รู้จัก ‘โรคนอนเกิน’ ส่งผลร้ายต่อสมอง เสี่ยงเป็นซึมเศร้า?

รู้จัก ‘โรคนอนเกิน’ ส่งผลร้ายต่อสมองได้ เสี่ยงเป็นซึมเศร้า

นอนน้อยไปก็ไม่ดี ส่งผลเสียต่อสุขภาพ นอนมากเกินไปก็ไม่ดี หรือที่เรียกว่า “โรคนอนเกิน” ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นกัน พญ.บุษราลักษณ์ ธนวัฒนาเจริญ แพทย์ American Board of Anti-Aging Medicine จาก Addlife Anti-Aging Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) พามารู้จักโรคนี้กัน

โรคนอนเกิน (Hypersomnia) เป็นโรคที่หลับเกินพอดี หรือโรคขี้เซา ที่ยิ่งนอนมากเท่าไหร่ก็รู้สึกว่ายังไม่พอ และจะนอนหลับยาวนานเกิน 8 ชม.ขึ้นไป จะมีอาการดูเฉื่อยชา ไร้ชีวิตชีวา ทานน้อยแต่กลับอ้วนง่าย เพราะการนอนทำให้กระเพาะอาหารไม่ย่อย จึงเกิดเป็นตัวอาหารและไขมันสะสม นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดอาการโรคซึมเศร้าได้ง่ายถึง 49% ซึ่งถือว่ามากกว่าคนปกติ เป็นผลเสียระยะยาว ที่อาจทำให้เราคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ และมีอาการของโรคอื่นๆ ตามมา ดังนี้

1. ทำร้ายสมอง เพราะจะทำให้สมองเฉื่อยชา ส่งผลให้ทำอะไร และคิดอะไรเชื่องช้า กลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวาขยับตัวน้อยลง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้

Advertisement

2. อ้วนง่าย น้ำหนักเกินที่จะส่งผลให้เป็นโรคอื่นๆ ตามมาอีกมากมายทั้ง โรคหัวใจ, ความดัน, เบาหวาน เป็นต้น

3. กลายเป็นคนซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนง่าย ชีวิตไม่ค่อยมีความสุข ซึ่งในปี 2012 ได้มีการศึกษากับกลุ่มผู้หญิงสูงวัย โดยในคนที่นอนมากกว่าวันละ 9 ชม. และน้อยกว่าวันละ 5 ชม. สมองจะทำงานแย่ลงในระยะเวลา 2 ปี เพราะฮอร์โมนในร่างกาย และสารเคมี “ซีโรโทนิน” และ “เอนดอร์ฟิน” ที่เป็นสารแห่งความสุขลดต่ำลง

4. ภาวะมีบุตรยาก ได้มีการศึกษาจากผู้หญิงในเกาหลีใต้ เมื่อปี 2013 พบว่าผู้ที่นอนในระยะเวลา 7 – 8 ชม. ต่อวัน จะมีโอกาสติดลูกได้มากกว่า ผู้ที่นอนนานเกินวันละ 9 ชม. ฮอร์โมน และรอบเดือนจะเป็นปกติก็ต่อเมื่อได้รับการพักผ่อนที่พอดี

Advertisement

5. เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตเร็ว เมื่อปี 2010 ได้มีผลวิจัย 16 เรื่อง ที่ตรงกันว่าผู้ที่นอนนานเกินกว่า 9 ชม.ต่อวัน จะเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่นอน 7 – 8 ชม. ถึง 1.3 % เพราะผู้ที่นอนมากเกินไปจะหลับง่าย และใช้เวลานาน ทำให้ร่างกายไม่ค่อยได้ขยับ หรือออกกำลังกายใดๆ จึงไม่สามารถเพิ่มออกซิเจนแก่อวัยวะภายใน เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ง่าย

การนอนที่ดี และถูกต้องควรนอนอย่างไร

1.นอนให้อยู่ในช่วง 6 – 8 ชม. /วัน

2.อาบน้ำก่อนนอนทุกครั้ง

3.นอนเวลากลางคืนเท่านั้น หรือถ้านอนกลางวันก็ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง

4.ทำกิจวัตรทุกอย่างในชีวิต ให้เป็นระเบียบ ตรงเวลา และสม่ำเสมอ หรือเรียกว่า “นาฬิกาชีวิต” เมื่อทุกอย่างเป็นระเบียบ สุขภาพกาย-ใจจะดีขึ้นทันตาเห็น

5.ไม่ใช้ยานอนหลับ ในรายที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง ควรที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนด้วยตัวเอง จะได้ไม่เกิดอันตรายจากการดื้อยา จนต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้นเรื่อยๆ

หากยังมีปัญหาสุขภาพการนอนไม่หลับ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษาถูกวิธี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image