สังเกตอาการ ‘โรคหัวใจ’ 7 ประเภท ภัยเงียบ คร่าชีวิตคนไทย 7 หมื่นราย/ปี

สังเกตอาการ ‘โรคหัวใจ’ 7 ประเภท ภัยเงียบ คร่าชีวิตคนไทย  7 หมื่นราย/ปี

โรคหัวใจ’ เป็นโรคใกล้ตัวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และปัจจุบันมีแนวโน้มการเกิดโรคหัวใจในคนที่อายุน้อย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของคนไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบว่า การเสียชีวิตทั่วโลกมีสาเหตุสำคัญจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงร้อยละ 32 หรือประมาณ 17.9 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงปีละ 7 หมื่นราย 

‘นายแพทย์วิสุทธิ์ เกตุแก้ว’ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ความรู้ว่า “โรคหัวใจ หรือ Heart Disease ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหัวใจ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ สามารถวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงโดยแบ่งเป็น 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ อายุที่เพิ่มขึ้น เพศ เชื้อชาติ พันธุกรรม และประวัติครอบครัว และปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ อาทิ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว การออกกำลังกายไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ ตลอดจนการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

นายแพทย์วิสุทธิ์ เกตุแก้ว

ทั้งนี้ โรคหัวใจสามารถแบ่งออกได้หลายโรค ดังนี้

Advertisement

1.โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ Coronary Artery Disease สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome หรือ ACS) และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเรื้อรัง (Chronic Coronary Syndrome หรือ CCS) ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก บางรายมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับเจ็บร้าวไปยังกราม ลำคอ ปวดชาบริเวณแขนหรือขา รู้สึกไม่สบายเหมือนมีอะไรมากดทับบริเวณอก อ่อนเพลีย หายใจถี่ เหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หมดสติได้ และอาจเสียชีวิตได้

2.โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmias) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต หรืออาจมีอันตรายจนอาจเสียชีวิตได้ เช่น โรคไหลตาย (Brugada syndrome) หรือเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ความดันสูง ประวัติพันธุกรรม การใช้ยาบางชนิด โรคของต่อมไทรอยด์ รวมไปถึงโรคนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยจะรู้สึกหัวใจเต้นช้ากว่าปกติหรือเต้นเร็วและแรง ใจสั่น รู้สึกไม่สบายตัวหรือแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจถี่ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมหมดสติ

3.โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) เป็นความบกพร่องที่มีการพัฒนาของโครงสร้างหัวใจแบบผิดปกติหรือไม่สมบูรณ์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตลอดจนพฤติกรรมของมารดา อาทิ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ มักแสดงอาการผิดปกติได้ตั้งแต่เป็นทารก เช่น หายใจถี่ เหนื่อยง่ายขณะให้กินนม น้ำหนักตัวน้อย หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นช้า ในรายที่มีความผิดปกติรุนแรงอาจมีผิวหนังหรือริมฝีปากซีดหรือเขียว เหนื่อยง่ายระหว่างออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม มีอาการบวมตามมือ ข้อเท้า

Advertisement

4.โรคของลิ้นหัวใจ (Valvular Heart Diseases) เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจตั้งแต่เกิด ความเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้น หรือเกิดจากมีการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ โรคไข้รูมาติก โรคทางพันธุกรรม หากเป็นในระดับที่รุนแรงจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจถี่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ขาบวม เท้าบวม มีอาการน้ำท่วมปอด นอนราบไม่ได้ เป็นลมหมดสติ ซึ่งหากรุนแรงมากอาจทำให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้

5.โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiomyopathies) เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติที่ตัวกล้ามเนื้อหัวใจเองโดยตรง เช่น เกิดจากโรคหรือการติดเชื้อบางอย่าง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การตั้งครรภ์ การให้ยาเคมีบำบัด การใช้สารเสพติด และสาเหตุทางพันธุกรรม ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการแสดงชัดเจน จนกว่าจะเข้าสู่ระยะที่รุนแรงมากขึ้น ในรายที่อาการรุนแรงมักพบอาการ หายใจถี่ จะรู้สึกหายใจไม่อิ่มในเวลากลางคืน ต้องสะดุ้งตื่นหรือลุกขึ้นมาเพื่อนั่งหายใจในเวลากลางคืน เหนื่อยง่าย เวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม บวมบริเวณขา ข้อเท้า

6.ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย (Heart Failure) เป็นโรคที่การทำงานของหัวใจแย่ลง จนทำให้ไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ นำไปสู่การเสียชีวิต มักมีสาเหตุจากโรคของระบบอื่นๆ หรือโรคหัวใจอื่นๆ ที่รุนแรงจนทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน อาการที่พบได้ ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หายใจไม่ออกในเวลากลางคืน ต้องสะดุ้งตื่นหรือลุกขึ้นมาเพื่อนั่งหายใจในเวลากลางคืน เหนื่อยง่าย บวมตามขา ข้อเท้า หน้าท้อง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ไอแห้ง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง

7.โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardial Diseases) เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจหลังการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ หรือโรคมะเร็งบางชนิด อย่างไรก็ตามในบางกรณีก็ไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้แน่ชัด มักมีอาการเจ็บหน้าอก และจะมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อหายใจเข้าลึกๆ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก อ่อนเพลีย บวมบริเวณร่างกายส่วนล่าง บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย

อีกหนึ่งกรณีที่น่ากังวลของโรคหัวใจ คือ ภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไปตามชนิดของกลุ่มโรค โดยภาวะแทรกซ่อนที่สามารถพบบ่อย ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) โรคหลอดเลือดโป่งพอง (aneurysm) โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (peripheral arterial disease) ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (sudden cardiac arrest)

“ปัจจุบันแนวทางการรักษาโรคหัวใจสามารถทำได้หลายวิธีซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของโรคหัวใจแต่ละโรค ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้การรักษามากกว่า 1 วิธี ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยา การรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการ ตลอดจน การรักษาด้วยกายภาพและเวชศาสตร์ฟื้นฟู ทั้งนี้ แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจจะทำการพิจารณาและประเมินการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย” นายแพทย์วิสุทธิ์กล่าว

สำหรับการป้องกันโรคหัวใจสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงความเครียด เลือกรับประทานอาหารที่มีเกลือ และไขมันอิ่มตัวต่ำ ควบคุมความดันเลือด ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันให้อยู่ในค่าปกติ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้ง

ดังนั้นการดูแลตัวเอง การสังเกตอาการผิดปกติที่เข้าข่ายอาการของโรคหัวใจ การตรวจคัดกรองโรคหัวใจเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกัน และช่วยให้ตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งส่งผลให้การรักษาง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image