ชิมชิล-ชิล : I-TIM โดย สุรนันทน์ เวชชาชีวะ

“เรารู้จักกันมานานมากแล้วนะปุ้ม” พี่ตู๋-กงกฤช หิรัญกิจ พูดขึ้นระหว่างที่คุยกัน ช่วงที่ผมไปเยี่ยม “โรงเรียนการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยวนานาชาติ-International Hotel and Tourism Industry Management School” เรียกกันย่อๆ ว่า สถาบันไอทิม (I-TIM)

เมื่อถึงช่วงอายุหนึ่ง มองกลับไปจะพบว่า “เวลาผ่านไปเร็วมาก” ผมรู้จักพี่ตู๋มาร่วม 30 ปีแล้ว เรียนจบกลับมาเข้ารับราชการ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ที่ไม่ค่อยมีใครเรียกชื่อเต็ม รู้จักกันแต่ “สภาพัฒน์” ในปี 2528 ยุคโชติช่วงชัชวาลของนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มี ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นเลขาธิการสภาพัฒน์

pra02090459p1

ผมถูกบรรจุเข้าทำงานฝ่ายวางแผนส่วนรวม มี ดร.บุญญรักษ์ นิงสานนท์ เป็น “หัวหน้าฝ่าย” ซึ่งทำงานให้ทั้งอาจารย์เสนาะ และอาจารย์ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยเลขาธิการในขณะนั้น โดยอาจารย์โฆสิตได้รับมอบหมายให้ดูเแลวาระคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (รศก.) ผมในฐานะข้าราชการชั้นผู้น้อยต้องเดินเอกสารบ้าง ขีดๆ เขียนๆ งาน และประสานงานตามคำสั่ง

Advertisement

ที่ต้องเจอเป็นประจำก็ “พี่ตู๋” นี่แหละ ด้วยพี่เขาเป็น “หน้าห้อง” ที่ต้อง “ตะลุมบอน” ทำทุกเรื่อง จากงานประสานงาน วิชาการ ยกร่างวาระ ถึงการ “โรเนียว” เอกสาร (สมัยนี้ไม่มีแล้ว) เรากลายเป็นทีมเดียวกันในหลายๆ เรื่อง ทำงานกันดึกดื่นเพื่อให้ทันกับงานที่เร่งด่วนในยุคนั้น

ผมเรียนรู้จากพี่ตู๋เยอะ งานราชการสภาพัฒน์ภายใต้ ดร.เสนาะ และอาจารย์โฆสิต ไม่ใช่งานสบาย ไม่มีเช้าชามเย็นชาม แต่ “งานที่หนัก” เป็น “โรงเรียน” ที่ดีกับอนาคต เรื่องนี้พี่ตู๋กับผมเห็นตรงกัน เมื่อต่างคนต่างแยกย้ายออกจากราชการ และพบกันบ้างตามสถานะทั้งที่เป็นทางการและส่วนตัว

ผมไปโลดแล่นทำธุรกิจและเข้าการเมือง พี่ตู๋ไปทำธุรกิจครอบครัว “โรงแรมสีมาธานี” ที่โคราช และ “ไอทิม”

Advertisement

ซึ่งคุณพ่อของพี่ตู๋ “พ.อ.สมชาย หิรัญกิจ” อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นผู้บุกเบิกด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกล

พี่ตู๋เองถึงเข้า “งานราษฎร์” แต่ “งานหลวง” ก็ไม่ขาดมีตำแหน่งงานเพื่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กรรมการรัฐวิสาหิจต่างๆ กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ตลอดจนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

pra02090459p1

แต่งานหลักคือ “ไอทิม” ก่อตั้งเมื่อปี 2530 ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้เป็น “สถาบันนานาชาติ” การสอนจึงเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด พัฒนาจนเป็นที่ยอมรับว่าได้ “มาตรฐานสากล” มีผู้เข้าเรียนหลักสูตร 2 ปี 50 กว่ารุ่น ศิษย์เก่านับพันคน ไม่นับหลักสูตรระยะสั้นอื่นๆ

วันนี้ “ไอทิม” ตั้งอยู่ในซอยรามคำแหง 50 ที่มีเครื่องมือพร้อมในการเรียนการสอน ห้องประชุม ห้องตัวอย่างเพื่อเรียนด้วยการปฏิบัติ ที่สำคัญคือทำห้องเรียนด้านการทำอาหารใหม่ อลังการระดับ “MasterChef” รายการทีวีดังในต่างประเทศ

pra02090459p3

ผมเข้าไปเห็นถึงกับ “ตกใจ” ไม่นึกว่าจะลงทุนขนาดนี้ ห้องขนาดใหญ่ มีจอและเครื่องเสียงดังฟังชัด นักเรียนมีเคาน์เตอร์ของตนเอง มีเตา มีเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อทำอาหารได้ทุกประเภท ในห้องเหมือน “ห้องส่ง” ถ้าตั้งกล้องถ่ายโทรทัศน์รายการทำอาหาร หรือแข่งขันทำอาหารได้สบายๆ

งานนี้พี่ตู๋จับมือกับ “คุณบี๋-อนันต์โรจน์ ทังสุพานิช”, “คุณหน่อง-ภารณี จิตรกร”, “เชฟหนุ่ม-ธนินทร จันทรวรรณ” และ “เชฟแจ๊ด-ศาตะพร ชูดวง” เริ่มจากจัดคอร์สสอนทำอาหารไทย หลักสูตรอาหารไทย “ต้นตำรับ” ให้รู้จักและเข้าใจความดั้งเดิม และเพื่อสามารถนำไปประยุกต์ได้ “ถูกต้อง” เรียกชื่อคอร์ส “ปากะศิลป์” มาจากคำว่า “ปากะ” เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าทำอาหาร

pra02090459p22

เรียน “ศิลปะการทำอาหาร” ดั้งเดิมในบรรยากาศทันสมัยก็ว่าได้

วันที่ผมไปทำกันใหญ่ “ราดหน้า”, “ผัดซีอิ๊ว”, “ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่”, “ผัดไทย” และ “หมี่กรอบ” อาทิตย์ต่อไปเป็น “กะเพราโบราณ”, “ข้าวผัด”, “ขนมจีนซาวน้ำ”, “ไข่ลูกเขย” และ “ปลาดุกฟูสะเดาน้ำปลาหวาน”

แหะๆ แต่จะให้ “ชิม” ของใครเป็นพิเศษก็ไม่กล้า เดี๋ยว “วิจารณ์” ไม่ได้ นักเรียนแต่ละคนดูตั้งใจเรียน และทำออกมา “หน้าตา” ดีทั้งนั้น

เอาเป็นว่าไป “เรียน” เอง แล้ว “ชิม” ของตัวเอง “ชิล” ที่สุดครับ!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image