ศิริราชเปิดโครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” มอบความรักแก่ผู้ด้อยโอกาสชาวเนปาลด้วย “ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม” 

นับเป็นอีกหนึ่งโครงการปันน้ำใจจากไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่ขาดแคลน สำหรับโครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” ศิริราช “มอบความรักให้แก่มนุษยชาติ Love for Humanity by Siriraj” พันธกิจผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ผู้ด้อยโอกาสชาวเนปาลให้พึ่งพาตัวเองได้ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อต่อยอดทางการรักษาอย่างยั่งยืน จากทีมแพทย์โรงพยาบาลศิริราชสู่ทีมแพทย์โรงพยาบาลสิทธัตถะ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

สำหรับโครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” ได้รับการสนับสนุนร่วมจัดตั้งผ้าป่าหารายได้เป็นค่าใช้จ่ายให้กับคณะแพทย์ เพื่อเดินทางไปตรวจรักษาผู้ป่วยยากไร้ชาวเนปาล โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อราย รายละกว่า 1 แสนบาท ใช้งบประมาณ 3-4 ล้านบาท จากพระราชภาวนาวชิรากร (หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก) เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย พระราชวชิรธรรมาจารย์ (หลวงพ่อสุธรรม สุธัมโม) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (หลวงพ่ออนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เจ้าคณะภาค 6, 7 ธรรมยุต ซึ่งเป็นชาวเนปาลที่ลุมพินี เชื้อสายกบิลพัสดุ์โดยกำเนิด เข้ามาช่วยเหลือประสานโครงการจนสำเร็จ โดยมี ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธานโครงการ

การแถลงข่าวโครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” ศิริราช “มอบความรักให้แก่มนุษยชาติ Love for Humanity by Siriraj”
การแถลงข่าวโครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” ศิริราช “มอบความรักให้แก่มนุษยชาติ Love for Humanity by Siriraj”

ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช กล่าวว่า โครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 6 ตุลาคมนี้ โดยทีมแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยศัลยแพทย์กระดูกและข้อ วิสัญญีแพทย์ พยาบาลปฏิบัติการ และนักกายภาพ บำบัด รวมกว่า 30 คน จะเดินทางไปช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส ที่โรงพยาบาลสิทธัตถะ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล  

นับเป็นโครงการของคนไทยที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อไปผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแก่ผู้ด้อยโอกาสชาวเนปาลจำนวน 35 คน จากการตรวจคัดกรองชาวเนปาลจำนวน 703 คน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นอกจากการรักษาโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเทคโนโลยี ที่ทันสมัยทัดเทียมกับประเทศไทย ตลอดจนดูแลรักษาจนกว่าคนไข้จะเดินได้ และกลับบ้านได้โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะแล้ว อีกด้านหนึ่งยังจะเป็นการถ่ายทอดความรู้แก่แพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่โรงพยาบาลสิทธัตถะ และโรงพยาบาลใกล้เคียง ในเรื่องความก้าวหน้าด้านการดูแลบาดเจ็บทางกระดูกสันหลัง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเนื้องอกกระดูก ผู้ป่วยบาดเจ็บเอ็นไขว้เข่าฉีกขาด ผู้ป่วยผิดรูปทางเด็ก ผู้ป่วยกระดูกหักรอบข้อสะโพก รวมถึงโรคที่พบบ่อยทางมือ ผ่านระบบ Online และ On-site เพื่อเตรียมพัฒนาต่อยอดการรักษาในอนาคตอีกด้วย แม้การเรียนรู้การถ่ายทอดอาจจะไม่ใช่วันเดียวที่เสร็จสิ้น แต่อย่างน้อยจะเป็นการจุดประกายในการพัฒนาด้านการรักษาพยาบาลทั้งโรคกระดูกและข้อและโรคอื่นๆ ในอนาคต 

Advertisement
ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประธานโครงการฯ
ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประธานโครงการฯ

“เราเคยได้รับเชิญจากนายกสมาคมออโธปิดิคส์ที่เนปาลไปบรรยาย ไปสอน และมีโอกาสได้ไปที่เมืองลุมพินี จึงเป็นที่มาของโครงการ เพื่อเป็นจุดตั้งต้น รวมทั้งให้ความรู้ โดยเราอยากช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับโอกาส และได้เริ่มเรียนรู้ ได้พัฒนาทางการแพทย์ เพราะประเทศเนปาล มีองค์ความรู้ด้านการผ่าตัดกระดูกและข้อต่างจากบ้านเราไม่ต่ำกว่า 20 ปี  โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ลำบากและขาดแคลนกว่าเรามาก”

“สังคมอาจถามว่าทำไมไม่รักษาคนไทยก่อน ในไทยเองเราก็ทำมาแล้วประมาณ 10 ปี รวมแล้วกว่า 20 ครั้ง ซึ่งในวันที่ 8 -10 กันยายนนี้ ก่อนไปเนปาลเราจะออกหน่วยที่หนองบัวลำภู โดยไปผ่าตัดรักษาคนไข้ 36 คน และเรายังทำสะพานบุญผ่าน “มูลนิธิศัลย์ฯ สร้างข้อต่อชีวิต” เพื่อช่วยเหลือสังคมอีกส่วนหนึ่ง โดยนำรายได้ไปมอบต่อให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ เพราะการผ่าตัดกระดูกและข้อในแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ส่วนที่เนปาล การเดินทางไปในครั้งนี้เราเห็นว่าจะได้ตอบแทนบุญคุณของพระพุทธองค์ เพราะที่นี่เป็นดินแดนประสูติของพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นผู้มอบคำสอนที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย พันธกิจในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการแสดงความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิดของพระพุทธเจ้า โดยมีมีศิษย์เก่าที่เคยมาเรียนที่ศิริราช ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นความรักอันยิ่งใหญ่ที่ทางศิริราชได้สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ด้วยการส่งความรักไปยังมวลมนุษยชาติ” ประธานโครงการบอกเล่าถึงที่มา 

การตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลสิทธัตถะ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล

Advertisement

”เราต้องเตรียมระบบให้พร้อมที่สุด ดีที่สุด ไม่ต่างจากประเทศไทย วัสดุอุปกรณ์เราต้องเตรียมไปเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล มีค่าใช้จ่ายสูง ระบียบต่างๆ ก็ลำบาก แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากส่วนโดยเฉพาะวัดไทยในลุมพินีที่ช่วยเหลือ และประสานงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งความไม่พร้อมหลายๆ ด้านเราก็ต้องไปเตรียมพร้อมทั้งหมด เพราะหากเทียบเปรียบกับประเทศไทยเทคโนโลยีทางการแพทย์ของเนปาลถือว่ายังตามหลังหลายสิบปี ในทุกขั้นตอนจึงต้องใช้ความละเอียด ทั้งในการคัดกรอง ดูแล ผ่าตัด หลังผ่าตัด รวมทั้งอุปสรรคในเรื่องของภาษาที่เราต้องใช้ผู้ช่วย อุปกรณ์ ไฟฟ้า การเตรียมแผนสำรอง ฯลฯ ซึ่งหลายๆ เรื่องที่ง่ายของเราจะเป็นเรื่องที่ยากของเขา เพราะระบบสาธารณสุขที่นั่นยังไม่สามารถรองรับการรักษาที่ทันสมัยได้  นอกจากนี้ การรักษายังมีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก ต้องการเทคโนโลยีสูง และความเชี่ยวชาญสูง 3 สิ่งนี้เป็นอุปสรรคที่ประชาชนเข้าไม่ถึง เพราะไม่มีสิทธิการรักษาเหมือนบ้านเรา ประชาชนที่จะเข้าถึงได้ต้องมีกำลังพอและต้องเดินทางไปรักษาในต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย เป็นต้น”  

รอยยิ้มของทีมแพทย์ชาวเนปาลที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชน
รอยยิ้มของทีมแพทย์ชาวเนปาลที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ยังได้กล่าวถึงโรคกระดูกและข้อในสังคมไทยว่า เรื่องกระดูกและข้อจะยังคงเป็นปัญหาในระบบสาธารณสุขของไทย เพราะเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยในประชากร 5 คน จะมีผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งหมายความว่าเมื่ออายุมากขึ้นจะมีปัญหาโรคกระดูกและข้อตามมา เมื่อประกอบกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนที่เป็นโรคนี้มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะวัยทำงานที่มักเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งสมัยก่อนแทบไม่มี ดังนั้นจึงต้องเตรียมผลิตแพทย์ทางกระดูกและข้อเพิ่มขึ้น แม้ในขณะนี้จะยังเพียงพอ เพราะทุกจังหวัดมีแพทย์ทางด้านนี้ครบ แต่ในอนาคตเมื่อมีผู้สูงอายุที่เข้ามาใช้บริการตรวจรักษามากขึ้น และถี่ขึ้น อาจทำให้ประเทศไทยในอีก 5 ปี ข้างหน้าประสบปัญหาเหล่านี้ได้เช่นกัน  

“ภาพรวมทั้งประเทศ เราผ่าตัดข้อเข่าได้ประมาณ 1 หมื่นกว่าข้อ และดีขึ้นเรื่อยๆ เราสร้างหมอได้ดีขึ้น เยอะขึ้น แต่ไม่ทันกับสังคมผู้สูงอายุ ภาวะเหล่านี้ก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในผู้ป่วยข้อเข่าข้อสะโพก มีประมาณ 30% ที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 6-7 หมื่นบาท อีก 70 % จะเป็นการตรวจรักษา โดยเฉลี่ยในการรอคิวเข้ารักษาด้วยการผ่าตัดข้อเข่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี เราจึงมีการออกหน่วย โดยเฉพาะในพื้นที่ชายขอบของประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ อยากให้คนไทยหันมาป้องกันโรคกระดูกและข้อในเชิงรุกมากกว่าจะเน้นที่การเน้นการรักษา ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ทันท่วงที”

ประธานโครงการก้าวแรกของพระบรมศาสดา ยังได้กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นผู้มอบความรักให้กับเพื่อนมนุษย์โดยไม่แบ่งชนชาติและชนชั้น เพราะทุกคนเท่าเทียม สามารถร่วมบริจาคได้ที่ บัญชีศิริราชมูลนิธิ ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 016-300049-4 หรือ บัญชีวัดป่าบ้านตาดเพื่อผู้ยากไร้และกระดูก ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 510-458808-1

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image