นักกายภาพบำบัด แนะยืดเส้นยืดสาย ท่าออกกำลังกาย ฟื้นฟู ‘ลองโควิด’

นักกายภาพบำบัด แนะยืดเส้นยืดสาย ท่าออกกำลังกาย ฟื้นฟู ‘ลองโควิด’

โควิด-19 ระบาดเข้าถึงครัวเรือนมากขึ้น ทั้งตัวเองหรืออย่างน้อยๆ คนรอบตัว ได้ติดโควิด-19 กันไปบ้างแล้ว ติดครบ 10-14 วันแล้ว แต่เอ๊ะ ทำไมอาการยังมีอยู่ ยังคงไอ หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย

เหล่านี้เรียกว่า อาการลองโควิด (Long Covid) ซึ่งทำความรู้จักและปฏิบัติตามคำแนะนำจากนักายภาพบำบัดได้ ในการเสวนา “ออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟู ลองโควิด” โดย 3 นักกายภาพบำบัด จากฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในงาน Sustainability Expo 2022 (SX 2022) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

จุฑามาส ฉลวยศรีเมือง, นันทวรรณ ธรรมาภรณ์พัฒนา และฐิตาภา อิสรไกรศีล นักกายภาพบำบัด แนะนำร่วมกันว่า อาการลองโควิด คือ อาการที่หาสาเหตุไม่ได้ เกิดขึ้นภายหลังติดเชื้อโควิดอย่างน้อย 3 เดือน หรือมีอาการต่อเนื่อง 2 เดือน หรือนานกว่านั้นก็ได้

สามารถเช็กลิสต์อาการลองโควิด ดังนี้ เหนื่อยอ่อนเพลีย เหนื่อยหายใจลำบาก รู้สึกง่วงตลอดแม้นอนพักผ่อนเพียงพอ ความจำสั้นลง สมาธิสั้นลง

Advertisement

“อาการลองโควิด กระทบระบบร่างกายหลายระบบ ไม่ว่าปอด หัวใจ ส่วนมากยังไม่มีการรักษาที่ชัดเจน หากมีอาการรักษาตามอาการ เช่น ไอบ่อยก็ทานยาแก้ไข อมยาแก้ไอ เพื่อบรรเทาอาการ หากอาการไม่ดีขึ้น ไปพบแพทย์จะดีที่สุด”

ส่วนทำไมยังมีอาการอยู่ นักกายภาพบำบัดเผยว่า สันนิษฐานว่าเมื่อติดเชื้อไปแล้ว อวัยวะร่างกายเสื่อมสภาพ ทำงานผิดปกติ อย่างกระทบที่ปอด ทำให้ปอดมีปัญหา ทำให้หายใจผิดปกติ หรือการมีภูมิคุ้มกันในตัวเองมากเกินไป อาจทำลายตัวเอง หรือทำงานแปลกๆ ได้ ตลอดจนซากเชื้อโควิดที่ยังคงมีอยู่ อาจทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันตอบสนองกับซากเชื้อเหล่านี้ ทำให้ร่างกายผิดปกติได้ เพื่อสร้างปฏิกิริยาต่อต้าน

“อาการโควิด 10-14 วัน จะหายไป แต่ถ้าใครเป็นครบ 14 วันแล้วยังมีอาการอยู่ คาดเดาเลยว่านี่คือผลจากอาการลองโควิด และช่วงนี้มีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้เลือดออก อาร์เอสวี ไข้หวัดใหญ่มาร่วมด้วย ก็ต้องแยกแยะให้ดี”

Advertisement

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เผยผลเก็บข้อมูลคนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ติดโควิด เพื่อหาภาวะลองโควิด พบว่า ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นลองโควิดมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะเพศชายมากกว่าเพศหญิง รวมถึงคนมีโรคประจำตัวเยอะๆ คนที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ก็มีโอกาสเป็นลองโควิดมากกว่าเช่นกัน

นักกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วยโควิดทำการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทำได้ตั้งแต่ช่วงที่ยังติดเชื้ออยู่ เริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารให้เพียงพอ และครบ 5 หมู่ เพราะช่วงที่เป็นโรคร่างกายต้องการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แนะนำรับประทานอาหารที่มีโปรตีน ซึ่งได้มาจากเนื้อสัตว์ย่อยง่ายไม่ติดมัน นม ไข่ รับประทานให้เพียงพอ
ขั้นต่อไปคือการออกกำลังกาย เริ่มจากง่ายๆ คือการฝึกหายใจ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการฟื้นฟูผู้ป่วยสูงวัย ผู้ป่วยหลังผ่าตัด และผู้ป่วยติดเตียง

แนะนำ 2 ท่า คือ 1.วางมือไว้ที่ทรวงอกบริเวณใต้ลิ้นปี่ และบริเวณท้อง หายใจเข้าลึกๆ ให้มือขยับ ตรงนี้ปอดจะแฟบ แล้วหายใจออก

ท่า 2.วางมือไว้ที่ซี่โครงสองข้างลำตัว หายใจเข้าให้ซี่โครงขยาย หายใจออกให้แฟบ แนะนำทำ 2 ท่านี้ 5-10 ครั้งต่อเซต รวมวันละ 100 ครั้ง

“การหายใจเต็มที่ อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเวียนหัวได้ เพราะได้รับออกซิเจนที่เข้มข้น”

ขั้นตอนต่อไปคือการขยับเนื้อขยับตัว เริ่มจากการขยับตัวที่ไม่ทำให้เหนื่อย เช่น ยืดแขน ยืดขาสลับข้างไปมา โน้มตัวเอาปลายนิ้วแตะปลายนิ้วเท้า ซึ่งสามารถทำได้ในช่วง 7 วันแรกที่ติดเชื้อ ทำแล้วต้องไม่รู้สึกเหนื่อย
ขั้นตอนต่อมาจะเป็นระดับที่เหนื่อยไม่มาก มีตั้งแต่ยกดัมเบลหรือยกขวดน้ำขึ้นลงไปมา วิดกำแพง กางแขนขึ้นลงไปมา ลุกขึ้นยืนจากเก้าอี้โดยไม่ใช้แขนพยัง นั่งแล้วสลับยกเท้าขึ้นมา พิงกำแพงแล้วย่อตัวลงขึ้นช้าๆ ยืนเขย่งเท้า ทำสัก 5-10 ครั้งต่อเซต ทำได้วันละหลายๆ รอบ ซึ่งต้องเหนื่อยไม่มาก

ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยขึ้น ตั้งแต่เดินเร็วขึ้น แอโรบิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image