ร้อนปรี๊ด! แพทย์ชวนรู้จักภาวะ ‘ฮีทสโตรก’ วัยไหนก็เสี่ยงได้ รู้วิธีรับมือก่อนสาย

ร้อน

ร้อนปรี๊ด! แพทย์ชวนรู้จักภาวะ ‘ฮีทสโตรก’ วัยไหนก็เสี่ยงได้ รู้วิธีรับมือก่อนสาย

แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนมาสักระยะแล้ว แต่สภาพอากาศก็ยังร้อนจนหลายคนบอกตรงกันว่า ทำไมช่วงนี้ร้อนกว่าช่วงเดือนที่ผ่านมาอีก

เป็นสิ่งต้องใส่ใจ เพราะหากต้องอยู่ในสถานที่ร้อนเป็นเวลานาน เสี่ยงประสบ “โรคลมแดด” หรือ “ภาวะฉุกเฉินจากความร้อน” (Heatstroke) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที่ อาจเกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่นสมอง หัวใจ ปอด ไต และกล้ามเนื้อได้

พญ.ดวงพร รุธิรโก อายุรแพทย์ รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า โรคลมแดด หรือ ภาวะฉุกเฉินจากความร้อน เกิดได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ 1.เกิดจากการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงแล้ว ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงตาม มักพบในคนที่อยู่ในบริเวณที่อากาศร้อน และชื้นเป็นเวลานาน 2.ในกรณีนี้อุณหภูมิร่างกายมักสูงขึ้นจากการทำงาน หรือออกกำลังกายอย่างหนัก ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงเกิดได้ง่ายขึ้นในคนที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยที่ทำให้เกิดภาวะฮีทสโตรกได้ง่าย เช่น อายุที่น้อยหรือมากเกินไป มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย การใช้ยาบางกลุ่มที่ทำให้สูญเสียสารน้ำ หรือร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออุณหภูมิร่างกาย ที่สูงขึ้นได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นสาเหตุร่วมที่ทำให้กลไกการควบคุมอุณหภูมิร่างกายผิดปกติ ทำให้เกิดฮีทสโตรกได้เช่นกัน

Advertisement

โดยจะมีอาการเบื้องต้นคือ อุณหภูมิกาย 40 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า ร่วมกับภาวะความรู้สติเปลี่ยนแปลงอาจเกิดอาการสับสน กระวนกระวาย เพ้อ ชักหรือหมดสติได้ หัวใจเต้นเร็ว อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังแดง

ร้อน
พญ.ดวงพร รุธิรโก

นพ.ภวิศ เหลืองเวชการ แพทย์ด้านเวชบำบัดวิกฤตระบบประสาท รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล แนะวิธีรับมือฮีทสโตรกเบื้องต้นว่า ทำได้โดยการลดอุณหภูมิร่างกาย

1.พาผู้ป่วยเข้าพักในที่ร่มหรือในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศและมีอุณหภูมิที่เย็นลง

Advertisement

2.ถอดเสื้อผ้าและคลายเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นจนเกินไปออกเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัว

3.อาจเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น หรือใช้ถุงน้ำแข็งวางบริเวณศีรษะ ลำคอ รักแร้และขาหนีบ หรืออาจใช้สเปรย์น้ำเย็นพ่น

และ 4.ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เนื่องจากเครื่องดื่มประเภทนี้จะทำให้ความสามารถในการปรับอุณหภูมิของร่างกายสูญเสียไป รวมถึงการดื่มน้ำเย็นๆ ในทันทีจะทำให้เกิดการหดเกร็งของกระเพาะอาหารได้

ทั้งนี้ ภาวะฮีทสโตรกป้องกันได้ด้วยการใส่เสื้อผ้าระบายลมได้ดี ป้องกันตัวเองจากแสงแดดโดยสวมใส่แว่นกันแดด หรือหมวก รวมถึงใช้ครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 15 ขึ้นไป ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักในที่อาการร้อนและถ่ายเทไม่สะดวก

นพ.ภวิศ เหลืองเวชการ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image