รู้จัก ‘รังสียูวี’ ตัวการทำร้ายผิว เทคนิคทาครีมกันแดด SPF เท่าไหร่ช่วยผิวไม่ไหม้

รู้จัก ‘รังสียูวี’ ตัวการทำร้ายผิว เทคนิคทาครีมกันแดด SPF เท่าไหร่ช่วยผิวไม่ไหม้

ช่วงซัมเมอร์นี้เชื่อว่าหลายๆ คนคงวางแผนออกเดินท่องเที่ยวเพื่อหาสถานที่พักผ่อน และสนุกไปกับกิจกรรมกลางแจ้งอย่างเต็มที่ แต่ก็อาจหมดสนุกได้ เพราะต้องคอยกังวลกับปัญหาผิวคล้ำเสียจากแสงแดด กระ ฝ้า ริ้วรอย รวมถึงผิวแก่ก่อนวัย (Photo aging)

‘ธัญ’ (THANN) แบรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพผิวและเส้นผมร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและความงามแพทย์หญิงสุธาสินี ตันสุริยวงษ์ แนะ “เคล็ดลับดูแลผิวช่วงหน้าร้อน พร้อมเทคนิคการทาครีมกันแดด” ว่า การได้รับแสงแดดในช่วงเวลาและปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรง แต่หากผิวหนังไม่ได้รับแสงแดดเลย หรือโดนแดดน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดอาการกระดูกเปราะบางลงและเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนได้ ดังนั้นแสงแดดจึงมีทั้งประโยชน์และโทษต่อร่างกาย

แพทย์หญิงสุธาสินี ตันสุริยวงษ์ (ขวา)

แสงแดดประกอบด้วยรังสีต่างๆ หลายชนิด ได้แก่ รังสีอินฟราเรด (Infrared light) แสงที่มองเห็นได้ (Visible light) และรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet light; UV) ซึ่งเป็นรังสีที่เป็นตัวการทำร้ายผิวของเรา สามารถแบ่งตามช่วงความยาวคลื่นได้ 4 ช่วง คือ

Advertisement
  • -UVA1 ความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 340-400 นาโนเมตร (75% ของรังสียูวีในแสงแดด) และทำร้ายผิวได้ลึกที่สุด ทำให้เกิดผิวคล้ำในระยะ Immediate tan ผิวจะคล้ำทันทีตั้งแต่ถูกแสงแดดจนถึง 8 ชั่วโมงจึงจะเริ่มจาง
  • -UVA2 ความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 320-340 นาโนเมตร (20% ของรังสียูวีในแสงแดด) ทำให้เกิดผิวคล้ำในระยะ Persistent tan ผิวจะคล้ำทันทีจนถึง 8-24 ชั่วโมงจึงจะเริ่มจาง และส่งผลต่อการเกิดริ้วรอยก่อนวัย
  • -UVB ความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 280-320 นาโนเมตร (5% ของรังสียูวีในแสงแดด) ทำให้เกิดผิวคล้ำในระยะ Delay tan โดยผิวจะคล้ำทันทีจนถึง 24-72 ชั่วโมงจึงจะเริ่มจาง ทำให้เกิดอาการผิวไหม้แดด เป็นสาเหตุหลักนำไปสู่โรคมะเร็งผิวหนัง
  • -UVC ความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 1-280 นาโนเมตร แสงในช่วงนี้โดยมากจะถูกดูดซับโดยก๊าซโอโซนในบรรยากาศ จึงไม่สามารถผ่านมายังพื้นผิวโลกได้

ยิ่งผิวสัมผัสกับแสงแดดนานเท่าไหร่ ย่อมส่งผลกระทบต่อผิวของเรา สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น ทำให้ผิวไหม้แดด เกิดอาการแดง แสบ ร้อนผิว เกิดอาการแพ้แสง (Photo allergic) ส่วนในระยะยาวจะทำให้ผิวแก่ก่อนวัย (Premature aging และ Photo aging) ผิวเกิดความเหี่ยวย่น เนื่องจากคอลลาเจนใต้ชั้นผิวถูกทำลาย รวมถึงการเกิดริ้วรอย กระ ฝ้า และอาจลุกลามเป็นโรคผิวหนังได้

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวแสงแดดหลากหลายชนิดเพื่อให้เลือกใช้ได้ถูกต้องตามประเภทผิว หรือเลือกใช้ให้ตรงตามประเภทกิจกรรม ซึ่งผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากแสงแดดสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

Advertisement
  • Physical Sunscreen สารกันแดดที่ทำหน้าที่เสมือนกระจกเงาสะท้อนหรือหักเหรังสียูวีออกไปจากผิว สามารถปกป้องผิวจากรังสี UVA1, UVA2 และ UVB ได้ สารในกลุ่มนี้มีอยู่สองตัวคือ Titanium Dioxide และ Zinc Oxide แต่อาจทำให้ผิวหน้าจะขาวเกินไป เกลี่ยยาก และไม่กันน้ำ จึงต้องทาซ้ำบ่อยๆ
  • Chemical Sunscreen สารกันแดดที่ทำหน้าที่ดูดซับรังสียูวีไม่ให้ทะลุผ่านลงไปยังชั้นผิวหนัง สามารถปกป้องผิวจากรังสี UVB ได้ทุกตัว แต่ความสามารถในการปกป้องผิวจากรังสี UVA1, UVA2 แตกต่างกันไป
  • Hybrid Sunscreen สารกันแดดแบบผสมที่มีคุณสมบัติทั้งสะท้อนและดูดซับรังสีในตัวเอง พัฒนามาเพื่อลดข้อด้อยของสารกันแดดทั้ง 2 แบบข้างต้น สามารถทาแล้วออกแดดได้ทันทีไม่ต้องรอ ปกป้องผิวจากรังสี UVA1,UVA2 และ UVB ได้ เนื้อเกลี่ยง่าย ไม่เหนียว ไม่ทำให้หน้าขาว

เราสามารถพิจารณาปัจจัยหลักในการปกป้องผิวจากรังสียูวีแต่ละประเภทได้จากค่า SPF (Sun Protection Factor) คือ ค่าที่บอกถึงประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากรังสี UVB เป็นค่าระยะเวลาที่ผิวสามารถทนต่อแสงแดดได้โดยที่ผิวเราไม่ไหม้ (Sunburn)

“คำนวณ” จากระยะเวลาที่ผิวทนต่อแสงแดดได้คูณกับค่าของ SPF ตัวอย่างเช่น คนเอเชียผิวขาวทั่วๆ ไปสามารถโดนแสงแดด 20 นาทีก่อนที่ผิวจะเริ่มอักเสบแสบแดง

การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF30 จะช่วยให้ผิวเราจะสามารถทนต่อแสงแดดได้นานขึ้นคิดเป็น 20 นาที x ค่า SPF30 = 600 นาที หรือ 10 ชั่วโมง

  • -ค่า SPF 15 สามารถป้องกันรังสี UVB ได้ 93.3% เหมาะสำหรับผู้ที่ทำกิจกรรมภายในอาคาร ตึก หรือบ้าน แต่ไม่มีการโดนแสงแดดเลย สำหรับผู้ที่มีผิวสองสี หรือผิวสีน้ำผึ้ง ค่า SPF ในระดับนี้ หากอยู่กลางแสงแดดนานเกินไปอาจก่อให้เกิดอาการผิวแดงเล็กน้อย
  • ค่า SPF 30 สามารถป้องกันรังสี UVB ได้ 96.7% เหมาะกับกิจกรรมกลางแจ้งที่มีเงาร่มและอากาศที่ไม่ร้อน
  • ค่า SPF 50 สามารถป้องกันรังสี UVB ได้ 98% เหมาะสำหรับกิจกรรมที่อยู่กลางแจ้ง หรือสถานที่แสงแดดแรงจัด เช่น ทะเล ภูเขา

ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ ค่า PA (Protection grade of UVA) บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการปกป้องรังสี UVA เป็นค่าที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเทศญี่ปุ่น (Japan Cosmetic Industry Association, JCIA) กำหนดขึ้นเพื่อแสดงถึงความสามารถในการป้องกันอาการดำคล้ำของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสี UVA โดยใช้เครื่องหมายบวก (+) ในการแสดงระดับของประสิทธิภาพ

ปัจจุบันค่า PA++++ ถือว่าเป็นค่าที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA ได้มากกว่า 16 เท่า

ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดทั่วไปๆ จะมีเพียงคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากแสงแดดอย่างเดียว ทำให้ต้องใช้ควบคู่กับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวชนิดอื่น แต่ในปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดได้มีบทบาทสำคัญในการดูแลผิวพรรณของเรามากขึ้น โดยนำคุณสมบัติในการบำรุงผิวที่ได้จากสารสกัดธรรมชาติมาใช้

วิธีเลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

เลือกให้เหมาะกับสภาพผิว โดยไม่ก่อให้เกิดการแพ้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีได้กว้างครอบคลุมทั้ง UVA และ UVB หากต้องทำกิจกรรม ให้เลือก SPF ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์อย่างวันไหนต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งมากๆ ก็ควรเลือกชนิดที่กันน้ำหรือกันเหงื่อได้

ควรทาในปริมาณที่พอเหมาะและเหมาะสม ประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ หรือปริมาณเท่าเหรียญสิบบาท และควรทาซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง หากเป็นครีมกันแดดชนิดที่ไม่กันน้ำ ควรทาซ้ำเมื่อเหงื่อออกมากหรือระหว่างทำกิจกรรม ควรทาให้ครอบคลุมพื้นที่บริเวณลำคอ ใบหู และบ่าด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image