ห่างกาย ไม่ห่างใจ เคล็ดลับ (สุขภาพ) ใจดี

ผศ.ดร.พวงเพชร เกษรสมุทร

ห่างกาย ไม่ห่างใจ เคล็ดลับ (สุขภาพ) ใจดี

อาจจะกลายเป็นคำที่หลายคนชินหูกันไปแล้วกับหนึ่งในมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่าง “การเว้นระยะห่างทางสังคม” (Social Distancing) ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้มีการแถลงข่าวให้ใช้คำว่า “การเว้นระยะห่างทางกายภาพ” (Physical Distancing) แทน เนื่องจากคำว่า “การเว้นระยะห่างระหว่างสังคม” อาจมี “ผลลบ” ต่อสุขภาพจิต

เรื่องนี้ ผศ.ดร.พวงเพชร เกษรสมุทร หัวหน้าภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จริงๆ แล้วการรักษาระยะห่างทางสังคม แม้จะมีผลดีต่อสุขภาพกาย เพราะช่วยหยุดการแพร่ระบาด แต่ก็อาจจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต เพราะการอยู่กับสังคมเป็นสิ่งที่ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจได้

“ฉะนั้นในภาวะวิกฤตโควิดนี้ เราต้องมีการเว้นระยะห่างทางกายภาพ Physical Distancing แต่เราจะไม่ให้เกิด Psychological Distancing หมายความว่า แม้เราจะต้องห่างกันทางกาย แต่จิตใจของเรายังอยู่ใกล้กันได้ตลอดเวลา ยังสามารถสื่อสารกับครอบครัว เพื่อน และคนที่เรารักได้ตลอดเวลา ถ้าเข้าใจแบบนี้ เราจะไม่ถูกแยก หรือตัดขาดออกจากสังคมของกันและกันอย่างสิ้นเชิง” ผศ.ดร.พวงเพชรกล่าวและแนะนำว่า

อยากให้มองภาวะวิกฤตโควิด-19 เป็นวิกฤตที่ผ่านเข้ามา อยู่กับเราระยะหนึ่ง จากนั้นก็จะค่อยๆ ผ่านไป ตามหลักความเป็นจริงที่ว่า

Advertisement

“สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป”

หากในช่วงนี้จะมีความเครียดหรือวิตกกังวลบ้างถือเป็นเรื่องปกติ การฝึกหายใจคลายเครียดและฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบัน จะช่วยคลายความเครียดและวิตกกังวลได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลมาก ต้องลดการเสพข่าว หรือจำกัดเวลาสำหรับความเครียดและวิตกกังวล โดยจัดเวลาช่วงใดช่วงหนึ่ง วันละครึ่งชั่วโมง หากเราจะเครียด/คิดมาก ก็ให้เครียด/คิดมากในช่วงเวลาที่จัดไว้ หากไม่ใช่ช่วงเวลาดังกล่าว เราจะไม่เครียด ไม่กังวล ไม่คิดมาก รวมไปถึงหางานอดิเรกที่ชอบทำ เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง

เพื่อที่ได้ไม่เครียดตลอดเวลา

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image