองว่ามีคุณค่า สามารถใส่ได้ในหลายโอกาสในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะใส่ไปประชุม ใส่ไปคาเฟ่ ซึ่งจากโครงการที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าในชุมชน โดยมีน้องๆ นิสิตนักศึกษา พบว่าได้ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูมีความทันสมัยและน่าใช้มากขึ้น ไม่ว่าการสร้างสตอรี่ การพัฒนาการตัดเย็บ พัฒนาลวดลายผ้า และใส่สีให้เข้ากับเทรนด์ ตลอดจนการนำลวดลายผ้าขาวม้าไปอยู่ในชุดกีฬาสุดเก๋ ตอบโจทย์ว่าผ้าขาวม้าใช้ได้ทุกโอกาส อยู่ที่ว่าจะใส่ไปแมตช์กับอะไร ก็อยากให้โครงการดำเนินต่อไป ในอนาคตอยากให้ช่วยพัฒนาด้านออนไลน์ เพื่อจะสร้างความรู้จัก ให้คนรับรู้ถึงคุณค่า และใช้ผ้าขาวม้าในชีวิตประจำวันมากขึ้น

Advertisement

ส่วน อิฐธิพงษ์ ทิพราชา จากกลุ่มอาชีพผ้าฝ้ายอำพัน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการเป็นการพัฒนาชุมชน แม้ช่วงแรกที่นิสิตนักศึกษาลงพื้นที่ไปจะดูเหมือนเข้าไปพัฒนาได้ยาก เพราะคนในพื้นที่ที่ทำก็มีชุดควาเชื่อและความคิดเป็นของตัวเอง กลายเป็นว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างวัย แต่พอได้พูดคุยกันต่อเนื่อง รับฟังความต้องการของชุมชน น้องๆ ได้นำกลับไปคิดและพัฒนา กลายเป็นว่าผ้าขาวม้าชุมชนเดี๋ยวนี้ดูทันสมัยและสวยงามน่าใช้อย่างมาก

ภายในงานเปิดโอกาสให้ตัวแทนนิสิตนึกษาจาก 13 สถาบัน ได้เล่าถึงการช่วยชุมชน ซึ่งหลายคนเห็นตรงกันว่าได้สร้างความรับรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชุมชนทอผ้า ที่เป็นต้นน้ำแห่งวงการแฟชั่นอย่างแท้จริง เป็นการเรียนรู้สิ่งที่ไม่มีในห้องเรียน ในบทบาทอาสาสมัครช่วยชุมชนที่ไม่มีค่าตอบแทนหรือผลคะแนนแลก แต่ทุกคนก็มุ่งมั่นตั้งใจช่วยชุมชน ในการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนได้ใกล้ชิดและหลงไหลในเสน่ห์ของผ้าขาวม้าและนำกลับมาใช้ในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม ได้เปิดมุมมองของนิสิตนึกศึกษาด้านแฟชั่นและสิ่งทอ ว่ากิจกรรมนี้ได้สอนให้คนเรียนแฟชั่นและสิ่งทอ ไม่ทอดทิ้งชุมชนทอผ้าที่เป็นต้นน้ำแห่งวงการแฟชั่น แต่ต้องช่วยกันและพากันเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image