ระวัง! เปิด 5 เมนู อาหารตามใจปาก เสี่ยงเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

ระวัง! เปิด 5 เมนู อาหารตามใจปาก เสี่ยงเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

เชื่อหรือไม่ว่า คนไทย 10-20% ป่วยเป็นโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นเพราะดื่มน้ำน้อย แต่ที่จริงแล้ว การทานอาหารบางอย่าง ก็อาจส่งผลให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเช่นกัน

Mahidol Channel ได้เปิดเผย 5 อาหารตามใจปาก ที่เสี่ยงนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยว่า

“โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนไทยราว 10-20% หลายคนเชื่อว่าการดื่มน้ำน้อยเป็นสาเหตุให้เกิดโรคนี้ แต่ที่จริงแล้วการทานอาหารบางอย่างในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้เช่นกัน

Advertisement

อาการ
อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับขนาดของนิ่ว และตำแหน่งของนิ่วว่ามีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะหรือไม่ คนไข้จะมีอาการปวดในบริเวณที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งของนิ่ว เช่น ปวดหลังส่วนล่าง เมื่อนิ่วไปอุดที่บริเวณไต เพราะเป็นตำแหน่งของไต ปวดบิดบริเวณหลัง ร้าวลงหน้าขา หรือปวดบิดบริเวณหลัง ร้าวลงขาหนีบ หากมีนิ่วในท่อไต ปัสสาวะปนเลือด เมื่อมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

ปัจจัยเสี่ยง

มี 2 ประเภท ได้แก่ ปัจจัยภายใน คือ พันธุกรรม และปัจจัยภายนอก คือ พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในปริมาณมาก ได้แก่
– อาหารรสเค็ม หากบริโภคโซเดียมมากกว่า 2.3 กรัม/วัน เป็นประจำ
– เนื้อสัตว์ หากบริโภคมากกว่า 1.7 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน เนื่องจากเนื้อสัตว์มีสารพิวรีนมาก สารนี้จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกที่ก่อให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
– ผลไม้รสหวาน เช่น มะม่วง มะละกอ สับปะรด มีน้ำตาลฟรุกโตสในปริมาณสูง น้ำตาลฟรุกโตสจะเปลี่ยนเป็นกรดยูริก ก่อให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้
– น้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมสารให้ความหวาน มีน้ำตาลฟรุกโตสที่เปลี่ยนเป็นกรดยูริกที่ก่อให้เกิดนิ่ว
– กลุ่มอาหารที่มีออกซาเลตสูง เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต และผักสีเขียวเข้มบางชนิด เช่น ผักปวยเล้ง

การรักษา

การรักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะมีหลายวิธี ได้แก่
– การผ่าตัดส่องกล้อง เป็นวิธีที่นิยมใช้ โดยแพทย์จะส่องกล้องเข้าไปดูนิ่ว แล้วนำนิ่วก้อนนั้นออกมา
– การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ใช้เมื่อนิ่วมีขนาดไม่ใหญ่มาก เป็นการยิงทำลายนิ่วด้วยคลื่นเสียง ให้มีขนาดเล็กลงแล้วหลุดออกมาได้
– การผ่าตัดแบบเปิดแผล ใช้เมื่อนิ่วมีขนาดใหญ่ เช่น นิ่วที่เกิดจากการติดเชื้อบริเวณไตที่จะไม่หลุดออกมาเอง

Advertisement

การป้องกัน

– ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย สำหรับคนทั่วไปควรดื่มน้ำ 8-10 แก้ว หรือ 1.5-2 ลิตร/วัน ส่วนคนที่เคยเป็นโรคนิ่วควรดื่มน้ำ 2.5-3 ลิตร/วัน
– เลือกรับประทานอาหารที่ไม่เค็ม และไม่ทานเนื้อสัตว์มากเกินไป
– หมั่นสังเกตร่างกายตัวเอง หากพบสิ่งผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมีสีผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์

แม้นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะอาจเป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรมได้ แต่พฤติกรรมการรับประทานอาหารก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน ฉะนั้น การเพิ่มความระมัดระวังเรื่องอาหารการกินจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดนิ่วที่สามารถก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะลงได้อย่างมาก

อ้างอิง นพ.มาโนช รัตนสมปัตติกุล อายุรแพทย์โรคไต ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image