อนุทิน ดีเดย์ 1 ต.ค. นำร่องร้านยาใกล้บ้าน ด้าน สปสช. มั่นใจผู้ป่วยได้ประโยชน์ร่วมโครงการ 3 ล้านคน

       เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติเห็นชอบโครงการรับยาใกล้บ้านสำหรับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาทไปเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา การดำเนินโครงการนี้จะเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่จะถึงนี้ โดยผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จิตเวช หอบหืด หรือโรคเรื้อรังอื่นที่ไม่มีความซับซ้อน จะมีทางเลือกได้ว่าจะรับยาที่โรงพยาบาล หรือร้านยาใกล้บ้าน

       นายอนุทิน กล่าวต่อว่า เป้าหมายเบื้องต้นที่ตั้งไว้คือมีโรงพยาบาลเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ 50 แห่ง ร้านยา 500 ร้าน โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่สมัครเข้าร่วมอย่างเป็นทางการแล้ว 48 แห่ง และร้านยาประมาณ 410 แห่ง

Advertisement

       “โครงการมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 2 ประเด็น 1. ลดความแออัดของโรงพยาบาลซึ่งมีผู้ป่วยมารับยาจำนวนมาก 2.การสร้างทางเลือกให้กับประชาชนในการที่จะสามารถเลือกได้ว่ารับยาที่โรงพยาบาลหรือที่ร้านยา ส่วนเรื่องการเตรียมความพร้อมในวันที่ 1 ต.ค. 2562 เรามั่นใจ 100% แต่ถึงเวลาปฏิบัติก็ต้องมาดูว่ามีประเด็นไหนที่ต้องปรับปรุง เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นระบบใหม่ ดังนั้นในช่วงแรกเราจึงเลือกเฉพาะผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง 30 บาทในกลุ่ม 4 โรคเรื้อรังในการรับยาร้านยาตามโครงการฯนี้ก่อน เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมการรับยาของประชาชน และมีการศึกษาวิจัยประเมินผลควบคู่ไปในตัวเพื่อดูว่าจะต้องไปปรับปรุงในเรื่องใด ระบบบริหารจัดการเป็นอย่างไร ระบบบริการอย่างไร” นายอนุทิน กล่าว

       ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ขณะนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความพร้อมร้านยานำร่องในโครงการรับยาใกล้บ้าน ณ ร้านกนก ฟาร์มา เชน ย่านทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ ว่าขณะนี้การเชื่อมต่อข้อมูลในทุกพื้นที่มีความพร้อมสำหรับรับยาผ่านร้านขายยาเต็มระบบ เราคาดว่าปีแรกจะมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการราว 3 ล้านคน โดยหลังจากเริ่มต้นโครงการจะมีการประเมินผลหลังการทำงานไปแล้ว 1 สัปดาห์ ว่าต้องมีการปรับปรุงการทำงานหรือไม่ จากนั้นจึงวางแผนการขยายพื้นที่ให้บริการต่อไป

Advertisement

       ทพ.อรรถพร ระบุว่า สำหรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการนั้นทางสปสช.จะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลคัดกรองผู้ป่วยในกลุ่มที่แพทย์ประเมินแล้วว่ามีอาการคงตัว เช่น สามารถควบคุมความดันได้ ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ หรือถ้าเป็นโรคจิตเวชก็ต้องเป็นกลุ่มที่มีการทานยาอย่างสม่ำเสมอ มีอารมณ์ปกติ

       ส่วนการรับยาจะเป็นไปตามความสมัครใจ สามารถรับได้ทั้งที่โรงพยาบาล หรือที่ร้านยาใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานก็ได้ แต่ต้องเป็นร้านยาในเขตพื้นที่บริการเดียวกันกับโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา ผู้ป่วยจะได้รับยาชนิดเดียวกับที่ได้รับจากโรงพยาบาลเดิมโดยไม่ต้องต้องเสียค่าบริการใดๆ เพิ่มเติม

       ทั้งนี้ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นร้าน (ข.ย.1) ที่ได้มาตรฐาน GPP ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีเภสัชกรปฏิบัติงานตลอดไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง

       ด้าน ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) เจ้าของร้านยา กนก ฟาร์มา เชน แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “จุดเปลี่ยนครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ สปสช. จะทำงานเชื่อมกับร้านยาคุณภาพในชุมชน ซึ่งจะช่วยติดตามผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด สามารถติดตามการใช้ยาอย่างเหมาะสม และยกระดับการดูแลผู้ป่วยให้มีความรวดเร็วและมีคุณภาพมากขึ้น ตลอดจนช่วยในเรื่องการบริหารจัดการการจ่ายยาทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเก็บยาไว้ที่บ้านจำนวนมาก”

       ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจรับยาใกล้บ้านสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ www.nhso.go.th หรือตามลิงค์ https://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-contentdetail.aspx?CatID=MTI4OA==

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image