“โหรฟองสนาน”ชี้ อาถรรพ์ดวงชะตาเมือง ย้ายหรือขยายเมืองหลวง

โหรฟองสนาม จามรจันทร์ โพสต์ข้อความระบุ แม่หมอสมัครเล่นตอนที่299 โดยฟองสนาน จามรจันทร์
ย้ายหรือขยายเมืองหลวง(ตอนที่สอง)กับอาถรรพ์ดวงชะตาเมือง

ดวงชะตาเมืองรัตนโกสินทร์
กำเนิดวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 เวลา 06.54 น.
มฤตยูจร(0)กำลังเดินอยู่ในราศีเมษระหว่าง 6 มีนาคม 2559 – 8 กรฎาคม 2565
มฤตยูจร(0)จะย้ายไปเดินอยู่ราศีพฤษภระหว่าง 8 กรกฎาคม 2565 – 18 กรกฎาคม 2572

“เมืองไทยหรือกรุงเทพฯเขาไม่ได้สร้างขึ้นมาบนหัวหลักหัวตอหรือตามทุ่งไร่ปลายนาที่ไม่มีความหมาย แต่มันเป็นชัยภูมิที่ถูกต้องตามตำราสร้างบ้านสร้างเมืองของคนโบราณที่ทำตามคัมภีร์ที่ชื่อคัมภีร์พระนครฐาน เขาจะรวบรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆมาฝังเป็นอาถรรพ์ไว้ จะมีการสวดมนต์และสาปแช่งอย่างหนักทั้งพุทธและพราหมณ์ เฉพาะกรุงเทพฯโบราณเขาว่าทั้งสี่ทิศของพระนครนี้จะมีอาถรรพ์ฝังไว้รอบ ศัตรูร้ายที่ไหนเข้ามาบ่อนทำลายมันจะต้องมลายทุกราย เพราะงั้นเมืองไทยถึงรอดมาได้….

ข้อความทั้งหมดนี้คัดมาจากหนังสือโหราศาสตร์ เศรษฐกิจและการเมือง เขียนโดยยอดธง ทับทิวไม้ครูโหรผู้ล่วงลับ หัวข้อการสร้างบ้านสร้างเมืองสมัยโบราณและกรุงเทพฯมหานคร ซึ่งผู้เขียนขอละเว้นเรื่องอาถรรพ์ทั้งหลายของเมืองรัตนโกสินทร์ตามข้อเขียนนี้ แต่จะพิจารณาถึงความขลังของดวงเมืองเพียงสถานเดียวในส่วนที่ครูโหรยอดธงบอกว่าเมืองไทยถึงรอดมาได้..และเป็นการรอดทุกสถานการณ์ความท้าทายดังนี้

Advertisement

ย้อนกลับไปขณะที่พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่หนึ่งแห่งราชวงศ์จักรีที่ทรงให้ย้ายเมืองหลวงจากธนบุรีมาสร้างที่ฝั่งพระนคร แล้วทรงให้คณะโหร-ชีพ่อพราหมณ์หาฤกษ์ลง-วางเสาหลักเมืองตามพระราชพิธีพระนครฐานอันเป็นวินาทีที่ดวงชะตาเมืองถือกำเนิด นั้นสยามอยู่ท่ามกลางความแตกแยกภายในและศึกใหญ่ พระเจ้าปดุงกำลังจะมา นั่นคือเมืองถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางความแตกแยกและภัยสงคราม

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีเรื่องเล่าที่อ่านพบในตำนานเรื่องเล่า “ศาลหลักเมือง” กรุงเทพมหานคร”ที่ตีพิมพ์ใน www.sanook. Com ว่า. เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯ ให้โหรผูกชะตาเมืองกรุงเทพฯ ที่(กำลัง)จะสร้างขึ้นใหม่นั้น โหรหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดวงเมือง 2 แบบคือดวงเมืองแบบหนึ่ง บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง ไม่มีเหตุวุ่นวาย แต่ทว่าจะต้องมีอยู่ระยะหนึ่ง ที่ประเทศไทย(สยาม)ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ส่วนอีกดวงเมืองหนึ่งนั้น ประเทศไทยจะมีแต่เรื่องยุ่งวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทว่าจะสามารถรักษาเอกราชได้ตลอดไป

ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเลือกดวงเมืองตามแบบหลัง เพราะพระองค์คงจะทรงเห็นว่าการที่จะต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นนั้น แม้บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองแค่ไหนก็ไม่ความหมายอันใด เมื่อสิ้นความเป็นไทย……

Advertisement

เรื่องเล่านี้จะจริงหรือไม่ผู้เขียนไม่อาจยืนยันได้ เพียงแต่มีผลอันมหัศจรรย์ที่ได้พิสูจน์ถึงการออกแบบชะตาเมืองตามทางเลือกที่สองตามตำนาน ณ.วินาทีที่เมืองถือกำเนิด(ถ้าเป็นคนเรียกเวลาตกฟาก)วันอาทิตย์ที่ 21เมษายน 2325 เวลา06.54น. ผูกดวงชะตาแล้วลัคนาสถิตราศีเมษ ธาตุไฟ(ดังรูป-เลขไทย)นั้นคือแม้วาสนาของเมืองจะยุ่งยากวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุดคล้ายๆคนไทยชอบทะเลาะกันเองเป็นอาทิ แต่ทุกคราวที่เกิดวิฤตการณ์ขนาดใหญ่แค่ไหนเมืองรัตนโกสินทร์ที่ออกแบบมาให้เข้มแข็งก็รอดปลอดภัยทุกครั้งแถมด้วยโอกาสดีๆที่จะตามมาคือ

1.สงครามเก้าทัพที่เกิดปี พ.ศ. 2328หลังวางเสาหนักเมืองไม่นาน พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่ายกทัพมาทุกทิศทางเพื่อโจมตีสยามขนาดกำลังพลมากกว่าสยามถึงสองเท่า เมื่อสู้กันถึงที่สุดแล้ว พระเจ้าปะดุงก็แพ้ภัยด้วยปัญหาภายในยกทัพกลับไปเอง และราชอาณาจักรสยามขยายเขตแดนไปกว้างไกลมาก

2.ต่อมาช่วงประเทศตะวันตกล่าเมืองขึ้นทุกประเทศแถบนี้สูญเสียเอกราชหมด มีเพียงสยามประเทศเดียวที่รักษาเอกราชไว้ได้สอดคล้องกับเรื่องเล่าในตำนานดวงเมืองแบบที่สอง แม้จะแลกกับการเสียดินแดนมากกว่าดินแดนของไทยในปัจจุบันแบบจำแขนขาด แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยมากมาย

3.สงครามมหาเอเชียบูรพาที่กองทัพญี่ปุ่นบุกไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ส่งกำลังพลเข้ารุกรานในหลายพื้นที่ชายทะเลของไทยได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร จนคนไทยต้องวิ่งหนีลูกระเบิดที่เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งใส่ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามไทยกลับพลิกเป็นฝ่ายชนะ

4.เมื่อกองทัพเวียดนามที่เข้มแข็งเป็นอันดับสามของโลกเพราะชนะสงครามกับสหรัฐอเมริกายกทัพประชิดชายแดนไทยช่วงพ.ศ. 2522 – 2532เพื่อรุกไล่กลุ่มชาวกัมพูชาที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามหลังพนมเปญแตก ตรงกับช่วงรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อเนื่องถึงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จนปะทะกับทหารไทยที่ชายแดนหลายครั้ง

ขณะนั้นกองทัพไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามแล้วนั้นเทียบกันไม่ติด แต่จู่ๆ 17 กุมภาพันธ์ 2522 กองทัพเวียดนามก็หายไปจากชายแดนไทยชั่วข้ามคืนเพื่อไปทำสงครามกับจีนที่เรียกกันว่าสงครามสั่งสอน

ส่วนสถานการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศเองนั้นแม้คนไทยบางส่วนจะจับอาวุธสู้กับอำนาจรัฐยาวนานแต่ในที่สุดก็ออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

6.วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี 2540 (ผู้เขียนอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบเพราะเป็นนักข่าวการเมืองของสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์) ที่ไทยเหมือนสูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อลุกขึ้นได้แล้ว ครั้นเมื่อเกิดวิฤตการณ์แฮมเบอร์เก้อร์ที่เริ่มปี 2550 คนไทยที่ได้ประสบการณ์ตั้งแต่ปี 2540 กลับได้ผลกระทบน้อย ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปจากบทเรียนในอดีตคือเรื่องเล่าตำนานวางเสาหลักเมืองกับทางเลือกที่สองของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ขลังอย่างไม่น่าเชื่ออันเป็นไปตามเรื่องเล่าดวงชะตาเมืองออกแบบมาในแบบวุ่นวายไม่เลิกแต่ก็เข้มแข็งมากกับการถูกท้าทายทุกรูปแบบให้รอดปลอดภัยแบบไม่น่าเชื่อและเมื่อฟันฝ่าวิกฤตขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบแล้วกลับมีโอกาสตามมาทุกครั้ง คล้ายๆที่ ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พูดจนติดสมองผู้เขียนทุกวันนี้ คือ ในวิกฤต ก็มีโอกาส

และการท้าทายเมือง-ชะตาเมืองนี้น่าจะรวมทั้งการจะลดความสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ลงด้วยการสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เมื่อมีความพยายามแล้วไม่ประสบความสำเร็จสักครั้งอย่างที่เห็นๆ คือ

1.ปี 2487 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คิดจะย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์ขนาดลงมือไปมากแล้วแต่มีอันแพ้มติในสภาย้ายไม่สำเร็จในที่สุด

2.สมัย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เคยคิดจะย้ายเมืองหลวงไปที่นครนายก

3.พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็เคยคิดที่จะย้ายเมืองหลวงไปที่ท่าตะเกียบ ฉะเชิงเทรา

ฉะนั้นแม้การมาถึงของมฤตยูจรรอบนี้(ระหว่างมีนาคม 2559-กรกฎาคม 2565) ถูกโฉลกกับการปฏิวัติ-วางแผนปฏิวัติใหญ่ในเมืองในระดับ“ครั้นเมื่อถึงเดือนกรกฎาคม 2565 แล้ว หากเรายืนอยู่ข้างกำแพงพระนคร เราจะถามตัวเองว่าเมืองรัตนโกสินทร์มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”ก็ยังต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ท้าทายสถานะของเมืองหลวงรัตนโกสินทร์

ดังนั้นทางเลือกที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอให้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติศึกษาคือย้าย หรือขยายเมืองหลวงนั้น ทางเลือกที่สองคือขยายเมืองหลวง แต่กรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯยังคงสถานะเดิมน่าจะถูกโฉลก

เพราะหากเอะอะโครมคราม-ซ่าส์-ท้าทาย ถึงขนาดย้ายเมืองหลวงแล้วเกรงว่าโครงการจะล่มเพราะอาถรรพ์ดวงเมือง

ตอนต่อไปจะว่าด้วยหลักโหรถึงความวุ่นวายแต่รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ทุกครั้งของกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมทั้งตอบคำถามว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงใหญ่ขนาดขยายเมืองหลวงออกไปแล้ว ดวงชะตาเดิมของเมืองรัตนโกสินทร์กระทบกระเทือนหรือไม่?

(ยังมีต่อ)

แม่หมอสมัครเล่นตอนที่299 โดยฟองสนาน จามรจันทร์ย้ายหรือขยายเมืองหลวง(ตอนที่สอง)กับอาถรรพ์ดวงชะตาเมือง …

โพสต์โดย Fongsanan Chamornchan เมื่อ วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2019

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image