หมูแพง ไข่ขึ้นราคา ชวนเปิดตำรา ‘กินปลา’ ย่อยง่าย มีประโยชน์

(แฟ้มภาพ)

หมูแพง ไข่ขึ้นราคา ชวนเปิดตำรา ‘กินปลา’ ย่อยง่าย มีประโยชน์

หนึ่งในปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนในช่วงนี้ เห็นทีจะหนีไม่พ้น “หมูแพง” ที่เรียกว่าราคาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย ไม่เพียงกระทบต่อผู้บริโภคเท่านั้น แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูก็ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

เมื่อหมูแพง ผู้บริโภคก็กะจะหันไปซบ “เนื้อไก่” “กินไข่” กันให้มากขึ้น ทว่า ราคาไข่และไก่ก็พุ่งขึ้นเช่นเดียวกัน

จึงชวนมาเปิดอีกหนึ่งทางเลือกกับการ “กินปลา” ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทยมาแต่ช้านาน
กินปลา มีประโยชน์อย่างไร และกินอย่างไรถึงจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีคำตอบ

เริ่มด้วย “ประโยชน์ของการกินปลา” ที่เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อ้างอิงถึง ราชวิทยาลัยอายุรเเพทย์เเห่งประเทศไทย เครือข่ายคนไทยไร้พุง ได้เผยแพร่ข้อมูลไว้ว่า มีหลักฐานทางวิชาการทั่วโลกมากมาย สนับสนุนให้เห็นว่า การกินปลานั้นมีประโยชน์ ดังนี้

Advertisement

1.กินปลาลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง
ด้วยมนุษย์นั้นมีวัฒนธรรมกินปลา (เป็นตัว) ในมื้ออาหารมาตั้งแต่โบราณ ประชากรที่กินปลามาก ลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยทุกๆ 1 หน่วยบริโภคต่อสัปดาห์ที่กินปลาเพิ่มขึ้น ลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจประมาณร้อยละ 4 สมาคมแพทย์หัวใจแห่งอเมริกาแนะนำให้ประชาชนทั่วไป (ที่ไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ) กินปลาหลายๆ ชนิด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 มื้อ

2.การกินปลาลดโอกาสหัวใจล้มเหลว
การศึกษาที่ผ่านมายังบอกไม่ได้ชัดเจนว่า การกินปลาหรืออาหารที่มีโอเมก้า 3 (ไขมันปลา สาหร่าย อาหารทะเล) จะช่วยลดโอกาสเป็นหัวใจล้มเหลวหรือไม่ แต่จากการรวบรวมการศึกษาแบบ systematic review จากฐานข้อมูลทางการแพทย์จนถึงเดือนสิงหาคม 2554 ได้การศึกษาคุณภาพดี 7 การศึกษา โดยพบว่า กลุ่มประชากรที่กินปลามากที่สุด (เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินน้อย หรือไม่ได้กินเลย) ลดโอกาสเกิดหัวใจล้มเหลวร้อยละ 15 หลังจากปรับปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องแล้ว

3.การกินปลาช่วยลดโอกาสเป็นอัมพาตในผู้หญิง
การศึกษาไปข้างหน้าในประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่า ผู้หญิงที่กินปลาโดยเฉลี่ยมากกว่า 188 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบกับกินน้อยกว่า 57 มิลลิกรัมต่อวัน ลดโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ร้อยละ 51 หลังจากปรับค่าปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่พบความสัมพันธ์นี้ในผู้ชาย

Advertisement

4.การกินปลาลดโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
จากการศึกษาแบบ systematic review ในฐานข้อมูลทางการแพทย์จนถึงเดือน พฤษภาคม 2554 ได้การศึกษาไปข้างหน้า และการศึกษาแบบกลุ่มหรือเปรียบเทียบ เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการกินปลากับโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก พบว่า กลุ่มประชากรที่กินปลามากที่สุด (เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินปลาน้อยที่สุด หรือไม่ได้กิน) ลดโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักลง ร้อยละ 17

นอกจากนี้ ยังพบว่า การกินปลาป้องกันมะเร็งทวารหนัก ได้มากกว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม การกินปลาไม่ช่วยลดโอกาสเสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ลดโอกาสเป็นมะเร็ง “รายใหม่” ลงร้อยละ 14 ดังนั้น การกินปลา (เป็นตัว) น่าจะช่วยลดโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

 

ขณะเดียวกัน เชื่อว่าหลายคนอาจจะมีคำถามว่า แล้วต้องกินปลาเท่าไหร่ อย่างไร ถึงจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
ในบทความ “กินปลาเพื่อสุขภาพ” โดย รศ.พญ.ปรียานุช แย้มวงษ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ตอบคำถามไว้ว่า

สารอาหารในปลา หลักๆจะเป็นโปรตีน ซึ่งในเนื้อปลาจะเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ไขมันจะมีอยู่บ้าง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของปลา และโดยปกติร่างกายของคนเราจะต้องการโปรตีนแตกต่างกันไปแล้วแต่ช่วงวัย เช่น วัยเด็กจะต้องการโปรตีนสูง 1.2-1.5 ต่อน้ำหนักต่อ 1 กิโลกรัม ในผู้ใหญ่ 0.8-1 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งในแต่ละวันก็ควรบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย

ที่สำคัญ ควรกินปลาที่ปรุงสุกแล้ว เปลี่ยนประเภทของปลาไปเรื่อยๆ เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อน และบริโภคปลาร่วมกับอาหารอื่นๆ ให้ครบทุกชนิด คือ อาหารหลัก 5 หมู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image