แพทย์เตือน ‘เจาะหู’ ใช่ไม่เสี่ยง ระวังเป็น ‘คีลอยด์’ ถึงขั้นใบหูผิดรูปได้

แพทย์เตือน ‘เจาะหู’ ใช่ไม่เสี่ยง เสี่ยงเป็น ‘คีลอยด์’ ถึงขั้นใบหูผิดรูปได้

เจาะหู เรียกว่าเป็นหนึ่งสิ่งที่ทั้งชายและหญิง ใช้เสริมแต่งภาพลักษณ์ให้ดูสวยงาม โดดเด่นและสร้างความมั่นใจ แต่การเจาะหูนั้น เรียกว่าเป็นกระบวนการสร้างบาดแผลให้กับใบหู ที่หากดูแลไม่ดี อาจนำไปสู่ “โรคคีลอยด์ใบหู” ที่ไม่เพียงทำให้ใบหูดูไม่สวยงามเท่านั้น แต่อาจร้ายแรงถึงขั้นใบหูผิดรูปร่างเลยทีเดียว

จากข้อมูลของ โรงพญาไท อธิบายว่า คีลอยด์ คือแผลชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะนูนและสามารถขยายใหญ่ได้ เกิดจากความผิดปกติของแผลนูน แตกต่างจากแผลปกติที่นูนมากกว่าและขยายใหญ่ขึ้นได้เกินกว่าขอบเขตของแผลเริ่มต้น เช่น แผลมีดบาด 1 เซนติเมตร หากเป็นคีลอยด์ จะนูนใหญ่ขึ้นเกินกว่า 1 เซนติเมตร หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา จะยิ่งขยายตัวใหญ่ขึ้น โดยทั่วไปคีลอยด์เกิดได้ทุกที่ของร่างกายที่มีแผล ส่วนมากพบในบริเวณหน้าอก ไหล่ หลังด้านบน ตลอดจนใบหูและอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวบ่อยๆ เช่น ข้อพับต่างๆ

โดย คีลอยด์ เป็นภาวะความผิดปกติของแผลเป็นที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีโอกาสเป็นได้เหมือนกันหมด คีลอยด์ยังมักพบเจอในวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่หรือวัยชราอีกด้วย เนื่องจากร่างกายของวัยรุ่นกำลังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ทำให้หากไปเจาะหู, ระเบิดหู หรือทำให้ร่างกายมีบาดแผล แล้วดูแลไม่ดี ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นคีลอยด์ใบหู และคีลอยด์ตามแผลเป็นต่างๆ ได้ง่าย นอกจากนั้นแล้วสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ก็ควรระมัดระวังการเกิดแผลเป็นด้วย เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ แถมคีลอยด์ยังเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ด้วย ซึ่งหากปล่อยไว้นาน คีลอยด์สามารถขยายใหญ่ขึ้นได้เรื่อยๆ แบบไม่มีขอบเขต และยังทำให้เกิดอาการคัน หากเกาจนเป็นแผล จะทำให้ติดเชื้อเป็นอันตรายได้ อย่างไรก็ตามไม่ส่งผลกระทบต่อการได้ยิน

หากเป็น คีลอยด์ ที่ใบหูแล้ว มีวิธีรักษาดังนี้

Advertisement

คีลอยด์มีขนาดเล็กกว่า 1 ซม.
จะใช้การรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อทำให้คีลอยด์ยุบตัวลง ซึ่งแพทย์จะทำการนัดมาฉีดยารักษาทุกเดือนจนกว่าแผลจะยุบ

คีลอยด์มีขนาดใหญ่กว่า 1 ซม.
จะรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาสเตียรอยด์ โดนส่วนใหญ่แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้การผ่าตัดรักษาเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้มีโอกาสเป็นซ้ำได้สูง เนื่องจากการผ่าตัดก็คือหนึ่งในการสร้างบาดแผลใหม่ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดคีลอยด์ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดยาสเตียรอยด์ร่วมด้วยเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแผล

โดยส่วนมากจะฉีดหลังจากผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว บางรายแพทย์จะใช้การผ่าตัดร่วมกับการฉายแสง เพราะการฉายแสงจะมีลักษณะคล้ายกับการใช้ยาเคมีบำบัด คือมีส่วนในการช่วยยับยั้งการสร้างตัวของเซลล์ ทำให้มีโอกาสเกิดคีลอยด์ซ้ำได้น้อยกว่า

Advertisement

แล้วจะป้องกันตัวจากคีลอยด์ใบหูได้อย่างไร เรื่องนี้ แพทย์แนะนะว่า หลักๆคือต้อง พยายามหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดแผลบริเวณใบหู โดยเฉพาะในคนที่มีความเสี่ยงเป็นคีลอยด์มากกว่าคนทั่วไปนั้น หากทำได้ก็ควรหลีกเลี่ยงการเจาะหูไปเลย สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่า มีโอกาสเป็นคีลอยด์ได้หรือไม่นั้น ให้สังเกตง่ายๆ จาก “รอยการฉีดวัคซีนที่บริเวณหัวไหล่” หากพบว่ามีแผลนูน ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นคีลอยด์ได้ง่าย หรืออาจสังเกตจาก “รอยแผลบริเวณหน้าอก หรือสิวบริเวณหน้าอก” ที่หากพบว่ามีการเปลี่ยนเป็นแผลนูนมากขึ้น ก็แสดงว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นคีลอยด์ได้ง่าย ซึ่งหากพบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นคีลอยด์ ก็จะต้องระมัดระวังการผ่าตัด การเจาะหู ตลอดจนดูแลบาดแผลตัวเองให้ดี ทำความสะอาดอย่างดี และไม่ควรแกะเกาจนแผลลุกลามติดเชื้อ ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดคีลอยด์ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image