ไหว้พระปลดหนี้ อันซีนเมืองพะอัน และ ‘ก๊อกุ๊นกู่’ ถ้ำสวยที่สุดในพม่า

ภายในถ้ำเต็มไปด้วยพระพิมพ์บนผนังถ้ำ

เมืองพะอันมีสถานที่ท่องเที่ยวประเภทถ้ำหลายแห่ง แต่ละแห่งล้วนเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ “ถ้ำก๊อกุ๊นกู่” (Kaw-goon Cave) มากขนาดไหน ขนาดที่บนผนังถ้ำดารดาษไปด้วยพระพิมพ์องค์เล็กองค์น้อยให้แหงนมองได้ตลอดตั้งแต่ปากถ้ำไปจนถึงพื้นที่ด้านใน

แม้จะเทียบความยิ่งใหญ่ไม่ได้กับถ้ำหลายๆ แห่งในประเทศอื่น ที่แกะสลักผนังถ้ำเป็นพระพุทธรูปองค์มหึมา เช่น ในประเทศจีน แต่ที่นี่งดงามไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ที่สำคัญคือ แสดงถึงพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่นี่อย่างแท้จริง

“พะอัน” (Hpa An) เป็นเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง อยู่ห่างจากเมืองมะละแหม่งขึ้นไปทางเหนือประมาณ 60 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.30 ชม.

เชื่อกันว่าอนาคตอีกไม่ไกลเมืองพะอันจะกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจอีกเมือง นอกจากจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวินแล้วยังเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างหลายเมือง

Advertisement

เป็นเสมือนประตูสู่ภาคใต้ของเมียนมาที่สามารถลงสู่เขตตะนาวศรี (Thanintaryi Division) ซึ่งประกอบด้วยเมืองทีjมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ทวาย มะริด และเกาะสอง หรือแม้กระทั่งการเชื่อมโยงกับศูนย์กลางเศรษฐกิจทางตอนกลางของประเทศอย่าง “มัณฑะเลย์” ได้ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเป็นทำเลกระจายสินค้า (Distribution Center) และเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งเหมาะจะเป็นศูนย์กลางคลังสินค้าเพื่อเปลี่ยนถ่ายสินค้าในพื้นที่ทางตอนใต้ของเมียนมา

การเดินทางหากเริ่มต้นจากประเทศไทยไปยังเมียนมาโดยทางรถยนต์ จากด่านแม่สอดข้ามพรมแดนสู่จังหวัดเมียวดีของพม่า ระยะทางเพียง 150 กม. ก็ถึงเมืองพะอัน ไม่ต้องขับรถอ้อมภูเขาเสียเวลาเป็นครึ่งค่อนวันเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากมีการตัดถนนสายเอเชีย เอเอช 1 ที่เชื่อมต่อไปจนถึงชายแดนอินเดียได้รับการปรับปรุงและขยายถนนให้กว้างขึ้นกว่าเดิม จึงสะดวกสบายอย่างมาก ขณะเดียวกัน ก็เป็นเส้นทางที่รถสินค้าต่างๆ จะต้องผ่านที่เมืองนี้ก่อนจะไปยังเมืองอื่นๆ โดยสินค้าต่างๆ ที่ขายอยู่ในเมือง ส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าจากเมืองไทย แม้กระทั่งแหอวนที่ใช้ในการจับปลาที่นี่ก็นำเข้าจากประเทศไทย จากจังหวัดทางภาคอีสานด้วยซ้ำ

ความที่พะอันเป็นเมืองที่ล้อมด้วยเทือกเขาหินปูน ที่นี่จึงมีสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่เป็นถ้ำหินปูนไม่น้อย

Advertisement
“เจดีย์ก้าวกะนาลัต” หรือ เจดีย์วัดเขาตะปู
พระพุทธรูปทรงเครื่อง พระพักตร์หวานมาก

หนึ่งในนั้นคือ “เจดีย์ก้าวกะนาลัต” (Kyauknalatt) หรือเจดีย์วัดเขาตะปู ด้วยรูปทรงที่มองแต่ไกลละม้ายเขาตะปูที่จังหวัดพังงา มีเจดีย์สีขาวอยู่ด้านบน ทั้งนี้ เจดีย์เขาตะปูจะตั้งอยู่กลางน้ำ มีสะพานปูนเป็นทางเชื่อมจากบริเวณอุโบสถ เจดีย์แห่งนี้เป็นที่เลื่องลือเป็นที่เคารพศรัทธา ใครไปใครมาก็ต้องมากราบสักการะ ครูบาตามมันหงะสะยาด่อง (สะยาด่อง=ครูบา) เล่ากันว่า ท่านมานั่งสมาธิแล้วสำเร็จฌานที่นี่ ปัจจุบันแม้จะละสังขารไปแล้ว แต่ยังคงมีผู้ศรัทธาแวะมาสักการะและขอสายสิญจน์ผูกข้อไม้ข้อมือเพื่อความเป็นสิริมงคล

อีกถ้ำหนึ่งที่ถือเป็นอันซีน งดงามอลังการคือ “ถ้ำก๊อกุ๊นกู่” (Kaw-goon Cave) หรือที่คนไทยเรียกว่า “ถ้ำหมื่นพระ” อายุกว่า 1,400 ปี สูงกว่าระดับน้ำทะเล 116 ฟุต แม้ว่าถ้ำแห่งนี้จะเป็นถ้ำเล็กๆ สูง 200 ฟุต ยาวเพียง 300 ฟุตเท่านั้น แต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีมรดกทางวัฒธรรมที่สำคัญของเมียนมา โดยเฉพาะพระพิมพ์จำนวนมากที่เรียงรายอยู่เต็มผนังถ้ำแทบไม่มีช่องว่าง ยังมีพระพุทธรูปหินทราย จารึกเก่าแก่ของมอญ ฯลฯ อายุเก่าแก่เชื่อมโยงไปถึงยุคปลายอาณาจักรพุกามคือ ราวศตวรรษที่ 13 จึงได้รับการอนุรักษ์ไว้ตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมา

แค่ทางเข้าประตูวัดก็สร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยซุ้มประตูสองชั้น ด้านบนประดับด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดเท่าตัวคน แวดล้อมด้วยบุคคลในเครื่องแต่งกายเช่นผู้มีฐานันดรศักดิ์ มีพระเจดีย์ครอบด้านบนอีกชั้น

ถ้ำก๊อกุ๊นกู่ เป็นถ้ำเล็กๆ ร่มรื่น
ประตูทางเข้าวัดถ้ำก๊อกุ๊นกู่

บริเวณโดยรอบสงบร่มรื่น มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาแม้ไม่มาก แต่มาเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย บัตรเข้าชมสถานที่ 3,000 จ๊าด หรือประมาณ 60 บาท

กล่าวกันว่า ถ้ำก๊อกุ๊นกู่ สร้างโดยราชินีมอญ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ทั้งสันนิษฐานว่าก่อนหน้านี้ที่นี่เป็นศาสนสถานของฮินดู เนื่องจากมีการพบรูปพระวิษณุทำด้วยหินทราย

ขณะที่นักวิชาการมอญศึกษาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สมัยพระเจ้าเมียะนูฮอ (กษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญ) ทรงมีมเหสีชาวไทย หนีมาแล้วสร้างตรงนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม จะสังเกตว่างานสถาปัตยกรรมเป็นฝีมือช่างราชสำนัก อย่าง พระพุทธรูปจะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องมีเกศมาลา

จะด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธคุณที่ ถ้ำก๊อกุ๊นกู่ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้ำแห่งนี้สามารถผ่านห้วงเวลาแห่งสงครามมาได้ โดยที่ไม่ได้รับความเสียหายแม้แต่น้อย และเพราะรอดพ้นจากการทิ้งระเบิดนี่เอง ทำให้ชาวบ้านศรัทธายิ่งนักจึงลักลอบแซะพระพิมพ์บนผนังถ้ำไปเก็บไว้เพื่อป้องกันภยันตราย

เดินชมพระพุทธรูปที่ประดิษฐานเรียงรายตั้งแต่หน้าทางเข้าถ้ำแล้วอย่าลืมแหงนหน้ามองบนผนังถ้ำสูงขึ้นไปที่เต็มไปด้วยพระพิมพ์เรียงติดกันเป็นแผงๆ งดงามราวไม่ต่างจากศิลป์ประดับถ้ำ บางส่วนยังเห็นร่องรอยที่ถูกมือมืดตัดแซะออกไป

ปากทางเข้าถ้ำ

ความงดงามน่าตื่นตะลึงของจำนวนพระพุทธรูป รวมทั้งพระพิมพ์ที่มีอยู่มากมายที่ถ้ำแห่งนี้ จึงเป็นที่มาของสมญานามที่คนไทยเรียกกันว่า “ถ้ำหมื่นพระ”

สำหรับนักท่องเที่ยวที่แวะเข้ามากราบสักการะจะต้องไม่พลาดพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่ง ที่ชาวกะเหรี่ยงนิยมมากราบสักการะเป็นประจำ “พระพุทธรูปอาจุ้ยจี่พญา” เพื่อขอพรให้หมดสิ้นหนี้สิน

ผู้รู้อธิบายเพิ่มเติมว่า ใครๆ มักเข้าใจว่า สำหรับคนที่เป็นหนี้เป็นสินรุงรังให้มาขอพรให้สามารถปลดหนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงคำที่ว่า “ปลดหนี้” ความนัยหมายถึงใครที่เคยสร้างเวรกรรมร่วมกันมา ก็ขอให้ปลดหนี้กรรมกันแต่เพียงชาตินี้

ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องมาพบปะชดใช้กรรมกันอีกนั่นเอง!

พระพุทธรูปอาจุ้ยจี่พญา ที่คนในพื้นที่นิยมมาไหว้ปลดหนี้
กราบขอพรครูบาตามมันหงะสะยาด่อง ที่เจดีย์วัดเขาตะปู
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image