เยือนถิ่นกระซิบรัก แอ่วน่าน ให้บันลือโลก ดัน ‘น่านนคร’ สู่เมืองสร้างสรรค์แห่งยูเนสโก
“ยินดีจ๊าดนัก มากระซิบฮักตี้น่าน หื้อม่วนใจ๋จื้นบาน มีโชคมีชัยหนาเจ้า”
ภาษากำเมืองจากไกด์ตัวน้อยที่เปล่งสำเนียงท้องถิ่น เชิญชวนนักท่องเที่ยวเปิดประตูสู่ ‘น่าน’ จังหวัดเล็ก ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งอุดมไปด้วยธรรมชาติ ที่สอดแทรกวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น จนขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในโลเกชั่นยอดนิยมของเหล่าภูมิแพ้เมืองกรุง ที่หลีกหนีจากความวุ่นวาย แบกเป้ ขึ้นเหนือมาโอบกอดธรรมชาติ
ซึ่งในวันนี้จะพานักเดินทางไปสำรวจ ‘น่าน’ จังหวัดเล็ก ๆ ที่เปี่ยมล้นไปด้วย ‘มวลแห่งความสุข’ อัดแน่นไปด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรมที่หากใครได้สัมผัสเป็นต้องตกหลุมรัก ถ้าอยาก ‘ฮักเมืองน่าน’ หยิบรองเท้าผ้าใบคู่ใจ แล้วเตรียมแอ่วน่านไปด้วยกันเลย
หลังจากเดินทางเข้าสู่แผ่นดินน่านนคร ลัดเลาะผ่านเส้นทางภูเขาอันคดเคี้ยวที่ถูกรายล้อมไปด้วยแมกไม้สีเขียวชอุ่ม เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าขณะนี้ทุกท่านมาเยือนถิ่นเหนือแบบแต๊ๆ แม้อากาศในช่วงเดือนสิงหาคมจะร้อนระอุไปบ้าง แต่ไม่ได้ลดทอนความสวยงามของน่านให้ลดน้อยลงเลย ในทางกลับกัน “น่านช่วงปลายฝนก็มีเสน่ห์ไม่เบา” ในความสวยงามทั้งธรรมชาติ ศิลปะ และความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมท้องถิ่น
อีกทั้งการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ส่งให้ ตำบลในเวียง อ.เมือง จ.น่าน ได้รับรางวัล “แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก” จาก Green Destinations ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนชั้นนำของประเทศเนเธอร์แลนด์ ในประเด็นการจัดการขยะท่องเที่ยวด้วยกระบวนการทางสังคมของเมืองเก่าน่าน
และในปี 2568 ถึงคราวผลักดันน่านสู่ก้าวต่อไป เติมโปรไฟล์ให้ครบเครื่องกว่าเดิม โดย อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) ดำเนินการส่งน่านนครเข้าชิงตำแหน่งสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (The Creative cities Network : UCCN) “ในด้านหัตถกรรม และศิลปะพื้นบ้าน” เป็นการยกระดับการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ก้าวสู่การเป็นต้นแบบของแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ “เมืองแห่งความสุขและสร้างสรรค์” เพื่อให้น่านเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างสมดุล และยั่งยืน
ซึ่งน่านยังคงมุ่งมั่นเดินหน้านำแนวทางการขับเคลื่อนของยูเนสโก มาใช้พัฒนาเมืองโดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมปราชญ์ศิลปิน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้รักษามรดกทางภูมิปัญญาของเมืองที่จะส่งต่อองค์ความรู้สู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
และการไปเยือนน่านในครั้งนี้ พิเศษกว่าครั้งไหน ๆ เพราะเป็นการ “แอ่วน่าน” ที่ไม่ใช่แค่วัดพระธาตุแช่แห้ง หรือชมสถาปัตยกรรมชื่อดังที่วัดภูมินทร์ แต่จะพาสำรวจสถานที่ท่องเที่ยว และกิจกรรม “อันซีน” ที่ทางอพท. พื้นที่พิเศษน่านได้ดีไซน์ร่วมกับชุมชนเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงเอกลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของเมืองน่าน ผ่านกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มอบความสนุสนาน และสอดแทรกความรู้ด้านประวัติศาสตร์มากมายที่หากมาครั้งเดียวคงไม่พอ
โฮงเจ้าฟองคำ
สร้างขึ้นครั้งแรกที่ค่ายสุริยพงษ์ เมื่อปี พ.ศ.2368 และย้ายมาสร้างที่บ้านพระเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2454 คำว่า “โฮง” มีที่มาจากชาวเมืองน่านเรียกบ้านหลังใหญ่ว่าโฮงซึ่งลักษณะเป็นเรือนไม้ 3 หลังติดต่อกัน มีระเบียงหรือลาน เพื่อให้สามารถเดินหากันได้อย่างสะดวก
ในปัจจุบัน โฮงเจ้าฟองคำได้ปรับโฉมพัฒนาต่อยอดให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ Creative space แหล่งเรียนรู้ต้นแบบด้านหัตถกรรม และศิลปะพื้นบ้าน นำเสนอเป็นแหล่งเรียนรู้และมีการจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชม และทำกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญา วิถีชีวิต นอกจากนี้โฮงเจ้าฟองคำยังได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2559 ประเภท อาคารเคหะสถาน และบ้านเรือนเอกชน จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
กิจกรรมแต้มหัวเรือจิ๋ว
เป็นกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในการสืบสานความรู้ และภูมิปัญญาของชาวน่าน โดยทางชุมชนจะจัดเตรียมหัวเรือจำลองไว้ให้ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถร่วมทาสีหัวเรือ สร้างสรรค์หัวเรือในสไตล์ของตนเอง และเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้
กิจกรรมเขียนตั๋วเมือง หรือ ตัวเมือง
เป็นกิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟู สืบสาน อักษรธรรมล้านนา ที่เป็นอักษรของชาวล้านนาและภูมิปัญญาแห่งนักปราชญ์ เป็นเอกลักษณ์และอักษรของภาคเหนือ ใช้เขียนพระธรรม คำสอน และพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ศลาจารึก ประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ ฯลฯ กิจกรรมนี้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ฝึกเขียน ฝึกอ่าน จนเกิดความคล่องแคล่ว จากนั้นให้นำไปเขียนบนกระเป๋าย่ามเพื่อเป็นของที่ระลึกสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกด้วย
บ้านโคมคำ
กิจกรรมการเรียนรู้การทำโคมมะเต้า (โคมหม่าเต้า) ที่ภาษาเหนือมีความหมายว่า แตงโม เป็นกิจกรรมการทำโคมไฟแบบล้านนา ซึ่งถูกนำมาใช้ประดับ ตกแต่งอาคารบ้านเรือนเพื่อความสวยงาม และสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่เจ้าของบ้าน ซึ่งสำหรับชาวล้านนาเชื่อกันว่า การจุดโคมไฟ นำความเจริญและความสุขมาให้กับคนในครอบครัว ในอดีตโคมเป็นพุทธบูชา เมื่อนำไปแขวนที่วัดจะเกิดความเป็นสิริมงคล เปรียบดั่งดวงไฟที่ส่องชีวิต สีทองที่นำไปประดับโคม ความหมายทางนัยยะ เรียกว่า “วัชระ” หมายถึง ความแข็งแกร่ง ความเฉลียวฉลาด มักจะนำโคมไปแขวนที่วัดพระธาตุแช่แห้ง หรือวัดภูมินทร์
บ่อสวกเฮิร์บ
กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ทางบ่อสวกเฮิร์บตั้งใจเปิดเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนสุขภาพและเป็นการแปรรูปสมุนไพรต่าง ๆ ให้เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนั้นยังมีการสุมยาด้วยสมุนไพร ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดอาการหวัดคัดจมูกและภูมิแพ้ กิจกรรม “การขัดเท้า-แช่เท้า” ด้วยสมุนไพร โดยใช้สมุนไพรพื้นถิ่น และขัดผิวด้วยเกลือขัดผิวสูตรเฉพาะ เป็นเกลือสินเธาว์สะตุ จากเกลือภูเขา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน บ่อเกลือสินเธาว์โบราณแห่งเดียวในประเทศไทย
ดอยซิลเวอร์ ชาติพันธุ์อิวเมี่ยน
นอกจากแหล่งท่องเที่ยวเขชิงสร้างสรรค์แล้ว อพท. น่าน ยังได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์อิวเมี่ยนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในด้านปราชญ์ ศิลปิน และครูภูมิปัญญา เพื่อยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่านเชิงสร้างสรรค์ โดยร่วมกับ บริษัท ดอยซิลเวอร์แฟคตอรี่ จำกัด และกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง จัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมเกี่ยวกับภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเงินของจังหวัดน่าน ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์อิ่วเมี่ยน ผลักดันโครงการฝึกอบรมแรงงานเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สามารถต่อยอดภูมิปัญญาการทำเครื่องเงินสู่รุ่นต่อไป การดำเนินโครงการนี้ ส่งผลให้ อพท. ได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประเภทราชการส่วนกลาง ระดับดี ประจำปี 2566 (Human Rights Awards 2023)
โดยผลสำเร็จในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งของภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทีมท่องเที่ยวน่าน ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ประกอบกับชุมชนในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วม และจิตสำนึกในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรมอาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและได้จัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยว ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติมากมาย จนก่อให้เกิดการพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งการพัฒนาทุกด้านที่กล่าวมานี้เอง ที่จะเป็นรากฐานสำคัญให้เมืองน่านมีความพร้อมเข้าชิงเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ในปี 2568 ได้อย่างแน่นอน