รู้จัก โรคกระดูกคอเสื่อม ภาวะเส้นเอ็นไหล่ เปื่อยยุ่ย อันตรายแค่ไหน เช็กปัจจัยเสี่ยง

รู้จัก โรคกระดูกคอเสื่อม ภาวะเส้นเอ็นไหล่เปื่อยจนฉีก อันตรายแค่ไหน เช็กปัจจัยเสี่ยง

นพ.สิทธิพงษ์ สุทธิอุดม ประสาทศัลยศาสตร์ ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน เขียนบทความ “กระดูกคอเสื่อมไม่ใช่เรื่องเล็ก อาการปวดคอระดับไหนอันตราย” ให้ข้อมูลไว้ว่า

โรคกระดูกคอเสื่อม เริ่มจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกซึ่งเกิดขึ้นแบบช้าๆ กินเวลาหลายปี ระหว่างนั้นจะมีอาการปวดคอ ต่อมาจะมีกระดูกงอก มีการหนาตัวของเส้นเอ็นซึ่งจะทำให้ช่องกระดูกสันหลังแคบลง และอาจไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวดคอร้าวลงแขน มักปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอย หรือลงมาบริเวณสะบัก และปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือออกแรง โดยภาวะกระดูกคอเสื่อมจะแสดงอาการมากน้อยแตกต่างไปในแต่ละบุคคล โดยมีปัจจัยต่างๆ ประกอบกัน เช่น น้ำหนักตัว พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ภาวะที่มีการสึกกร่อนและฉีกขาดของกระดูกสันหลังส่วนคอเอง เป็นต้น

อาการกระดูกคอเสื่อมระดับไหนอันตราย

Advertisement

โรคกระดูกคอเสื่อม หากมีอาการและปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้เกิดความรุนแรงของโรคและจะลุกลามจนกระทั่งเดินไม่ได้เลยทีเดียว โรคกระดูกคอเสื่อมแบ่งออกเป็น 3 ระดับอาการ ดังนี้

1.กระดูกคอเสื่อมแต่ไม่กดทับเส้นประสาทและไขสันหลัง จะมีอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ บ่าและไหล่
2.กระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทคอ จะมีอาการปวดร้าวไปตามบริเวณที่เส้นประสาทถูกกด อาการนี้มักจะเป็นๆ หายๆ แบบเรื้อรัง ร่วมกับอาการชาและอ่อนแรงบริเวณกล้ามเนื้อต้นแขนหรือมือ รวมทั้งปวดร้าวจากคอลงไปที่แขนท่อนล่าง จนถึงนิ้วโป้งและนิ้วชี้
3.กระดูกคอเสื่อมกดทับไขสันหลัง จะมีอาการปวดเกร็งบริเวณลำตัว แขนและขา ปวดหลังคอร้าวไปด้านหลังของไหล่ ไปหลังแขนตรงกล้ามเนื้อเหยียดแขน และอาจปวดร้าวไปถึงด้านหลังของแขนท่อนล่าง จนถึงนิ้วกลาง ก้าวขาได้สั้นลง การทรงและการใช้งานมือลำบาก

แล้วปวดคอแบบไหนควรรีบมาพบแพทย์ นพ.สิทธิพงษ์ เผยว่า ถึงแม้ว่าอาการปวดอาจต้องใช้เวลากว่าอาการจะทุเลาลง แต่บางครั้งก็อาจมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าควรรีบพบแพทย์ทันที ได้แก่

Advertisement

– อาการปวดไม่ทุเลาลงภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถทนได้จนรบกวนกิจวัตรประจำวัน (ลุก นั่ง ยืน เดิน)
– มีอาการปวดรุนแรง ปวดรุนแรงแบบฉับพลัน แบบไม่ปกติ
– อาการปวดไม่หายขาดมานานกว่า 3 เดือน
– อาการปวดคอร่วมกับ อาการปวดร้าวลงแขน แขนชาหรืออ่อนแรง
– มีปัญหาในการเดิน เช่น ทรงตัวได้ไม่ดี เดินลำบาก ขาเกร็งแข็ง
– มีปัญหาในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ

ส่วน การรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยเบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อและปรับกิจวัตรประจำวัน แต่หากอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก แพทย์อาจรักษาโดยใช้วิธีอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้ยา การทำกายภาพบำบัด การลดอาการปวดด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกคอ เพื่อป้องกันความเสียหายของเส้นประสาทอย่างถาวร ได้แก่

– การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ เป็นการผ่าตัดเพื่อคลายการกดทับของเส้นประสาทและไขสันหลังโดยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอเข้าหากัน แพทย์จะให้การรักษาด้วยวิธีนี้ในกรณีเมื่อมีการกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง หรือเมื่อมีอาการปวดเรื้อรังจากภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม

– การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมบริเวณคอ เป็นการผ่าตัดที่นำหมอนรองกระดูกบริเวณส่วนคอ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดออก และนำหมอนรองกระดูกเทียมใส่เข้าไปแทนที่ นอกจากนี้ศัลยแพทย์สามารถตัดกระดูกส่วนที่งอกออกมา และขยายพื้นที่บริเวณหมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งจะช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทและรากประสาท จะพิจารณาการผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดคอรุนแรงหรืออาการชา และ/หรือมีอาการอ่อนแรงอย่างชัดเจน

– การผ่าตัดกระดูกส่วนที่กดทับเส้นประสาทผ่านกล้องเอ็นโดสโคป เป็นการผ่าตัดนำเฉพาะกระดูกสันหลังส่วนคอ ส่วนที่มีการกดทับเส้นประสาทออกผ่านกล้องเอ็นโดสโคป โดยเปิดแผลขนาดเพียง 8 มิลลิเมตร ทำให้แผลผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอมีขนาดเล็กลงมาก ลดอาการบาดเจ็บ ลดระยะเวลาในการพักฟื้น สามารถคืนคุณภาพชีวิตเดิมให้ผู้ป่วยได้ในเร็ววัน

หากสงสัยว่าตนเองอาจมีภาวะกระดูกคอเสื่อม หรือมีอาการผิดปกติดังข้างต้น ควรรีบรับการวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ และหากพบว่าเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม จะได้วางแผนการรักษาอย่างถูกวิธี

ภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม

ขณะเดียวกันยังมี ภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม ที่ต้องจับตาไม่แพ้กัน ซึ่ง นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์/เวชศาสตร์การกีฬา ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน ได้ให้ข้อมูลไว้ผ่านบทความเรื่อง “ภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อยจนฉีกขาด ปล่อยเรื้อรังเสี่ยงข้อหัวไหล่เสื่อม” ไว้ว่า

เส้นเอ็นไหล่ คือ เส้นเอ็นขนาดเล็ก 4 เส้นที่อยู่บริเวณรอบข้อไหล่ โดยเส้นเอ็นกลุ่มนี้เป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากกล้ามเนื้อสะบักทอดผ่านข้อไหล่และยึดเกาะส่วนบนของกระดูกต้นแขน ทำหน้าที่ช่วยในการขยับไหล่ เช่น กางแขน ยกแขน หมุนไหล่ เป็นต้น

หากมีความปกติเกิดขึ้น หรือเกิดการอักเสบรอบนอกของข้อ ซึ่งมีเอ็น ปลอกเอ็น ถุงน้ำกันเสียดสีและกล้ามเนื้อและเอ็นหุ้มข้อเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อย จนฉีกขาดได้

สาเหตุภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม

1.เส้นเอ็นไหล่เสื่อมตามอายุการใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบในผู้สูงอายุที่เคยใช้งานข้อไหล่หนักมาก่อน
2.การใช้ข้อไหล่อย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อข้อไหล่ฉีกขาด
3.กระดูกงอกที่ข้อไหล่กดทับเส้นเอ็นไหล่
4.ภาวะหินปูนเกาะที่กระดูกคลุมหัวไหล่ หรือลักษณะของปุ่มกระดูกคลุมหัวไหล่กดจิกเส้นเอ็นไหล่ ทำให้เกิดการเสียดสี และเมื่อเกิดการเสียดสีบ่อยๆ ทำให้เนื้อเอ็นเกิดอาการเปื่อย เสื่อม จนฉีกขาดของเส้นเอ็นรอบข้อหัวไหล่ได้
5.เกิดจากคุณภาพของเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นไหล่ลดลง สาเหตุมาจากการสูบบุหรี่หรือโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งทำให้เอ็นหัวไหล่บาดเจ็บได้ง่าย แต่การสมานตัวเองหลังการบาดเจ็บทำได้ไม่ดี เกิดภาวะเสื่อม หรือฉีดขาดได้ง่าย

อาการเส้นเอ็นไหล่เสื่อม

– มีอาการปวดไหล่เป็นๆ หายๆ และอาจเรื้อรัง
– มีอาการปวดร้าวลงมาที่แขนหรือปวดตอนเวลากลางคืนร่วมด้วย
– มีอาการขัด ขยับไหล่ลำบากหรือบวมบริเวณไหล่
– อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้น อย่างช้าๆ
– มีอาการปวดเมื่อมีการใช้หัวไหล่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกไหล่เหนือศีรษะ
– อาการปวดทำให้การขยับข้อหัวไหล่ลดลง หรืออาจจะมีอาการอ่อนแรงยกไหล่ไม่ขึ้น ในรายที่มีเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อย จนฉีกขาดของเส้นเอ็นทั้งหมด อาจจะพบมีกล้ามเนื้อรอบๆ หัวไหล่และสะบักลีบเล็กลงได้

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม

แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้จากการซักถามอาการและการตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น กิจกรรมที่ทำก่อนจะมีอาการ ลักษณะของอาการปวด ความถี่และระยะเวลาที่เกิดอาการ โดยอาจไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษด้วยภาพถ่ายเอกซเรย์ ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีกระดูกงอกบริเวณใกล้เคียงกับเส้นเอ็นไหล่ หรือมีหินปูนเกาะไหล่ และทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างกับเส้นเอ็น

หรือสงสัยการมีโรคหรือภาวะอื่นๆ ของกระดูกและข้อไหล่ มีอาการปวดเรื้อรัง รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นข้อไหล่ร่วมด้วย ซึ่งอาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วยการตรวจภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image