สำรวจตัวเอง ‘เลือดออกง่าย ไหลไม่หยุด’ หรือเปล่า รู้เร็ว ปรับตัวได้ ก็อายุยืนยาว

สำรวจตัวเอง ‘เลือดออกง่าย ไหลไม่หยุด’ หรือเปล่า รู้เร็ว ปรับตัวได้ ก็อายุยืนยาว

เวลาประสบอุบัติเหตุแล้วมีเลือดออก ก็รีบล้างแผลปิดแผลอย่างดี แต่เอ๊ะ! ทำไมเลือดเรายังไหลไม่หยุด ภาวะนี้เราอาจกำลังเป็นโรคเลือดออกง่ายหยุดยาก หรือเรียกว่า ‘ฮีโมฟีเลีย’

ศ.นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์ นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา “แนวทางการรักษาแบบป้องกันสำหรับผู้ป่วยโรคเลือดออกง่าย (Hemophilia)”  จัดโดย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย ว่า โรคฮีโมฟีเลีย เป็นโรคเลือดออกง่าย ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์เท่านั้น

โดยลักษณะการจะหยุดเลือดของร่างกายมนุษย์ทั่วไป จะมีแฟคเตอร์การแข็งตัวของเลือดตั้งแต่ 1-13 หากขาดแฟคเตอร์ใดแฟคเตอร์หนึ่งไป จะทำให้มีเลือดออก โดยในโรคฮีโมฟีเลียจะขาดแฟคเตอร์ที่ 8 หรือ 9 ทำให้มีเลือดออกง่าย และด้วยเลือดไม่สามารถหยุดได้ ทำให้อาจมีรอยฟกช้ำตามร่างกาย มีเลือดออกในข้อและกล้ามเนื้อ หากเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจทำให้ข้อเสื่อมได้

ศ. นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์

“โดยทั่วไปภาวะข้อเสื่อมจะพบในผู้ป่วยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ในผู้ป่วยฮีโมฟีเลียที่มีเลือดออกบ่อยๆ บางทีอายุ 20 -30 ปี ข้อก็เสื่อมแล้ว บางคนอาจต้องใช้ไม้เท้า รถเข็น และผ่าตัดเปลี่ยนข้อ บางคนมีเลือดออกตามอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ก็อาจเสียชีวิตได้ ส่วนกรณีไปผ่าตัดเล็กน้อย เช่น ถอนฟัน บางทีเลือดออกไม่หยุด ก็เป็นอันตรายได้มากเช่นกัน”

Advertisement

ส่วนจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้นั้น ศ.นพ.พลภัทร กล่าวว่า มาจากการตรวจเลือด และดูว่ามีประวัติเลือดออกง่ายหยุดยาก หรือคนในครอบครัวที่เป็นโรคนี้หรือไม่ โดยมากโรคนี้เกิดขึ้นในเพศชาย หากมีประวัติคนในครอบครัว โดยเฉพาะน้าชายเป็นโรคนี้ ก็จะชี้บ่งว่าคุณก็อาจเป็นโรคนี้

“ร้อยละ 99 ผู้เป็นโรคนี้ เป็นเพศชาย จากการมีเอ็กซ์โครโมโซมอันเดียว หากเสียไปก็ไม่มีเลย ส่วนผู้หญิงมีเอ็กซ์โครโมโซม 2 อัน แต่ยังไงก็ตามไม่ว่าเพศชายหรือหญิง ก็สามารถเป็นพาหะ ถ่ายทอดโรคนี้ให้ลูกหลานได้”

แต่ฮีโมฟีเลียก็ไม่ได้รุนแรงทุกเคส อย่างในคนปกติมีค่าแฟคเตอร์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากค่าแฟคเตอร์ต่ำตั้งแต่ 5-40 ก็เริ่มเป็นฮีโมฟีเลีย แต่เป็นชนิดไม่รุนแรงคือ ไม่มีเลือดออกเอง แต่หากไปถอนฟัน ไปล้มเพียงเล็กน้อย ก็อาจมีเลือดออกรุนแรงได้ แต่กรณีแฟคเตอร์ต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีเลือดออกเองได้บ่อย อาจหลายครั้งต่อเดือน นำไปสู่อาการข้อเสื่อม และเลือดออกในอวัยวะสำคัญ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยฮีโมฟีเลียในประเทศไทยที่มาลงทะเบียนไว้ 1,828 ราย อาจน้อยกว่าอุบัติการณ์ของโรคฮีโมฟีเลียทั่วโลก ที่พบผู้ป่วย 1 คน ต่อประชากร 5,000 คน ที่ไทยควรจะมีผู้ป่วยนี้เป็นหมื่นคน

ปัจจุบันมีการรักษาฮีโมฟีเลียแบบป้องกันคือ ไม่รอให้ผู้ป่วยมีอาการเลือดออกก่อน แต่ฉีดสารแฟคเตอร์เข้าร่างกายทางหลอดเลือดดำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อเพิ่มค่าแฟคเตอร์ให้สูงขึ้น ในระดับที่เลือดไม่สามารถออกเองได้

ซึ่ง รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล หัวหน้าสาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การรักษาแบบนี้เกิดประโยชน์มาก โดยเฉพาะในเด็กที่จะไม่ต้องขาดเรียน สามารถมีชีวิต เล่นกีฬา เตะบอลกับเพื่อนๆ ได้ แต่ก็แลกมากับค่าใช้จ่ายสูง

รศ. พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล

และวิธีการที่ยาก แต่ขณะนี้ก็มีวิธีรักษาใหม่ๆ เข้ามาอีกคือ การฉีดนอนแฟคเตอร์เข้าใต้ผิวหนังเลือดก็แข็งตัวได้ ที่ฉีดง่าย ผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้าน ฉีดเพียงเดือนละครั้ง ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีมาก รวมถึงการรักษาด้วยยีนส์บำบัด ที่จะทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคนี้

ซึ่งในต่างประเทศรักษาประสบผลสำเร็จแล้ว ด้วยการแต่งยีนส์ที่ผิดปกติให้ปกติได้ ก็คาดว่าภายใน 10 ปีจากนี้ จะสามารถนำวิธีนี้มาช่วยรักษาผู้ป่วยคนไทยได้

ชีวิตต้องดีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image