โรงแรมที่เปลี่ยนไป โดย ปริญญา ตรีน้อยใส

โรงแรมที่เปลี่ยนไป โดย ปริญญา ตรีน้อยใส

โรงแรมที่เปลี่ยนไป

เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสออกแบบโรงแรมริมทะเลแห่งหนึ่งในกระบี่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมโดยรอบโรงแรมยังเป็นธรรมชาติสวยงาม แต่ทว่า ไม่มีถนนเข้าถึง ต้องเดินทางเข้าโรงแรมทางเรือเท่านั้น ส่งผลให้ต้องแก้ไขปรับแบบอยู่นานสองสามปี กว่าจะผ่านการพิจารณาเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในมาตรการการลดมลภาวะ ทำให้โรงแรมนี้ไม่มีครัวใหญ่ เพื่อลดขยะ เศษอาหาร รวมทั้งการขนส่งวัตถุดิบต่างๆ โดยการแยกครัวไปอยู่ไกลออกไปในเมือง

แต่ละวันจะมีการขนส่งอาหารพร้อมทานทางเรือ เช่นเดียวกับส่วนบริการอื่น เช่น ส่วนซักรีด ส่วนซ่อมบำรุง ไปจนถึงส่วนที่พักพนักงาน ที่แยกไปรวมอยู่อีกแห่งหนึ่ง

ส่งผลให้โรงแรมแห่งนี้ต่างไปจากโรงแรมอื่น ที่สำคัญเมื่อไม่มีพื้นที่ส่วนบริการอยู่ริมทะเล ทำให้มีพื้นที่สร้างห้องพักเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดปัญหาการปะปนของพนักงานกับผู้ที่มาพัก ลดภาระการเดินทางของพนักงาน รวมทั้งง่ายต่อการควบคุม

Advertisement

จึงเท่ากับว่า รายได้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ส่งผลให้กิจการโรงแรมมีกำไร จนกลายเป็นต้นแบบในการออกแบบโรงแรมอีกหลายแห่งต่อมา

นอกจากจะขยายกิจการโรงแรมได้หลายสาขาแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถรับบริหารโรงแรมได้หลายแห่งในพื้นที่เดียวกัน โดยมีส่วนบริการกลางแห่งเดียว ทำให้จำนวนเชฟในครัวลดลง พนักงานหลายแผนกลดลง กิจการจึงเจริญก้าวหน้า กลายเป็นเครือข่ายโรงแรมใหญ่ของไทย

เมื่อไม่นานมานี้ อนันต์ อัศวโภคิน เล่าให้หลายคนฟังถึงโรงแรมแนวใหม่ ที่ไม่มีส่วนบริการต่างๆ คอฟฟี่ช็อปหรือห้องอาหาร ก็ให้ร้านอาหารชื่อดังรับไปดูแลจัดการ ใช้วิธีส่งอาหารจากครัวกลาง โรงแรมไม่ต้องมีครัวขนาดใหญ่ และไม่ต้องว่าจ้างพนักงานประจำ

Advertisement

เช่นเดียวกับพนักงานทำความสะอาด พนักงานรักษาความปลอดภัย รวมทั้งช่าง ใช้วิธีว่าจ้างเหมาบริษัทอื่นเข้ามาดูแล ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า และเครื่องแบบพนักงาน ก็จ้างบริษัทซักรีดมารับไปจัดการ และยังให้เช่าพื้นที่เปิดร้านรับบริการรับซักรีดอีกด้วย

ดอกไม้พันธุ์ไม้ตกแต่งโรงแรมก็ใช้วิธีการเดียวกัน คือให้ร้านดอกไม้มาดูแลและเปิดร้านภายในโรงแรม ยังให้ศูนย์สุขภาพและสปาชื่อดังมาเช่าพื้นที่เปิดบริการ รวมทั้งร้านสะดวกซื้อหมายเลขมาบริการยี่สิบสี่ชั่วโมงแทน ด้วยวิธีนี้ พนักงานโรงแรมจึงมีแค่ฝ่ายต้อนรับและฝ่ายจัดการเท่านั้น

ตอนเกิดวิกฤตเสื้อเหลืองเสื้อแดง ในขณะที่ทุกโรงแรมทั่วทั้งกรุงเทพฯ เจอปัญหาเพราะไม่มีผู้เข้าพัก แต่ต้องจ่ายให้พนักงานเต็มจำนวน โรงแรมของคุณอนันต์ นอกจากอยู่รอดปลอดภัยแล้ว โดยมีค่าใช้จ่ายแค่ค่าจ้างพนักงานต้อนรับและผู้จัดการไม่กี่คนเท่านั้น

คุณอนันต์ ยังเล่าว่า ผู้เข้าพักหรือนักท่องเที่ยว นอกจากจะนิยมการรับประทานอาหารสตรีตฟู้ดส์นอกโรงแรมแล้ว ยังพอใจที่จะซื้อจากร้านสะดวกซื้อไปอุ่นไมโครเวฟ เป็นการลดค่าใช้จ่ายและชิมอาหารอร่อยถูกปาก

ยุคสมัยเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป แบบแผนโรงแรมจึงต้องปรับตัวตามมาตรฐานต่างๆ ที่เคยจดจำ ทำตามเขาตลอดมา

อเมริกันสแตนดาร์ด (ที่ไม่ใช่สุขภัณฑ์) กลายเป็นเรื่องล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับกาลเวลา

เจ้าของกิจการโรงแรม จะต้องค้นหารูปแบบแผนใหม่ จะเป็นโรงแรมตากอากาศที่ไม่มีส่วนบริการ โรงแรมในเมืองที่เหมือนศูนย์การพักแรม มีพื้นที่ให้เช่าเปิดกิจการ หรือแม้แต่เครือข่ายโรงแรมที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสถานที่ อย่าง airbnb.com

ว่าแต่ว่า บรรดาสถาปนิก เจ้าของโรงแรม และหน่วยงานราชการที่ดูแลกำกับกิจการจะทันรู้ตัวหรือไม่ว่า เอาต์ไปเรียบร้อยแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image