เช็ก ‘โรคทางตา’ ที่มากับหน้าร้อน หมอแนะวิธีดูแลสุขภาพดวงตา

เช็ก ‘โรคทางตา’ ที่มากับหน้าร้อน หมอแนะวิธีดูแลสุขภาพดวงตา

อุณหภูมิอากาศในประเทศไทยยังคงร้อนถึงร้อนจัดในหลายพื้นที่ นอกจาก “โรคลมแดด หรือ Heat Stroke” ที่ทุกคนจะต้องพึงระวังแล้ว นายแพทย์นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์ จักษุแพทย์แห่ง “แว่นท็อปเจริญ” ได้เผยถึงปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มโรคทางตาที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูร้อน (Summer Eye Problems – SEP) ดังนี้

“อาการตาแห้ง” เป็นภาวะที่ปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวตา อากาศที่ร้อนจัดและแสงแดดจ้าอาจทำให้เกิดการระเหยน้ำตามากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพของฟิล์มน้ำตาลดลง นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้สายตากับมือถือและอุปกรณ์ดิจิทัลมากเกินไป ก็ส่งผลให้เกิดอาการตาแห้งได้เช่นกัน

“ภูมิแพ้ขึ้นตา” สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของอากาศ สารภูมิแพ้ ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ สามารถส่งผลให้เกิดอาการคันบริเวณดวงตาและตาแดงได้

Advertisement

“ภาวะกระจกตาอักเสบ” รังสี UV จากแสงแดดในช่วงกลางวัน อาจส่งผลทำให้กระจกตาดำอักเสบ (Photokeratitis) โดยจะมีอาการปวดหรือไม่สบายตา ซึ่งหากเกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว อาจพบต้อกระจกหรือจอตาเสื่อมได้

“อาการตาแดง” ในฤดูร้อนมักพบโรคตาแดงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือปริมาณเชื้อราที่เกิดขึ้นจากเหงื่อไคลที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้าหรือผ้าเช็ดหน้า ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย อาจมีอาการตาแดงมาก รวมถึงมีขี้ตาข้นเยอะ ทั้งนี้ ยังสามารถติดต่อระหว่างคนได้จากการสัมผัสสิ่งของร่วมกัน

“ตากุ้งยิง” อากาศร้อนส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตไขมันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กหรือผู้ใหญ่บางรายที่ต่อมไขมันเปลือกตาทำงานผิดปกติ (Meibomian Gland Dysfunction) หากขยี้ตาหรือเจอฝุ่นอาจทำให้ไขมันที่เปลือกตาอุดตันจนเปลือกตาอักเสบ หรือติดเชื้อเป็นตากุ้งยิง มีอาการเปลือกตาบวมแดงคล้ายตุ่มหนอง เจ็บบริเวณเปลือกตา

Advertisement
นายแพทย์นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์

นายแพทย์นพวุฒิ จักษุแพทย์ แห่ง “แว่นท็อปเจริญ” ยังได้ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพดวงตาเพิ่มเติมว่า

“ในช่วงฤดูร้อน ผู้ที่มีเหตุจำเป็นต้องออกไปเจอแสงแดดจ้า ควรสวมแว่นกันแดดที่มีคุณภาพเพื่อป้องกันดวงตาจากรังสี UV พยายามดูแลสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อยๆ ก็จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อจากสิ่งสัมผัสรอบตัว และหลีกเลี่ยงการจับหรือขยี้ตาหากมือสกปรก นอก จากนี้ ผู้ที่คลายร้อนด้วยกิจกรรมว่ายน้ำ ควรสวมใส่แว่นตาสำหรับว่ายน้ำ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกและสารคลอรีนทำร้ายกระจกตา

“สำคัญที่สุด ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักสายตาจากหน้าจอต่างๆ รวมทั้งหยอดน้ำตาเทียมบ่อยขึ้น เพื่อลดอาการตาล้า ตาแห้ง ทำให้ดวงตาชุ่มชื้นตลอดเวลา รวมถึงควรตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพดวงตาคู่สำคัญและการมองเห็นที่ชัดเจน” นายแพทย์นพวุฒิกล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image