เที่ยว “เมืองจันเสน” แหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีของไทย ไม่ใกล้ ไม่ไกล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

เทศกาลฉลองปีใหม่ ๒๕๖๐ ไล่ยาวไปจนถึง เทศกาล “ตรุษจีน” ที่จะมาเยือนเร็ววันนี้ หากจะบรรจุ “เมืองจันเสน” ให้เป็นเส้นทางน่าเที่ยว ที่ออกนอกกรุงเทพไม่ไกลนัก ควบคู่ไปกับการเก็บเกี่ยวเมืองสำคัญในอดีต สนุกกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองเก่า และปิดท้ายทริปท่องเที่ยวด้วยการไหว้พระขอพรที่ “วัดจันเสน – ศาลเจ้า นาคราช” ในคราวเดียวกัน ก็น่าจะเป็นการเริ่มศักราชใหม่ที่เสริมสิริมงคล และเติมพลังบวกให้ก้าวไปข้างหน้ากับปีนักษัตร “ระกา” ได้อย่างมั่นใจ

“เมืองจันเสน” เป็นชุมชนไทยโบราณที่เกิดขึ้นริมทางรถไฟใน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ มีอายุยาวนานไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปี ที่เคยเจริญรุ่งเรืองในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือในช่วงยุคโลหะตอนปลาย ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวารวดีตอนต้นที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง “เมืองจันเสน” ถือเป็นเมืองร่วมสมัยเดียวกับเมืองอู่ทองในลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเมืองฟูนัน ในบริเวณใกล้ปากแม่น้ำโขง ซึ่งเมืองดังกล่าวถูกค้นพบครั้งแรกจากภาพถ่ายทางอากาศและสำรวจเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ โดยอาจารย์นิจ หิญชีระนันท์ นอกจากนี้ “เมืองจันเสน” ยังเป็นเส้นทางการค้าขายที่สำคัญในลุ่มแม่น้ำลพบุรี – ป่าสัก เชื่อมโยงศาสนาและความเป็นอยู่ของประชากรด้วยภูมิปัญญา

จากวันนั้นในอดีตจวบจนวันนี้ “เมืองจันเสน” เป็นเข็มทิศที่สำคัญในการศึกษา ค้นคว้า แหล่งโบราณคดีของประเทศไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนิน โดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟจิตรลดามายังสถานีรถไฟบ้านตาคลี อำเภอตาคลี และในคราวนั้นคุณยายแปลก แซ่อึ๊ง คหบดีของชุมชนจันเสนในสมัยนั้นได้ทูลเกล้าฯถวายกระเช้าผลไม้แด่พระองค์ สร้างความปลาบปลื้มมาสู่พสกนิกรชาวชุมชนจันเสนเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญอ.ตาคลี-จันเสน ยัง เป็นเส้นทางพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย

Advertisement

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเมื่อมาเยือน “เมืองจันเสน” ได้แก่ “พิพิธภัณฑ์จันเสน” ที่ตั้งอยู่ในวัดจันเสนที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีที่สำคัญ จัดแสดงประวัติความเป็นมาของ “เมืองจันเสน” ได้อย่างครบถ้วนประกอบด้วย พัฒนาการของชุมชนในลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ซึ่งอธิบายถึงชีวิตความเป็นอยู่ในยุคต่างๆ รวมถึงโบราณวัตถุ เครื่องประดับ ที่ขุดพบเป็นจำนวนมาก อาทิ โครงกระดูกมนุษย์ แม่พิมพ์ขวานสำริด เครื่องประดับร่างกาย รูปปั้นต่างๆ ฯลฯ นอกจากนี้การเข้าเยี่ยมชม ชุมชนจัดให้มี “ยุวมัคคุเทศก์” เยาวชนตัวน้อยๆจากโรงเรียนวัดจันเสน ที่คอยให้ข้อมูลแก่ผู้มาเข้าเยี่ยมชม โดยทุกคนผ่านการอบรมเรียนรู้เรื่องราวของชุมชน ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีในท้องถิ่น ภารกิจครั้งนี้นอกจากประสบการณ์ที่ได้แล้ว ยังเป็นการสร้างสำนึกรักบ้านเกิดอีกทางหนึ่งด้วย

ล่าสุด พระครูนิวิฐธรรมขันธุ์ หรือหลวงพ่อเจริญเจ้าอาวาสวัดจันเสน ผู้สานต่อเจตนารมณ์ของพระครูนิสัยจริยคุณ หรือหลวงพ่อโอด ในการพัฒนาศาสนาและชุมชนให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ได้จัดตั้ง “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาที่ผ่านมา โดยจัดให้เป็นพื้นที่สำหรับเป็นแหล่งรวบรวม อนุรักษ์ ถ่ายทอด สืบสานและใช้ประโยชน์องค์ความรู้มรดกปัญญาทางวัฒนธรรม โดยแบ่งพื้นที่ภายในศูนย์เป็นหมวดหมู่ดังนี้

พื้นที่จัดแสดงพระราชกรณียกิจที่สำคัญในด้านศาสนาของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ ภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จ อ.ตาคลี จ.นครสววรค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาต และทรงเปิดพิพิธภัณฑ์จันเสน เมื่อวันที่ ๑๔ ก.ค.๒๕๔๒ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นการส่วนพระองค์พร้อมด้วยสมาคมคูสอนภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ณ วัดจันเสน เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๔๕ และทรงมีปฏิสันถารกับพระครูนิวิฐธรรมขันธุ์ และ พื้นที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของ พระครูนิสัยจริยคุณ หรือหลวงพ่อโอด เจ้าอาวาสวัดจันเสน รูปที่ ๑๐ ที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวจันเสน ที่นี่จึงเป็นที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อโอด เครื่องอัฐบริขาร หลวงพ่อนาค พระพุทธรูปหินทรายปางนาคปรก พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจันเสนให้ความนับถือศรัทธา รวมถึง พระพุทธนิมิต พระพุทธรูปหยกขาว เครื่องทรงโลหะทองเหลือง ที่มีความวิจิตรงดงาม ที่อัญเชิญมาจากประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ฯลฯ

ก่อนเดินทางกลับ เมืองจันเสน มิได้มีเพียงร่องรอยทางประวัติศาสตร์เท่านั้น ที่นี่ยังเปี่ยมไปด้วย ภูมิปัญญาสู่รากฐานวิชาชีพ สมาชิกกลุ่มสตรีทอผ้าจันเสน ก่อตั้งขึ้นโดย ท่านพระครูนิวิฐธรรมขันธ์ เจ้าอาวาสวัดจันเสน ที่ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของการทอผ้าด้วยมือ จัดตั้งเป็น “กลุ่มสตรีทอผ้าจันเสน” เพื่อเป็นอาชีพเสริมหารายได้เพิ่ม หลังฤดูเก็บเกี่ยวให้กับกลุ่มแม่บ้าน โดยมีลวดลายเฉพาะ จ.นครสวรรค์ อาทิ ผ้าลูกแก้วลายผักกูด ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดหน้าและผ้าทอมือกี่ร้อยนิ้ว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน ผ้าคลุมเตียง ปัจจุบันชุมชนจันเสนได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยว OTOP สามารถสร้างรายได้และต้นแบบการเรียนรู้ที่สำคัญในจังหวัดนครสวรรค์

ก่อนกลับ แวะไหว้ “ศาลเจ้าพ่อนาคราช” เพื่อขอพรรับมงคลศักราชใหม่ ศาลแห่งนี้เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของชาวจันเสน ที่ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี ๒๕๔๔ โดยที่ไม่มีใครคิดว่าจะสร้างได้ใหญ่โตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ด้วยงบประมาณเริ่มต้นที่ ๓,๐๐๐ บาทเท่านั้น และศาลเจ้าพ่อนาคราชหลังแรกก็สร้างสำเร็จเสร็จสิ้นในเวลาเพียง ๘ เดือน โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ ๔๐ ล้านบาท จนกลายเป็นที่ประดิษฐานขององค์เทพ เทวรูป พระในปางต่างๆ มากมาย เช่น พระยูไล เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้ากวนอู เทพเจ้านาจา เทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี๊ยะ พระ ๑๘ อรหันต์ เทพเจ้าตี่จั่งอ๊วง เป็นต้น ในอนาคตอันใกล้ศาลเจ้าแห่งนี้จะเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนภาษาจีนแก่ผู้สนใจทั่วไป และเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กเพื่อให้การรักษาคนในชุมชนอีกด้วย

ความเป็นมาในอดีต ของ “ชุมชนจันเสน” ที่ผ่านกว่า ๒,๐๐๐ ปี จนถึงวันนี้ จึงเป็นมากกว่าขุมทรัพย์ในอดีตที่ส่งผลให้ถึงปัจจุบันเพียงอย่างเดียวหากยังสามารถต่อยอดมรดกทางปัญญาในการศึกษาและเรียนรู้ต่ออนุชนรุ่นหลัง การพัฒนาและจัดทำศูนย์การเรียนรู้ในมิติต่างๆ จนเป็นรากแก้วที่สำคัญในการวางรากฐานให้ชุมชนจันเสนในวันนี้แข็งแรงและยั่งยืน เป็นต้นแบบที่ดีให้กับชุมชนอื่นๆของไทย อาทิ ในแง่มุมของการกระตุ้นการท่องเที่ยว การสร้างการเรียนรู้ทางโบราณคดี การสร้างวิชาชีพ ตลอดจนการรักและหวงแหนในทรัพยากรทางโบราณคดีของไทยต่อไป

นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ที่คนไทย ควรจะเร่ง “ปักหมุด” ให้เป็นที่พักผ่อนที่มากกว่าการหย่อนใจ เพราะเที่ยวเมืองเก่า “จันเสน” นับเป็นการเสริมทัพรับบารมีปีไก่ทองไปพร้อมๆ กัน อย่างนี้เห็นที่จะต้องยกระดับให้ “เมืองจันเสน” เป็นเมือง “ต้องห้ามพลาด” รับศักราชใหม่ ๒๕๖๐ .. จัดคิวก่อนใครซิคะ … รออะไร …..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image